8 มี.ค. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
ดูได้อย่างไรว่าบริษัทใช้เงินอย่างไรจาก งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
บทความก่อนหน้านี้ 2 บทความเราได้พูดถึงงบดุล และงบกำไรขาดทุนกันไปแล้ว มาถึงงบการเงินสุดท้าย คือ งบกระแสเงินสดกันแล้วครับ งบกระแสเงินสดนั้นจัดทำมาจากงบดุลและงบกำไรขาดทุนโดยนำรายการในแต่ละงบมาจัดเรียงและคำนวณออกมาใหม่ ซึ่งงบกระแสเงินสดนี้เป็นงบที่เราควรจะอ่านมากเพราะว่านอกจะเป็นงบที่ตบแต่งยากแล้วยังช่วยสะท้อนภาพการหมุนเวียนของเงินในกิจการอีกด้วย
1
งบกระแสเงินสดจะจัดทำตามเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ต่างกับงบกำไรขาดทุนที่จัดทำด้วยเกษณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) ซึ่งตามเกณฑ์เงินสดนี้จะบอกถึงเงินสดที่ หมุนเวียน เข้า - ออก จากกิจการจริง ต่างจากเกณฑ์คงค้างที่อาจจะมีการรับรู้ตามกิจกรรมต่างๆ เช่น รับรู้รายได้และต้นทุนเมื่อขายสินค้าได้ หรือ รับรู้รายได้ตามส่วนของงานที่ทำสำเร็จ (Percentage of Completion) แต่ไม่ใช่เงินสดจริงที่กิจการได้รับมาหรือจ่ายออกไป
มาเริ่มจากการทำความรู้จักงบย่อย 3 งบในงบกระแสเงินสดกันก่อน โดย 3 งบนั้นได้แก่
1. งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operation Activities, CFO)
2.งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cash Flow from Investing Activities, CFI)
3.งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities, CFF)
2
โดยรายละเอียดของแต่ละงบมีดังนี้นะครับ
1) งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operation Activities; CFO)
CFO คือ งบที่จะบอกเราว่าบริษัทมีเงินจากการทำมาหาได้เท่าไหร่ โดยงบนี้จะจัดทำจากงบกำไรขาดทุนและงบดุล ซึ่งในวิธีทางบัญชีจะมีการจัดทำงบกระแสเงินสดด้วยวิธี ทางตรง และทางอ้อมนะครับ แต่ว่าในบทความนี้อาจจะไม่ได้กล่าวถึงวิธีจัดทำ แต่จะบอกถึงแนวคิดในการจัดทำจากสมการด้านล่างนี้แทนครับ
1
CFO = NP + nci - cwc
ซึ่ง
- NP คือ กำไรสุทธิ (Net Profit)
- nci (non cash item) คือ รายการที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา กำไรจากเงินลงทุนทางบัญชี
- cwc คือ การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน คำนวณจาก cwc = wc2 -wc1
2
โดย wc 1 คือ เงินทุนหมุนเวียนของปีที่แล้ว (งวดที่แล้ว)
wc 2 คือ เงินทุนหมุนเวียนของปีนี้ (งวดนี้)
wc (Working Capital) คือ สินทรัพย์หมุนเวียน (ca, Current Asset) ลบด้วย หนี้สินหมุนเวียน (Cl, Current liability) ถ้าจะอธิบาย คือ
- งบกระแสเงินสดนั้นบอกว่ากิจการเราดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินรายได้จากการดำเนินงานหลังจากหักกลบลบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ แล้วเหลือเท่าไหร่ ซึ่ง รายได้ลบด้วยต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการ (COGS) กับค่าใช้จ่ายทางการขายและบริหาร (Sg&A) ดอกเบี้ยและภาษี แล้วก็คือ กำไรสุทธิ (NP) นั่นเอง
