แต่ที่ทำให้ Song 2 ถูกพูดถึงอย่างหนาหูแม้จะไม่ได้เป็นแฟนเพลงหรือไม่เคยได้ยินชื่อ Blur มาก่อน คือเมื่อมันไปปรากฏตัวอยู่ในมูฟวี่เปิดเกม FIFA: Road to World Cup 98 ที่วางจำหน่ายช่วงปลายปี 1997 และนับเป็นการอุ่นเครื่องก่อนงานฟุตบอลโลกจะจัดขึ้นในปีถัดไป กับอินโทรที่ใช้เพลงเปิดเป็น Song 2 ติดหูจนหลายคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนต้องไปควานหาว่าไอ้ "วู้ฮู่!" นี่มันคือเพลงอะไร ใครร้อง บวกกันกับตัวเกมที่มาล้ำกว่า FIFA ซีรีส์ก่อนๆ ด้วยภาพ 32 บิต (ซึ่งถือว่าเจ๋งแล้วในสมัยนั้น) โดยเฉพาะโหมด Road To The World Cup อันแสนครึกครื้นที่จำลองผังการเข้าชิงทั้ง 174 ทีม ผู้เล่นจากทั่วทุกมุมโลกจึงสามารถเลือกเล่นทีมใหญ่ๆ อย่างบราซิล หรือจะทีมเล็กอย่างมาเลเซีย, วานูอาตูก็ได้ทั้งนั้น กับฉากคัต-ซีนที่นักเตะไถลตัวลงกับพื้นหญ้า ตีลังกาเพื่อฉลองการทำประตู ตลอดจนโหมดอินดอร์ที่ให้ผู้เล่นคุมทีมย่อยจำนวนห้าคนได้ (สปอยล์ว่าในปี 98 EA Sports ก็ทำ FIFA World Cup 98 ออกมาขายอีกแผ่น คราวนี้เป็นเพลง tubthumping ของ Chumbawamba ซึ่งก็ดังระเบิดเช่นกัน) สำหรับแฟนชาวไทย FIFA 98 ยังชวนปลื้มสุดๆ เมื่อมันเป็นเกมฟุตบอลเกมแรกที่มีนักเตะทีมชาติไทยและใช้ชื่อจริงแบบครบทีม (เสียงผู้บรรยายภาษาอังกฤษพยายามออกเสียง ‘ดำรงค์อ่องตระกูล’ ได้ฟังสักครั้งก็จำไม่ลืม) มันจึงเป็นการจำลองภาพการไป ‘บอลโลก’ ของทีมชาติไทยในวิดิโอเกมเป็นครั้งแรกก็ว่าได้
ความเกรียงไกรของเกม FIFA ทำให้มันพาเอาเจ้าเพลงจากเกาะอังกฤษนี้ไปยังสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า ‘ตีแตก’ ได้ยากที่สุดสำหรับคนทำเพลงชาวอังกฤษ เพราะขณะที่เกือบทั้งโลกรู้จักเพลงบริตป๊อป ฟังเพลงของวง Blur, Oasis หรือ Pulp แต่พวกเขาก็ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคยในอเมริกา จนกล่าวได้ว่า เมื่อ FIFA พา Song 2 ไปยังสหรัฐฯ มันก็บุกเบิกให้คอเกมอเมริกันได้เปิดหูไปกับบริตป๊อปจากเกาะอังกฤษ และเป็นใบเบิกทางให้วงอื่นๆ ตีตลาดไปยังอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันด้วย
และในอีกหลายปีต่อมา Song 2 ก็ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อมันถูกรีมิกซ์ไปอยู่ใน FIFA 17 ภาคหมุดไมล์สำคัญของซีรีส์ที่ประเดิมโหมด The Journey การเดินทางบทแรกของ Alex Hunter โดยเวอร์ชั่นนี้ของเพลงวู้ฮู่ยังคงความดิบ แถมด้วยความไม่แยแสแบบต้นฉบับ บวกรวมกับเสียงสังเคราะห์อิเล็กทรอนิกส์ของเมเดียนที่ทำให้ชวนติดหูคนเล่นเจนใหม่ โดยค่าย EA หยิบมาใช้ในตัวอย่างเกมจนเด็กรุ่นหลังที่โตไม่ทันฟัง Blur ก็ต้องไปหาว่ามันเป็นเพลงของใคร ส่วนรุ่นโตที่ทันตั้งแต่สมัย 1997 ก็ได้หวนระลึกวันวานนยุคนั่งกำจอยมองภาพโพลีก้อนเป็นก้อน ๆ 32 บิต จนมันถูกพูดถึงอยู่เนืองๆ หลังเกมถูกปล่อยออกมา
ในโลกของดนตรี มีอยู่หลายต่อหลายเพลงที่หวนกลับมามีชีวิตอีกครั้งภายหลังจากถูกหยิบไปใช้เป็นส่วนผสมในโลกใบอื่นๆ ไม่ว่าจะภาพยนตร์หรืองานศิลป์ และเกมเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเกมกีฬาอย่าง FIFA, NBA เกมแนวดนตรีจ๋าอย่าง Guitar Hero, Rockband หรือแม้แต่เกมแข่งรถอย่าง Need For Speed, Forza เหล่านี้คือดินแดนต่างโลกที่เปิดโอกาสให้เพลงเหล่านี้หวนกลับมามีชีวิตที่สอง ที่สาม ได้อีก