24 ก.พ. 2021 เวลา 04:00 • สิ่งแวดล้อม
ORIGINAL: ผักผลไม้ตามฤดูกาลมีอะไรกันบ้างนะ แล้วการทานผักผลไม้ตามฤดู และตามท้องถิ่นมันดีกว่าอย่างไร?
ในขณะที่เดินเลือกหยิบผักผลไม้ในตลาดหรือซุปเปอร์ บ่อยครั้งที่หลาย ๆ คนมักจะคิด “เอาผักผลไม้นี้มาทำเป็นอะไรดีน้า” “ปรุงยังไงให้อร่อยดี” “ซื้อลำไยไปฝากยายดีกว่า” หรือไม่ก็ “ช่วงนี้ส้มหวานอร่อย ซื้อไปกินดีกว่า” ใช่มั้ยล่ะ พอเราตัดสินใจได้แล้ว เราก็หยิบลงตะกร้า และจ่ายเงิน โดยที่บ่อยครั้งเรามักจะลืมไปว่าที่มาที่ไปของผักผลไม้เหล่านี้เป็นอย่างไร
ที่มาที่ไปของผักผลไม้ในที่นี้หมายถึงฤดูกาลของผักผลไม้ (seasonal fruit and vegetables) ต่าง ๆ ในการเพาะปลูก แล้วการคิดถึงที่มาที่ไปของผักผลไม้นั้นดีอย่างไรล่ะ?
หลาย ๆ คนน่าจะรู้กันว่าจริง ๆ แล้วกินผักผลไม้ตามฤดูกาล เนี่ยมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้วโลกของเรามากเลยนะ แต่มีอะไรชนิดไหนบ้างนั้น เราได้เรียบเรียงตารางข้อมูลผักผลไม้แต่ละเดือนแบบคร่าว ๆ ไว้ให้ในรูป เซฟเก็บไว้ดูเวลาไปตลาดได้เลย :)
#ผักผลไม้ในฤดูกาลดีกว่าอย่างไร?
การกินผักผลไม้ตามฤดูนั้นทำให้เราได้รับคุณค่าทางโภชนาการได้มากกว่า เพราะการเพาะปลูกผักผลไม้นอกฤดูบางชนิดจะทำให้พืชผลของผลไม้เหล่านั้นเติบโตได้ไม่เต็มที่ถึงที่สุด ทำให้ได้ผลผลิตน้อย หรือไม่สามารถสุกได้ดีตามเวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยว มากไปกว่านั้น เพื่อที่จะให้ผักผลไม้นั้นมีผลผลิตเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี บางที่ก็มีวิธีการรักษาหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการใส่สารทำให้สุก การเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อรักษาผิวสี และกลิ่น หรือการใช้ความร้อนเพื่อชะลอความสุก และแน่นอน ผักผลไม้ที่ผ่านกระบวนการทั้งหลายมีคุณค่าทางโภชนาการ และความอร่อยที่ไม่เท่ากับผักผลไม้ที่เจริญเติบโตแบบธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย สังเกตมั้ยล่ะว่าช่วงนี้ส้มหวานอร่อยที่มาพร้อมกับราคาน่ารัก ๆ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูของส้มยังไงหล่ะ
#ผักผลไม้ที่เพาะปลูกตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่
การเรียกผักผลไม้ตามฤดูไม่ได้หมายถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของการเพาะปลูกอย่างเดียว แต่สามารถหมายถึงผักผลไม้ที่เพาะปลูกตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย
ผักผลไม้หลาย ๆ ชนิดนั้นมีเงื่อนไขในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน บางชนิดต้องเพาะปลูกในฤดูหนาว บางชนิดต้องปลูกฤดูร้อน ถึงแม้ว่าในประเทศไทยตอนนี้จะสามารถปลูกผักผลไม้เมืองหนาวได้หลากหลายชนิดแล้ว แต่ผักผลไม้เหล่านั้นก็ยังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ลูกพีชที่อร่อยจะเติบโตในที่อากาศเย็น ถึงแม้ว่าจะมีเชียงใหม่ และเชียงรายมีอากาศเย็นพอที่จะปลูกได้ แต่ลูกพีชที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ปลูกในอากาศที่หนาวกว่าจะมีรสชาติที่กลมกล่อม และอร่อยกว่า จึงได้มีการขนส่งนำเข้าลูกพีชจากที่อื่น
ซึ่งการขนส่งครั้งนึงเนี่ยมีจำนวน Carbon Footprint ที่มากมาย และอย่างที่ได้เขียนไปข้างบน การที่จะเก็บผักผลไม้ให้อยู่ได้นาน ๆ จะต้องนำผักผลไม้เหล่านั้นผ่านกระบวนต่าง ๆ มากมาย และที่เป็นอันรู้กันกระบวนการเหล่านั้นก็ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน หรือถ้าบอกตัวเลขเปอร์เซ็นต์ให้ชัดเจน ระบบของการผลิตอาหารตั้งแต่การปลูกจนถึงเราได้ปล่อยมลพิษเป็นจำนวน 20-30% ของมลพิษทั้งหมด
ลองนึกภาพตามกระบวนการต่าง ๆ ของผักผลไม้ที่กว่าจะมาถึงจานเราคร่าว ๆ ดูสิ
ปลูกสตรอเบอร์รี่ที่ญี่ปุ่นในจังหวัดหนึ่ง ---> ผ่านกระบวนการเก็บรักษาผลผลิต ---> นำบรรจุใส่รถเพื่อขับไปท่าเรือหรือสนามบิน ---> ทำการส่งเดินทางมาที่ไทย ---> นำขึ้นรถจากท่าเรือหรือสนามบินไปที่จุดกระจายสินค้า ---> กระจายสินค้าไปตามท้องตลาด
โอโหถือเป็นการสร้าง Carbon Footprint ที่มากมายเลยทีเดียวนะ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุก ๆ มุมโลกวันละหลายๆครั้ง
อย่างไรก็ตาม การเลือกกินผักผลไม้นั้นขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน การที่ไม่ได้กินผักผลไม้ตามฤดูกาล ไม่ใช่เรื่องผิดมหันต์ เพราะถ้าเราไม่ได้ชอบมังคุด แต่ซื้อมันมาเพราะอยากกินผลไม้ตามฤดูกาล และสุดท้ายกินไม่หมด นั่นก็อาจจะกลายเป็นขยะไปในที่สุด ทุกคนอาจจะต้องศึกษาถึงผลกระทบต่าง ๆ และเลือกวิธีที่เราจะสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเรา และดูแลสุขภาพของเราได้ในเวลาเดียวกันแบบที่เหมาะสมกับตนเอง
Writer: buras
Graphic Designer: Tae
โฆษณา