- แต่ว่าเราต้องการกระแสเงินสด จึงต้องปรับรายการที่ไม่ได้เป็นเงินสดจริงออกด้วย nci ซึ่งหลักๆ คือ ค่าเสื่อมราคาที่เราไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินออกไปจริงๆ แต่ต้องรับรู้เป็นต้นทุน ใน งบกำไรขาดทุน เราจึงทำการบวกกลับ ค่าเสื่อมราคากลับเข้ามาที่กำไรสุทธิ รวมถึงรายการอื่น ที่อาจจะไม่ได้จ่ายเงินไปจริงๆ ก็บวกกลับเข้ามา หรือ รายการที่มีการจ่ายเงินไปแล้วจริงแต่ไม่มีรายการในงบกำไรขาดทุนไว้ก็ลบออก ทำให้ตอนนี้เราได้กำไรเป็นเงินสดจริงๆ แล้ว
1
- แต่ว่าเงินสดบางส่วนก็ต้องใช้หมุนเวียนในกิจการ เช่น การซื้อสินค้ามาสต็อกไว้รอขาย การตั้งรายการที่รอรับรู้รายได้ในอนาคต เช่น ลูกหนี้การค้าไว้เป็นทรัพย์สิน หรือ การตั้งรายการเจ้าหนี้การค้า หรือภาษีค้างจ่ายไว้เป็นหนี้สิน เป็นต้น โดยในส่วนนี้ เราจะถือว่ารายการที่ได้รับทรัพย์สินเข้ามากระแสเงินสดจะลดลง เพราะว่าเราเสียเงินไปเพื่อได้รับทรัพย์สินมาจะลบกระแสเงินสดออกเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่ม แต่ถ้าสินทรัพย์ลดจะถือเสมือนว่าขายสินค้าออกไปและได้เงินมาเพิ่ม ส่วนรายการที่เป็นหนี้สิน ถ้าเพิ่มขึ้นจะเป็นรายการบวกเพราะการก่อหนี้ทำให้เราได้มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นจากการกู้ ส่วนเวลาหนี้ลดลงจะเป็นรายการลบ เพราะว่าเอาเงินสดไปจ่ายหนี้นั่นเอง สรุปง่ายๆ ตามตารางด้านล่างนะครับ
1
ตารางที 1 แสดงการคำนวณกระแสเงินสดเพิ่ม ลด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน ทรัพย์สิน หนี้สิน และตัวอย่างการคำนวณส่วนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (cwc)
ตามตารางที่ 1 จะเป็นการคำนวณตามวิธีทางบัญชีแต่ว่าถ้าจะคำนวณแบบตามสมการที่เขียนไว้ตอนต้น ก็อาจจะคำนวณได้ตามนี้
cwc = wc2 - wc1
= (ca2-cl2) - (ca1-cl1)
= (150 + 25 - 35) - (100 + 30 - 25) = 35
ซึ่ง ตัวเลข 35 ตามสมการต้องนำไปลบก็จะเท่ากับ -35 ในแถวสุดท้ายของตารางตัวอย่างพอดีครับ
2) งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cash Flow from Investing Activities ; CFI) คือ กระแสเงินสดที่ทำให้ได้มาหรือจำหน่ายออกไปของสินทรัพย์นั่นเอง ถ้าสินทรัพย์เพิ่มเหมือนว่าเราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินทรัพย์รายการในงบจะเป็นลบ ส่วนถ้าขายสินทรัพย์แปลว่าเราได้เงินมารายการในงบจะเป็นบวก
1
ซึ่งสินทรัพย์ ได้แก่ สิ่งที่เรามีเพื่อใช้ดำเนินงาน เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ (เก้าอี้ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น) หรือแม้แต่ Software ต่างๆ ก็นับเป็นสินทรัพย์เหมือนกัน ตามลิงก์ที่แนบมา (https://www.set.or.th/set/companyfinance.do?type=cashflow&symbol=AU&language=th&cou
