1 มี.ค. 2021 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มาเริ่มต้นทำความเข้าใจงบดุลแบบง่ายๆ กัน (Easy Balance Sheet) ครับ
2
บทความที่แล้วเราพูดถึงการวิเคราะห์ Business Model Canvas ที่เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) กันไปแล้วบทความนี้ขอมาพูดถึงเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายและเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) กันบ้าง ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่อง 'งบการเงิน' กันครับ
1
ทำไมต้องเข้าใจงบการเงิน คำตอบเพราะงบการเงินคือ ภาษาของธุรกิจ ถ้าอ่านงบการเงินไม่เป็นเราจะไม่เข้าใจธุรกิจเท่าที่ควร และการวิเคราะห์บริษัทและประเมินมูลค่าอาจจะทำได้ไม่แม่นยำพอ ซึ่งก็ส่งผลต่อการลงทุนของเราด้วย
งบการเงินแรกที่จะพูดถึง คือ งบดุล ครับ งบดุล หรืองบแสดงฐานะทางการเงิน เป็นงบการเงินที่แสดงถึงฐานะของบริษัท ว่าบริษัทมีสินทรัพย์อะไรบ้างและที่มาของสินทรัพย์มาจากแหล่งไหน ระหว่างเงินกู้ หรือเงินทุน
รูปที่ 1 แผนผังแสดงการไหลเวียนของสินทรัพย์และรายได้ ที่มา : บทความ ROE คือ อะไร? https://www.finnomena.com/investment-reader/roe/
จากรูป แสดงให้เห็นถึงการไหลเวียนของสินทรัพย์และรายได้ โดยเริ่มจากบริษัทมีเงินทุนซึ่งได้มาจาก ส่วนของทุน และอาจจะมาจากการก่อหนี้ด้วย (ดูรูปที่ 1 รูปบน นะ ครับ) บริษัทได้นำเงินทุนไปซื้อสินทรัพย์เพื่อมาประกอบกิจการ เช่น ซื้อเครื่องจักร สร้างอาคาร ซื้อวัตถุดิบมาผลิต สำหรับโรงงาน หรือ ก่อสร้างตึกและตบแต่งสำหรับห้างสรรพสินค้า และจากสินทรัพย์ที่มีก็จะนำไปดำเนินกิจการ เช่น ผลิตของขาย หรือให้ร้านค้ามาเช่าเพื่อดึงคนเข้ามาซื้อของ เป็นต้น
เมื่อได้รายได้จากการนำสินทรัพย์ไปใช้แล้วก็จะหักลบออกด้วยต้นทุนในการดำเนินการ ภาษี และดอกเบี้ย ได้ออกมาเป็นกำไรสุทธิ และกำไรส่วนที่เหลือจากการจ่ายเงินปันผลจะถูกสะสมกลับเข้าไปในสินทรัพย์อีกทีในรูปของกำไรสะสม ทำให้ฐานของสินทรัพย์มากขึ้น (ตามรูปที่ 1 รูปล่าง) และสามารถนำไปลงทุนหรือก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินทรัพย์เพื่อหารายได้ได้มากขึ้นทำให้กิจการเติบโตได้นี่คือวงจรในการเติบโตของธุรกิจจากการมองในแง่สินทรัพย์และรายได้ เอาล่ะต่อไปเรามาดูรายละเอียดของงบดุลกัน ครับ
2
รูปที่ 2 ส่วนประกอบของงบดุล
งบดุลประกอบด้วย 2 ด้าน (ตามรูปที่ 2) คือ ด้านขวาคือแหล่งที่มาของเงินทุน ประกอบด้วย หนี้สิน และส่วนของทุน (ส่วนนี้เรียกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเงินทุนจากเจ้าของกิจการ) และด้านซ้ายคือสินทรัพย์ซึ่งได้มาจากเงินทุนในฝั่งขวา (หนี้และส่วนของผู้ถือหุ้น) ส่วนประกอบของแต่ละส่วนมีอะไรบ้างมาดูกันเลยครับ
1) ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder Equity หรือ Book Value, BV*) ประกอบด้วย
* BV คือค่าที่ใช้คำนวณ Price per Book Value, PBV นั่นล่ะ ครับ
1.1) ทุนจดทะเบียน (Common Stock) คือ เงินทุนที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใส่เข้ามาตอนระดมทุน โดยส่วนทุนจดทะเบียนจะประกอบด้วยราคาพาร์ (Par Value) และจำนวนหุ้นจดทะเบียน ทุนจดทะเบียน = ราคาพาร์ x จำนวนหุ้นจดทะเบียน
1
1.2) ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือ ส่วนเกินจากทุนจดทะเบียนในตอนขาย IPO เช่น ทุนจดทะเบียน 1000 ล้านบาท แต่ว่าขายหุ้น IPO ได้ 1200 ล้านบาท ส่วนเกินมูลค่าหุ้นก็คือ 200 ล้านบาท ครับ ส่วนนี้ถ้าขายหุ้นได้น้อยกว่าราคาพาร์อาจจะกลายเป็นส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นก็ได้ครับ
