Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
unfocused
•
ติดตาม
26 ก.พ. 2021 เวลา 12:01 • ความคิดเห็น
Way to Calvary :: พระเยซูกับกางเขนที่แบกไป
พระเยซูแบกกางเขนแบบไหน?
Christ Carrying the Cross, TIZIANO Vecellio, 1570-75 Oil on canvas, 67 x 77 cm Museo del Prado, Madrid
นานแล้วที่อึ่งได้ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
ในจำนวนนั้นมีเรื่องหนึ่งคือ The Gospel of John (2003)
กับเรื่องอะไรสักอย่างที่เก่ากว่า เลือนรางมากค่ะ
น่าจะเป็นภาพยนตร์ประมาณช่วง 70s
ซึ่งสองเรื่องนี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ...
พระเยซูแบกกางเขน = แบกเฉพาะไม้ท่อนขวาง
ภาพฉากที่พระเยซูแบกกางเขนจากเรื่อง The Gospel of John (2003)
ตอนแรกที่เห็นก็ร้องหืมมมมม
เพราะที่ผ่านมาได้เห็นแต่ภาพการแบกกางเขนแบบเต็มทั้งสองท่อนมาโดยตลอด
ภายหลังได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งอธิบายเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้า (passion narrative) จากพระวรสาร (gospel) ของนักบุญมาระโก
ก็พบคำอธิบายเพิ่มเติมสั้นๆ ว่า ‘ปกตินักโทษประหารจะต้องแบกกางเขนของตนเอง (เฉพาะไม้ท่อนเดียวที่เป็นส่วนขวางของไม้กางเขนเท่านั้น)’
จริงๆ ก็มีการตีความคำว่ากางเขนที่แตกต่างกันอยู่เหมือนกัน
เนื่องจากคำว่ากางเขนในภาษากรีกต้นฉบับของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
ใช้คำว่า stauros (σταυρός) ซึ่งกำกวมเพราะสื่อความหมายได้หลายแบบ
ไม่ได้บอกลักษณะของกางเขนที่ชัดเจน
คริสตชนบางกลุ่มจึงเชื่อว่า stauros นั้นหมายถึงกางเขนที่เป็นไม้ยาวท่อนเดียว
เหมือนเสา แล้วนำคนไปตรึงเอาไว้แล้วปล่อยให้ตาย
และเชื่อว่าพระเยซูก็ถูกตรึงบนเสาท่อนเดียวเช่นนี้
ดังนั้นการแบกกางเขนของพระเยซูอาจหมายถึงแบกเจ้าเสาท่อนนี้ก็เป็นได้
Crucifixion on a crux simplex ad affixionem: drawing in a 1629 reprint of De cruce of Justus Lipsius (1547-1606)
อีกด้านหนึ่งก็มีการตีความว่า stauros หมายถึงไม้ท่อนขวาง นักโทษแบกไม้ท่อนนี้
เพื่อนำไปผนวกเข้ากับไม้อีกท่อนที่ตั้งตรง รวมกันเป็นกางเขนแบบที่เราคุ้นชิน
ซึ่งแนวคิดนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับในศาสนจักรคาทอลิกอยู่นะคะ
แต่ถึงกระนั้นการผลิตงานศิลปกรรมหรือภาพสื่อต่างๆ
ก็ยังคงใช้การแบกกางเขนแบบเต็มอยู่ดี
ภาพฝังหัวของอึ่งที่พระเยซูแบกกางเขนแบบเต็มก็คงมาจากศิลปกรรมต่างๆ
ที่ปรากฏให้เห็นในโบสถ์นั่นล่ะ 🧐
อึ่งคิดว่าที่ศิลปกรรมไม่นิยมการแบกกางเขนเฉพาะท่อนขวาง
อาจจะเป็นเพราะเมื่อพูดถึงกางเขน คนก็เชื่อว่าพระเยซูแบกกางเขนแบบเต็ม
เห็นภาพในหัวประมาณนั้นเลย
หรืออาจเป็นเพราะกางเขนในศิลปกรรมในโบสถ์นอกจากมีหน้าที่เป็นส่วนประกอบ
หนึ่งของเรื่องราวแล้ว มันยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัว
ที่ตอกย้ำภารกิจ/การเสียสละในชีวิตของคนคนนั้น
และทำให้เราจำแนกได้ว่าคนในภาพเป็นใคร
เหมือนกับที่นักบุญแต่ละคนก็มีลักษณะที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่านี่ใคร
เช่น เปโตรถือกุญแจสองดอก อันดรูยืนข้างกางเขนรูปกากบาท
หรือถือของประจำตัว ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นของที่เป็นสาเหตุการตายของนักบุญท่านนั้นๆ ตามความเชื่อ เช่น ซีโมนเศโลเทถือใบเลื่อยที่ใช้เลื่อยตนเอง
บาโธโลมิวถือผิวหนังของตัวเองที่ถูกถลกออกมา
พระเยซูเลยต้องอยู่คู่กับกางเขนแบบเต็มที่ตรึงพระองค์เหมือนกัน
Last Judgment (detail), MICHELANGELO Buonarroti, 1537-41 Fresco Cappella Sistina, Vatican แสดงภาพนักบุญบารโธโลมิวถือผิวหนังของตัวเอง