ntry=TH)
1
ถ้า After You ขยายสาขาก็ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งคือการสร้างร้านสาขา เท่ากับ 40.11 ล้านบาท (สังเกตว่าเครื่องหมายในงบจะเป็นลบ) ซึ่งส่วนนี้คือ CAPEX หรือ Capital Expenditure ที่เรานำมาใช้สำหรับคำนวณมูลค่าหุ้น ตามวิธี DCF นั่นเอง จริงๆ แล้วสินทรัพย์นอกจากเป็นสิ่งที่มีตัวตนแล้วยังอาจจะเป็นตราสารที่ถือไว้เพื่อลงทุนก็ได้ ส่วนนี้จะเรียกว่าเงินลงทุนระยะยาว ในกรณีของ After You จะเห็นว่า มีการขายหุ้นกู้ที่ถือไว้ ทำให้ได้เงินมา 406.35 ล้านบาท ส่วนนี้อาจจะเพราะ After You มีกระแสเงินสดดี จึงแบ่งบางส่วนไปลงทุนเพื่อไว้รับผลตอบแทนและขายออกมาเมื่อต้องการเงินมาใช้ก็ได้ครับ
ตรงนี้หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบแต่ว่า ถ้ากิจการไม่ได้มีกิจกรรมหลักเป็นการให้กู้ยืมเงิน อย่างธนาคารหรือบริษัท Finance แล้วให้บุคคลอื่นหรือกิจการกู้ยืมเงิน รายการการกู้ยืมจะอยู่ในงบนี้ เวลาให้กู้เงินรายการจะเป็นลบส่วนเวลาได้เงินต้นคืนรายการจะเป็นบวกครับ
รูปที่ 1 งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนของบริษัท After You
3) งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities ; CFF) คือ งบกระแสเงินสดที่แสดงถึง การจัดหาเงินมาเพื่อใช้ในกิจการ เช่น การออกหุ้นกู้ การกู้เงินจากธนาคาร การออกหุ้นเพิ่มทุน ตรงนี้รายการจะเป็นบวกสะท้อนถึงกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมหรือขายหุ้นเพิ่มทุนได้ และการจ่ายเงินออกไป เช่น การจ่ายเงินปันผล การจ่ายคืนเงินต้นหนี้เงินกู้ หรือ ตราสารหนี้ (อันนี้จะสังเกตว่า ดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่ใช่ในงบนี้นะครับ) การซื้อหุ้นคืน ตรงนี้แสดงเป็นลบสะท้อนว่ากระแสเงินสดลดลง
รูปที่ 2 การคำนวณการเปลี่ยนแปลงเงินสดสุทธิในงวดนั้นของ After You
และเมื่อเรานำรายการเงินสดสุทธิของงบกระแสเงินสดย่อย 3 งบมาบวกกัน จะได้เป็นการเปลี่ยนแปลงของเงินสดในปีนั้น เมื่อนำยอดนี้ไปบวกกับเงินสดคงเหลืองวดก่อนจะได้เงินสดปลายงวดนี้ครับ (จริงๆ งบการเงินแต่ละงบจะมีรายการเคลื่อนไหวจากงบหนึ่งไปอีกงบหนึ่ง ถ้าฝึกอ่านจนเป็นแล้วการอ่านงบการเงินจะทำให้เข้าใจตัวธุรกิจมากขึ้นเยอะครับ)
นอกจากนี้งบกระแสเงินสดก็ยังใช้บอกการหามาและใช้ไปของเงินได้อีกด้วย โดยที่ สมมติว่าเราดูว่าบริษัทมี CFO เป็นบวก สมมติเป็น 1000 ล้านบาท และ CFI - 200 ล้านบาท CFF - 400 ล้านบาท เมื่อรวมกันบริษัทมีเงินเหลือ 400 ล้านบาท (1,000 - 200 - 400 = 400) แบบนี้แสดงว่าบริษัทสามารถใช้ CFO มาจ่ายลงทุนขยายกิจการและจ่ายหนี้ได้ทั้งหมด ก็นับว่าเป็นบริษัทที่มีความปลอดภัยทางด้านการเงินสูง
กลับกันถ้าอีกบริษัทมี CFO เป็น 800 ล้านบาท แต่ CFI - 700 ล้านบาท และต้องจ่ายหนี้คืน - 400 ล้านบาท ถ้าไม่มีการหาแหล่งเงินมาเพิ่ม เช่น การกู้ จะทำให้บริษัทจะมีเงินสดสุทธิในงวด -300 ล้านบาท ทำให้บริษทต้องกู้เงินมาเพิ่ม 250 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายร่วมกับเงินสดต้นงวดที่มี 50 ล้านบาท ทำให้เงินสดปลายงวดหมดไป จะมี CFF - 50 ล้านบาท (กู้เพิ่ม - จ่ายคืนเงินกู้ = 250 - 300 = -50)
1
แบบนี้แสดงว่าบริษัทไม่สามารถใช้ CFO มาจ่ายลงทุนขยายกิจการและจ่ายหนี้ได้ทั้งหมดต้องอาศัยการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในกิจการ ก็นับว่าเป็นบริษัทที่มีความปลอดภัยทางด้านการเงินน้อยกว่าบริษัทแรกและปีต่อไปถ้ายังต้องลงทุนและจ่ายคืนหนี้เท่าเดิมและยังผลิต CFO ได้เท่าเดิมก็ต้องทำการกู้เงินมาใช้อีกแม้ในระยะยาวถ้าบริษัทยังคง CFO CFI CFF ได้เท่าเดิมหนี้จะค่อยๆลดลงเองก็ตามแต่ก็ยังเทียบกับบริษัทแรกที่ใช้เงินลงทุนจากการทำมาหาได้เองไม่ได้
และถ้าบริษัทสุดท้ายเกิด CFO ติดลบล่ะ หมายความว่าในการดำเนินงานต้องใช้หนี้มาหมุนเวียนในกิจการและใช้ลงทุนซึ่งน่าจะเป็นบริษัทที่มีความปลอดภัยทางการเงินน้อยที่สุดซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทแบบนี้
ถ้าจะให้สรุปแบบง่ายๆ คือ ทั้ง 3 บริษัทถ้าเราจะเลือกลงทุนควรเลือกเรียงตามลำดับตามนี้ครับ
(น่าลงทุนมาก) บริษัท 1 > บริษัท 2 > บริษัท 3 (น่าลงทุนน้อย)
เหตุผลเพราะบริษัทที่ 1 ใช้เงินตัวเองทั้งหมดไม่ต้องยืมใครหรือขายสินทรัพย์มาใช้ ส่วนบริษัทที่ 2 ต้องยืมเงินคนอื่นมาใช้บางส่วน และบริษัทที่ 3 ต้องใช้การกู้ยืมหรือขายสินทรัพย์เพื่อหาเงินมาใช้
อย่างไรก็ตามตัวอย่างที่แสดงให้ดูเป็นตัวเลขสมมติเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายในการอ่านงบการเงินบริษัทจริงๆอาจจะมีอะไรที่ต้องวิเคราะห์งบกันมากกว่านี้ แต่ว่าก็พอจะใช้เป็นหลักการในการเลือกบริษัทลงทุนได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือคงต้องอาศัยการฝึกฝนของนักลงทุนแต่ละท่านเองครับ
สุดท้ายนี้ก่อนอ่านงบการเงินก็ควรจะอ่านรายงานของผู้สอบบัญชีก่อนตามลิงก์ด้านล่างนี้นะครับ https://www.finnomena.com/z-admin/auditors-report/
จบลงไปแล้วสำหรับงบกระแสเงินสดไม่ยากจนเกินไปใช่ไหมครับ บทความต่อไปเราจะกลับมาพูดเรื่องปัจจัยเชิงคุณภาพกันบ้างจะเป็นเรื่องอะไรติดตามกันได้นะครับ
อ้างอิง
- หนังสือคัมภีร์วิเคราะห์งบการเงิน (หนังสือ ชุด ครบเครื่องเรื่องลงทุน ของตลาดหลักทรัพย์)
- หนังสืออ่านงบการเงินให้เป็น (ดร. ภาพร เอกอรรถพร)
- หนังสือ การวิเคราะห์งบการเงิน (หนังสืออ่านสอบหลักสูตร CISA 1)
- แหล่งความรู้อื่นๆ เช่น เว็บไซต์ของ Mr. Like Stock และเว็บไซต์ทางการบัญชีทั่วไปที่ค้นหาข้อมูลได้ไม่ยากครับ
1
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
โฆษณา