1.3) กำไรสะสม (Retain Earning) คือ กำไรในแต่ละปีหลังจากจ่ายปันผลแล้วส่วนที่เหลือจะสะสมเข้ามาที่ส่วนของผู้ถือหุ้น เช่น บริษัทมีกำไร 200 ล้านบาท และจ่ายปันผล 40 ล้านบาท เหลือกำไรสะสมหลังจากจ่ายปันผล 160 ล้านบาทก็จะถูกบวกกลับเข้ามาที่ส่วนของผู้ถือหุ้นในรูปกำไรสะสม 160 ล้านบาท กำไรสะสมจะสะสมมากขึ้นได้เรื่อยๆ จากการที่บริษัทมีกำไรต่อเนื่องยาวนาน แต่ก็ติดลบได้ถ้าบริษัทขาดทุนติดต่อกัน ดังนั้นกำไรสะสมที่มากและเป็นบวกก็จะแสดงว่าบริษัทมีผลประกอบการในอดีตที่ดีครับ
ส่วนของผู้ถือหุ้นจะมากขึ้นได้หลักๆ มากจากกำไรสะสมนี่ล่ะครับ ถ้าบริษัทมีกำไรต่อเนื่องหลายปี ก็จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมากขึ้นได้เรื่อยๆ และเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นมากขึ้นก็จะส่งผลให้บริษัทดูมีฐานะดีขึ้นและจะสามารถกู้เงินจากเจ้าหนี้ได้มากขึ้นด้วย เพราะเจ้าหนี้ถือว่าบริษัทมีฐานะการเงินดี และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ประกอบการปล่อยกู้ตัวนึงคือ D/E Ratio ซึ่ง D/E = หนี้สิน / ส่วนของผู้ถือหุ้น
2
ถ้า D/E ยิ่งมีค่าน้อยก็จะสามารถกู้เงินได้ง่ายและมากกว่า D/E มากๆ ส่งผลให้ถ้าต้องขยายกิจการโดยการกู้เงินก็สามารถทำได้มากกว่าด้วย ครับ
ทำให้ตอนนี้ บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นตามรูปด้านล่างนี้
2) หนี้สิน คือ เงินทุนที่ได้มาจากเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารปล่อยกู้ให้ หรือบริษัทออกหุ้นกู้เพื่อกู้ยืมจากประชาชนทั่วไป เป็นต้น โดยหนี้สินนั้นมี 2 ส่วนด้วยกันคืน
2.1) หนี้สินหมุนเวียน (Current Liability) ด้านล่างเป็นแค่ตัวอย่างที่พบบ่อยนะครับ เพราะที่จริงแล้วมีมากกว่านี้
- เจ้าหนี้การค้า (Trade – Accounts Payable) คือ การเป็นหนี้จากการที่เรารับสินค้าหรือวัตถุดิบในการผลิตมาก่อนแล้วยังไม่ได้จ่ายเงินกับผู้ขาย (Supplier) เพราะเป็นการขายแบบเงินเชื่อ (Credit Sale) แต่ว่าเมื่อครบกำหนดเราก็ต้องนำเงินไปจ่ายให้ผู้ขาย เช่น 3-4 เดือน ส่วนนี้จะมีผลต่อสภาพคล่องของกิจการซึ่งเราจะอธิบายต่อไปในเรื่องวงจรเงินสดครับ
- เงินเบิกเกิบบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (Overdraft) ส่วนนี้คือ เงินกู้ยืมระยะสั้นที่กิจการกู้มาเป็นสภาพคล่องแก่กิจการ ซึ่งกิจการบางส่วนก็ต้องการใช้สภาพคล่องส่วนนี้ครับ
- หนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี คือ ส่วนของเงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนเงินต้นในปีนี้ก็จะจัดอยู่ในส่วนนี้ เช่น บริษัทมีเงินกู้ 1000 ล้าน และจะมีเงินกู้ที่ครบกำหนดต้องจ่ายคืนปีนี้ 100 ล้านบาท 100 ล้านบาทนี้จะลงบัญชีเป็นหนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ครับ
- หนี้สินหมุนเวียนอื่น เช่น ภาษีเงินได้ค้างจ่าย เป็นต้น
1
2.2) หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liability)
- หนี้สินระยะยาว (Long term Liability) คือ หนี้เงินกู้ธนาคาร หรือหนี้จากการออกตราสารหนี้ เป็นต้น ส่วนมากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นิยมระดมเงินทุนด้วยตราสารหนี้เพราะว่ามีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าการกู้ธนาคารครับ หนี้ในส่วนนี้จะลดลงเมื่อมีการทยอยจ่ายคืนเงินต้น ถ้าบริษัทไม่มีการก่อหนี้เพิ่มหนี้ส่วนนี้ก็จะหมดไปในที่สุด แต่ส่วนมากบริษัทแบบนี้มักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในสถานะที่เติบโตเต็มที่แล้ว (Maturity Stage)
- หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น (Other Non-Current Liability)
3) สินทรัพย์ คือ สิ่งที่กิจการใช้ในการดำเนินการ มี หลักๆ 2 ส่วน คือ
3.1) สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset)
- เงินสด (Cash and Cash Equivalents) คือเงินสดที่บริษัทมีอยู่ที่บริษัทและในบัญชีธนาคาร และรายการเทียบเท่าเงินสด เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้นอายุครบกำหนดไม่เกิน 3 เดือน ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย มีสภาพคล่องสูง
- ลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable) คือ หนี้ที่เกิดจากการที่เราขายสินค้าเป็นเงินเชื่อให้ลูกค้าที่ลูกค้ารับสินค้าไปก่อนแต่ยังไม่จ่ายเงินแก่เรา เราจะให้ระยะเวลาชำระ (Credit Term) แก่ลูกค้าและเมื่อถึงกำหนดลูกค้าต้องจ่ายเงินให้เราส่วนนี้ใช้พิจารณาร่วมกับ เจ้าหนี้การค้า (เพื่อคำนวณระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย) และระยะเวลาในการขายสินค้าเฉลี่ย เพื่อคำนวณ วงจรเงินสดครับ
- สินค้าคงเหลือ (Inventory) คือ สินค้าที่ผลิตหรือซื้อมาเพื่อขาย กรณีเป็นการผลิต สินค้าคงเหลือจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ วัตถุดิบ งานระหว่างทำ (Work In Process ,WIP) และสินค้าสำเร็จรูป (Finish Goods) ซึ่งสินค้าคงเหลือนี้สามารถเปลี่ยนสถานะไปเป็นต้นทุนขายได้เมื่อ เราขายสินค้าได้และรับรู้รายได้แล้ว
- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ
3.2) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Current Asset)
- ที่ดิน (Land) คือ มูลค่าของที่ดินของบริษัทซึ่งไม่ต้องตัดค่าเสื่อมราคา
- อาคาร (ฺBuilding) มูลค่าการก่อสร้างอาคารของบริษัทซึ่งต้องตัดค่าเสื่อมราคา
- อุปกรณ์ (Equipment) คือมูลค่าของเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินกิจการซึ่งต้องตัดค่าเสื่อมราคาเช่นกัน
- ค่าความนิยม คือ มูลค่าที่บันทึกเมื่อกิจการไปซื้อธุรกิจอื่นที่ราคามากกว่ามูลค่าตามบัญชี ส่วนนี้ไม่ต้องตัดค่าเสื่อมราคาแต่ว่าจะมีการประเมินด้อยค่า (Impairments) เป็นระยะๆ ครับ
*ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (Property, Plant, and Equipmen) มักเรียกรวมกันว่า PPE ซึ่งการตัดค่าเสื่อมราคาคือการทยอยรับรู้ว่า PPE ต้องมีการทดแทนการใช้งานในวันใดวันหนึ่ง
ปกติแหล่งเงินทุนมีทั้งระยะสั้นและระยะยาวการใช้เงินลงทุนมาซื้อหรือสร้างสินทรัพย์ก็ควรสอดคล้องกับแหล่งที่มาของเงินด้วย เช่น เงินกู้ระยะยาวควรนำมาลงทุนใน PPE เงินกู้ระยะสั้นควรนำมาใช้ซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น
ทั้งนี้เพราะสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมักจะใช้เวลาในการให้ผลตอบแทนกลับคืนนาน ต่างกับสินทรัพย์หมุนเวียนที่ให้ผลตอบแทนคืนมาได้เร็วกว่า ไม่งั้นจะเกิดปัญหาการใช้เงินทุนผิดประเภท (Mismatching Fund)* ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจในระยะยาวครับ
จบแล้ว ครับ กับงบการเงินงบแรกเข้าใจไม่ยากไปใช่ไหม ครับ บทความหน้าเราจะมารู้จักกับงบกำไรขาดทุนกันนะ ครับ
*สามารถอ่านเรื่องการคำนวณการใช้เงินถูกประเภทไหมคร่าวๆได้จากหนังสือคัมภีร์วิเคราะห์งบการเงิน (หนังสือ ชุด ครบเครื่องเรื่องลงทุน ของตลาดหลักทรัพย์)
อ้างอิง
- หนังสือคัมภีร์วิเคราะห์งบการเงิน (หนังสือ ชุด ครบเครื่องเรื่องลงทุน ของตลาดหลักทรัพย์)
- หนังสืออ่านงบการเงินให้เป็น (ดร. ภาพร เอกอรรถพร)
- หนังสือ การวิเคราะห์งบการเงิน (หนังสืออ่านสอบหลักสูตร CISA 1)
- แหล่งความรู้อื่นๆ เช่น เว็บไซต์ของ Mr. Like Stock และเว็บไซต์ทางการบัญชีทั่วไปที่ค้นหาข้อมูลได้ไม่ยากครับ
2
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
1
โฆษณา