Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bik Investing
•
ติดตาม
24 ก.พ. 2021 เวลา 06:15 • ครอบครัว & เด็ก
บริหารเงินอย่างไรให้ถูกใจวัยเกษียณ :โดย ปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล นักวางแผนการเงิน CFP®
บริหารเงินอย่างไรให้ถูกใจวัยเกษียณ
สำหรับวัยเกษียณแล้วนั้น การให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์ และการลงทุน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะมีผลต่อช่วงชีวิตหลังเกษียณ เพราะหากมีการวางแผนการบริหารสินทรัพย์ที่ดีแล้ว จะช่วยให้ผู้เกษียณมีความสุขกับช่วงเวลาอิสระหลังเกษียณ ไม่ต้องกังวลเรื่องรายจ่ายมากนัก และมั่นใจได้ว่าจะมีเงินเพียงพอต่อรายจ่ายในอนาคต แต่กลับกันหากละเลย หรือบริหารได้ไม่ดีพอ ก็อาจจะทำให้ชีวิตหลังเกษียณไม่ราบรื่น และอาจจะพบเจอความลำบากในบั้นปลายของชีวิตได้เช่นกัน
การวางแผนบริหารสินทรัพย์หลังเกษียณ สามารถที่จะเริ่มได้จากการจัดทำรายละเอียดสินทรัพย์ ตรวจสอบสินทรัพย์ที่ตนเองถือครองอยู่ทั้งหมดก่อน ว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง ยอดรวมมูลค่าขณะนี้อยู่ที่เท่าไร เช่น ยอดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ยอดเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผลตอบแทน เงินคืนจากประกันชีวิตที่ฝากสะสมอยู่ที่บริษัทประกัน และยอดเงินบำเหน็จบำนาญที่ได้จากประกันสังคม เป็นต้น นอกจากนั้นอย่าลืมตรวจสอบ สภาพคล่อง และเงื่อนไขของสินทรัพย์แต่ละตัวนั้นเป็นอย่างไรบ้าง สามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายได้เมื่อไร เช่น เงินที่ลงทุนใน RMF นั้นนอกเหนือจากเงื่อนไขที่ว่าสามารถขายคืนได้หลังอายุ 55 ปีแล้ว ยังมีอีกเงื่อนไขคือ จะต้องถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย จึงจะสามารถขายคืนเพื่อนำเงินออกมาได้ เป็นต้น
หลังจากที่ได้จัดทำรายละเอียดมูลค่าสินทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่แล้ว ขั้นตอนถัดมาคือ การประมาณการ “รายจ่ายในอนาคต” โดยที่ “รายจ่ายในอนาคต” จัดเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกในการวางแผนบริหารสินทรัพย์สำหรับวัยเกษียณ โดยที่การวางแผนรายจ่าย ต้องไม่ลืมคิดคำนวนเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพราะเงินเฟ้อนั้นจะทำให้อำนาจการซื้อของเงินลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป เช่น ในวันนี้เงิน 500 บาท อาจจะซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท ได้ 10 ชาม แต่ถ้าเวลาผ่านไป 10 ปี ราคาก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามอาจจะขึ้นไปเป็นชามละ 75 บาท ทำให้สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้น้อยลงนั่นเอง
ถัดมาหลังจากที่มีการประมาณรายจ่ายเรียบร้อยแล้ว ผู้เกษียณควรกันเงินรายจ่ายในอนาคตสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้า รวมกับเงินสำรองฉุกเฉินยามเจ็บป่วย ไว้เป็นเงินลงทุนระยะสั้น โดยที่เงินส่วนนี้เหมาะกับสินทรัพย์การลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินต้น มีความผันผวนต่ำ โอกาสที่จะขาดทุนนั้นมีน้อย มีสภาพคล่องสูง ซึ่งได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยพิเศษปลอดภาษีสำหรับผู้สูงวัย และกองทุนตลาดเงิน เป็นต้น
ส่วนเงินที่เหลือนั้น สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝากขึ้นมาได้ แต่ทั้งนี้การลงทุนสำหรับวัยเกษียณนั้น ไม่เหมาะกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงความผันผวนสูงมากนัก ด้วยเหตุของการที่เป็นวัยที่ไม่มีรายรับเข้ามาแล้วนั้นเอง โดยที่สินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าเงินฝาก ที่วัยเกษียณควรพิจารณานั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินทรัพย์การลงทุนที่เน้นการสร้างการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนนั้นๆ และกลุ่มสินทรัพย์การลงทุนที่เน้นการสร้างกระแสเงินสด
กลุ่มสินทรัพย์การลงทุนที่เน้นการสร้างการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนจะช่วยให้เงินลงทุนของผู้เกีษยณนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ทำให้อำนาจการซื้อของเงินลงทุนในส่วนนี้ ไม่ลดน้อยลงตามเวลา โดยที่ตัวอย่างของสินทรัพย์ลงทุนกลุ่มนี้ ได้แก่ พันธบัตร กองทุนรวม ตราสารหนี้ หรือ กองทุนรวมแบบผสมที่มีการออกแบบมาสำหรับวัยเกษียณโดยเฉพาะ โดยที่จะมีอัตราส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน
ส่วนกลุ่มสินทรัพย์การลงทุนที่เน้นการสร้างกระแสเงินสดนั้น จะช่วยสร้างกระแสเงินสดจากการลงทุนออกมาในรูปของเงินปันผล ดอกเบี้ย เป็นต้น โดยที่กลุ่มสินทรัพย์นี้จะทำหน้าที่เสมือนการสร้างรายรับอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เกษียณ ทำให้ผู้เกษียณสามารถนำรายรับตรงนี้ไปจับจ่ายในชีวิตประจำวันได้นั่นเอง ตัวอย่าง ของกลุ่มสินทรัพย์กลุ่มนี้ คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สลากออมสิน ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ที่มีการจ่ายเงินคืนทุกปี เป็นต้น
ทั้งนี้ในการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นั้น ต้องไม่ลืมที่จะนำในส่วนของสิทธิทางภาษีมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น การลงทุนในเงินฝากประจำดอกเบี้ยพิเศษปลอดภาษีสำหรับผู้สูงวัย นอกจากจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไปแล้ว ยังได้รับสิทธิไม่ถูกหักภาษีด้วย หากว่าดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ภาษีหรือกองทุน โครงสร้างพื้นฐาน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียนจัดตั้งของกองทุน
จะเห็นได้ว่าสำหรับการลงทุนสำหรับวัยเกษียณนั้น ไม่ได้มีแค่เงินฝากออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสินทรัพย์ที่สามารถเลือกลงทุนได้อีกมากมายหลากหลาย ทั้งสินทรัพย์ที่ช่วยให้ชนะเงินเฟ้อได้ หรือสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดไว้สำหรับจับจ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรจะศึกษาถึงความเสี่ยงของสินทรัพย์นั้นๆ ว่าอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้หรือไม่ หรือหากผู้ลงทุนไม่เข้าใจในสินทรัพย์ที่ตนเองกำลังจะลงทุน การปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุน หรือนักวางแผนการเงิน จะช่วยให้ท่านลงทุนอย่างมั่นใจ และลดโอกาสที่จะถูกหลอกให้ลงทุนในการลงทุนที่เป็นการฉ้อโกงได้
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย