26 ก.พ. 2021 เวลา 08:28
อินเดีย ตอบโต้จีนด้วยการเปลี่ยนชื่อผลไม้ที่ชื่นชอบมากที่สุด
จากการเผชิญหน้าบริเวณชายแดนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างอินเดียและจีน ทำให้ทหารอินดียอย่างน้อย 20 รายเสียชีวิต และอินเดียก็ตอบโต้ด้วยการเปลี่ยนชื่อผลไม้ที่ชื่นชอบมากที่สุด
Vijay Rupani มุขยมนตรีแห่งรัฐคุชราต (Gujarat) ได้ประกาศว่า ต่อไปนี้ แก้วมังกร จะถูกเรียกว่า "Kamalam" (อ่านว่า กะ-มะ-ลัม) ซึ่งแปลว่า ดอกบัวในภาษาสันสกฤต เนื่องจากว่าชื่อภาษาอังกฤษของแก้วมังกร ซึ่งก็คือ Dragon Fruit นั้น ทำให้ “นึกถึงประเทศจีน” และดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำชาติของอินเดีย และเป็นสัญลักษณ์ของพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และ Rupani เองก็มาจากพรรคนี้ แต่จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ Hindu เขากล่าวว่า การใช้ชื่อดังกล่าว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด
รัฐคุชราตมีเกษตรกรมากกว่า 200 รายที่ปลูกแก้วมังกร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ โดยเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาเชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วจะดีขึ้น และการยอมรับในผลไม้จะมากขึ้นหากมองว่าเป็นผลไม้ของอินเดีย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนชื่อได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บน Twitter มากมาย เช่น “มังกรถูกสังหารแล้ว”
มีหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องเป็นแก้วมังกร ทำไมไม่เป็นสิ่งของอื่นๆที่มีชื่อทำให้นึกถึงประเทศจีน ยกตัวอย่าง น้ำตาลทรายขาว ซึ่งในภาษาฮินดี เรียกว่า “Cheeni” และ กระทะ หรือ “Cheena Chatti” ซึ่งทั้งสองอย่างมาจากบรรพบุรุษชาวจีน
ที่น่าตลกคือ แก้วมังกรเอง ก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงจริงๆกับชาวจีน นอกจากชื่อของมัน ทั้งนี้ ผลไม้ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวเอเชีย เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีการปลูกมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ คาริเบียน และออสเตรเลีย
การเพาะปลูกผลไม้ดังกล่าวในอินเดีย ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง โดยนายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี ยังยกย่องคุณค่าของผลไม้ดังกล่าวในรายการ Mann Ki Baat (Heart-to-Heart Talk) ที่ออกอากาศรายเดือนของเขาเมื่อปี 2563 โดยสรรเสริญเกษตรกรในเขตกูตจ์ (Kutch) แห่งรัฐคุชราต ที่ช่วยให้ประเทศอินเดียสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยราคาของแก้วมังกรจากรัฐตรีปุระ (Tripura) ประเทศอินเดียนั้น อยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม มีราคาเกือบสองเท่าของผลไม้อื่นๆที่ปลูกในรัฐเดียวกัน
แก้วมังกร เข้ามาในประเทศอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 90 และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในภาคกลางและภาคใต้ของอินเดีย เกษตรกรในรัฐตรีปุระ มองว่า การเพาะปลูกแก้วมังกรนี้ ควรจะได้รับการยกระดับขึ้นมาเหมือนกับราชินีสับปะรด ผลไม้ขึ้นชื่อของรัฐนี้ และยังมีการส่งออกไปทั่วโลก
ไม่ใช่แค่เกษตรกรที่ชื่นชอบแก้วมังกร ผู้ประกอบการเองยังได้รับแรงบันดาลใจจากแก้วมังกรอีกด้วย โดยนักธุรกิจรายหนึ่ง จากรัฐนากาแลนด์ (Nagaland) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้เปิดตัวไวน์แก้วมังกรออร์แกนิค ที่ราคาขวดละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับความนิยมจนกระทั่งต้องมีการต่อแถวเข้าซื้อกันเลยทีเดียว
ยังไม่หมดแค่นั้น แก้วมังกรยังได้รับความนิยมในหมู่เชฟ จากบรรดาร้านอาหารไฮโซ ตั้งแต่ไอศกรีม เค้ก พุดดิ้ง เยลลี่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆในสลัด ค็อกเทลส์ ม็อกเทลส์ ทาโก สมูทตี้ และอื่นๆอีกมากตามการรังสรรค์ของพ่อครัว
ประเทศแถบตะวันออกเชื่อว่า มังกรคือสัญลักษณ์แห่งความมีชีวิตชีวา อำนาจ และความโชคดี โดยจากตำนานหนึ่งของจีน ในช่วงสงครามประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง เมื่อมังกรพ่นไฟออกมา สิ่งสุดท้ายที่เกิดขึ้นจากไฟคือผลไม้ เมื่อมังกรถูกสังหาร เหล่าทหารที่ได้รับชัยชนะก็เก็บผลไม้ดังกล่าวและถวายแด่จักรพรรดิ ในฐานะเป็นสมบัติชิ้นหนึ่ง
นักมานุษยวิทยา สาขาอาหารจากกรุงเดลีกล่าวว่า ผลไม้ดังกล่าวได้ชื่อภาษาอังกฤษหลังจากที่มิชชันนารีได้นำผลไม้เข้ามายังดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ผลไม้นี้ยังมีอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น "Pitahaya" (อ่านว่า พิ-ตา-ฮา-ยา) และ and "Pitaya Roja" ใน ละติน อเมริกา และ “Strawberry Pear” ในสหรัฐฯ
ส่วนที่เวียดนาม ที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายและส่งออกไปทั่วโลก เรียกว่า “Thang Loy” เนื่องจากว่าดอกไม้ของต้นแก้วมังกรจะบานในช่วงเวลาค่ำก่อนเที่ยงคืน จึงมักเรียกกันว่า ดอกไม้พระจันทร์ ต้นซินเดอร์เรลล่า หรือ ความงามแห่งรัตติกาล
แก้วมังกรยังมีการปลูกในรัฐเพื่อนบ้านอย่าง มหาราษฏระ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แต่ก็ไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะมีแผนเปลี่ยนชื่อผลไม้ดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างที่มีคำกล่าวว่า ชื่อนั้นสำคัญไฉน แต่สำหรับชาวอินเดีย บางทีชื่อนั้นคือมีความสำคัญอย่างยิ่ง เปลี่ยนชื่อแล้วอาจจะรู้สึกดีขึ้นก็ได้นะคะ
ที่มาและภาพ:
โฆษณา