23 ก.พ. 2021 เวลา 11:30 • ความคิดเห็น
“ไลฟ์สไตล์คำว่าไม่มีเวลาใช้อยู่บ่อยมาก ผมมีความรับผิดชอบเยอะขนาดนี้ ออกรายการเยอะขนาดนี้ ยังมีเวลาไปทำช่องยูทูปของตัวเองเลย ยังมีเวลาไปเจอลูกค้า ยังมีเวลาศึกษาหาความรู้ มีเวลาไปสอนหนังสือ มีเวลาไปวิ่ง ผมเอาเวลาจากไหนครับ คุณต้องถามตัวเองว่าคุณเอาเวลาไปไหน” คุณกวี ชูกิจเกษมกล่าวตอนเป็นแขกรับเชิญในรายการ The money growth
ชื่อบทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณว่าน ธนกฤต แต่อย่างใด (แต่ผมชอบ MV เพลงนี้มากน้ำตาไหลทุกที) เวลาคือสิ่งมีค่ามากสุดในชีวิต ซึ่งหลายคนยังใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งๆ ที่มีคนพร่ำสอนด้วยช่องทางที่​หลากหลาย​ ตั้งแต่เป็นการ์ตูน อย่างเรื่อง JoJo's Bizarre Adventure ของคุณฮิโรฮิโกะ อารากิ ก็ยังเขียนถึงศัตรูที่น่ากลัวให้มีความสามารถในการหยุดเวลาบ้าง สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตบ้าง ในชีวิตจริงเราไม่สามารถทำอะไรกับเวลาได้หรอกครับ มันจะผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีวันกลับ
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ รอนัดเพื่อนเป็นชั่วโมงๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรได้แต่เดินไปเดินมาอยู่ในห้าง งีบตอนกลางวันช่วงพักเที่ยงแล้วเรียกว่าคือการพักผ่อน จนปัจจุบัน เพิ่งตระหนักว่าผมเหลือเวลาทำงานอีกเพียง 20 ปี ที่ทำได้มีเพียงพยายามเตือนน้องๆ หรือคนสนิทอยู่เสมอ อย่าเป็นคนชั่งผลัด อย่างไว้ก่อนไว้ก่อน ยังไม่มีเวลา คนเราจะไม่ให้เวลากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรอก ตราบที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับมัน (เหมือนเพื่อนผมที่ให้รอเป็นชั่วโมง)
ยิ่งมาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยทบต้น ผมยิ่งเสียดายวันเวลาที่ผ่านมาไป เพราะดอกเบี้ยทบต้นยิ่งเวลามาก จำนวนมันจะยิ่งทวีคูณ จนบางท่านบอกแม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ยังกล่าวว่ามันคือสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ขณะที่ผมปล่อยให้ 10 ปีมันคือความว่างเปล่า “ถ้าย้อนเวลาได้ จะกลับไปทำอะไร” หลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจ ส่วนตัวผมคงไม่ขอย้อนเวลา แต่ขอเแทรกเวลาเพิ่มให้ผมสัก 10 ปีดีกว่า เพราะถึงผมย้อนกลับไปตอนนั้นด้วยวุฒิภาวะ ด้วยสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม ถ้าไม่มีตัวกระตุ้นก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (ทฤษฏีการข้ามเวลาแบบภาพยนตร์ Back to the future)
ในเมื่อเวลามีค่ามากขนาดนี้ เราจะบริหารจัดการมันยังไงให้คุ้มค่ามากที่สุด สมัยเรียนประถมเคยจัดกระเป๋าเรียนกันไหมครับ ตอนจัดเราจะใช้ตารางเรียนที่มีฝั่งหนึ่งเป็นวันอีกฝั่งเป็นเวลาแบ่งเป็นคาบๆ แต่ละคาบก็มีบอกว่าเรียนวิชาอะไร นั่นแหล่ะครับจุดเริ่มต้นของการบริหารเวลา เราจะรู้ล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้เราต้องทำอะไร ตอนช่วงเวลาไหนบ้าง เช่น เข้าเรียนแปดโมงครึ่ง พักกินข้าวตอนเที่ยง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้รู้จักกับคำว่า Timeboxing ซึ่งคือการวางแผนการทำงานล่วงหน้า โดยกำหนดเวลาที่แน่นอนในแต่ละงาน ครั้งแรกที่ผมเห็น มันคือตารางเรียนสมัยเราเรียนชัดๆ (ตารางนรก ฮา ฮา)
โฆษณา