สำหรับสังคมสมัยโบราณที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ การดูภาพจึงสำคัญ
ภาพจึงควรที่จะบอกเล่าให้ชัดเจน
อีกทั้งในฉากการแบกกางเขนของพระเยซูนั้นหลายครั้งก็ถูกวาดออกมา
โดยมีผู้คนในภาพมากมาย บ้างก็เบียดเสียด บ้างก็รายล้อม
พระเยซูที่แบกกางเขนแบบเต็มจึงสื่อสารต่อผู้ชมได้ง่ายกว่ามาก
และดูเด่นขึ้นท่ามกลางฝูงชน เป็นจุดรวมสายตาที่ดีได้ เหมือนผู้ชมถูกดึงดูดให้มอง
ไปตรงนั้นเสมอ และกางเขนแบบเต็มนั้นดูหนักกว่าไม้ท่อนเดียวอีก
ภาพก็สื่อสารถึงบรรยากาศความยากลำบากของพระเยซูออกมาได้มากกว่า
ในภาพยนตร์เอง หลายๆ เรื่องก็ทำออกมาโดยให้พระเยซูแบกกางเขนแบบเต็ม
แต่บางครั้งนักโทษที่จะถูกตรึงกางเขนด้วยกันกลับแบกเฉพาะท่อนขวาง
อันนี้อาจเป็นเพราะต้องการไฮไลต์ไปที่ภารกิจของพระเยซูและทำให้ดูแตกต่างก็ได้
แต่ก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคหลังๆ
ที่ให้พระเยซูแบกกางเขนท่อนขวางเท่านั้น เหมือนว่าผู้สร้างภาพยนตร์ก็อยากจะใส่
รายละเอียดที่คิดว่าถูกต้องตามประวัติศาสตร์ (ซึ่งเป็นที่ยอมรับ) ลงไปด้วย
เพื่อความสมจริง
ไม่เพียงเท่านั้น จากงานเขียนของ Thomas Mccall Fallow กับคำอธิบายสั้นๆ
ในเว็บไซต์สื่อคำสอนคาทอลิกยังบอกด้วยว่าผู้ที่ถูกตรึงกางเขนจะถูกจับเปลือยกาย
ประเด็นนี้ถ้าอ่านจากพระวรสารทั้งสี่จะบอกว่าทหารนำเสื้อผ้าของพระเยซูไปแบ่งกัน ...ก็คงจะถูกถอดเสื้อผ้าแน่นอน
แต่เรามักเห็นเสมอว่าบนไม้กางเขนหรือภาพศิลปะพระเยซูจะไม่ถึงกับเปลือย
ทั้งที่บางภาพนักโทษที่ถูกตรึงด้วยกันเปลือยกายอยู่
ทว่า...สมมติว่าทุกคนที่ถูกตรึงกางเขนต้องเปลือยเปล่าจริง กองเซ็นเซอร์ของโบสถ์
ก็คงไม่คิดว่าเหมาะสมที่จะเผยแพร่พระเยซูออกไปในลักษณะนั้นอยู่ดี
ถ้าในฝั่งภาพยนตร์ เราจะเห็นพระเยซูแบกกางเขนท่อนขวางและถูกตรึงแบบ
เปลือยกายได้ในภาพยนตร์เรื่อง The Last Temptation of Christ (1988)
ของ Martin Scorsese ที่ Willem Dafoe แสดงเป็นพระเยซู
แต่อึ่งไม่ได้ดูภาพยนตร์เต็มนะคะ เห็นจากภาพผ่านตามาเท่านั้นเอง 😅
ได้ยินว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีกระแสทั้งชมทั้งติหลายประการเหมือนกันนะคะ
จริงๆ สำหรับอึ่งตอนนี้กางเขนแบบไหนก็ไม่สำคัญแล้ว 😊
ยิ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีกางเขนหลากหลายแบบมากๆ
ที่ใช้อย่างแพร่หลายในศาสนาคริสต์
อย่างไรก็ตามการตรึงกางเขนจัดว่าโหดมากเลย
มันเป็นบทลงโทษที่พรากทั้งชีวิต ทั้งศักดิ์ศรี
นักโทษถูกทรมานให้ค่อยๆ ก้าวสู่ความตาย
ที่สำคัญคือถูกประจาน ไม่ให้คนเอาเยี่ยงอย่าง
จินตนาการความทรมานไม่ออกเลยจริงๆ ค่ะ
ขอบคุณทุกคนที่แวะเวียนมาอ่านนะคะ
(เขียนอย่างงงๆ และจบอย่างงงๆ อีกแล้ว)
แล้วเจอกันค่ะ
🤟🏽
ข้อมูลจาก:
https://en.wikisource.org/wiki/1911_Encyclopædia_Britannica/Cross_and_Crucifixion
https://en.wikipedia.org/wiki/Christ_Carrying_the_Cross
https://en.wikipedia.org/wiki/Crucifixion_of_Jesus#Path_to_the_crucifixion
https://en.wikipedia.org/wiki/Instrument_of_Jesus%27_crucifixion
http://www.thaicatholicbible.com/main/index.php/bible-knowledge/77-bible-words/1023-2010-07-04-10-21-57
พระทรมานของพระเยซูเจ้า Passion Narrative: อรรถาธิบายพระวรสารนักบุญมาระโก บทที่ 14-15, หน้า 62, บาทหลวงสมเกียรติ ตรีนิกร
ภาพจาก:
https://en.wikipedia.org/wiki/Instrument_of_Jesus%27_crucifixion
https://www.wga.hu/index.html
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย