28 ก.พ. 2021 เวลา 09:40 • ประวัติศาสตร์
โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี: ขบวนการนักศึกษา
ในเยอรมนีที่เป็นตัวอย่างอารยะขัดขืน
โซฟี โชล (Sophie Scholl) หนึ่งในแกนนำขบวนการ
‘กุหลาบขาว’ กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวต่อต้านระบอบนาซี
จนถูกลงโทษตัดสินให้ประหารชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943
ในขณะที่เธอมีอายุเพียง 22 ปี
1
“เสรีภาพจงเจริญ”
เสียงสุดท้ายที่ฮันส์ โชล เปล่งออกมาท้าทายความตาย
แสกหน้าคำพิพากษาประหารชีวิต ด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ
เสียงสุดท้ายสั้นเพียงเฮือกลมหายใจ ก่อนใบมีดคมกริบ
ของเครื่องประหารที่ได้ชื่อว่า ‘อิงมนุษยธรรม’
ที่สุดอย่างกิโยตินจะพรากชีวิตสองพี่น้องตระกูลโชล
ให้จบสิ้นโดยพลันในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943
อาจหาญดูหมิ่นท่านผู้นำ
1
เสียงสุดท้ายสิ้นสุดลงง่ายๆ เพียงเพชฌฆาตปล่อยใบมีด
ลงสู่เบื้องล่างที่ศีรษะถูกตรึงไว้ หากไม่มีเครื่องประหารใด
จะประหัตประหารจิตวิญญาณเสรีได้ เมื่อแรงสั่นสะเทือนของเสียง
‘เสรีภาพจงเจริญ!’ ที่แท้จริงนั้นดังผ่านสิ่งที่สองพี่น้อง และสหายขบวนการ
‘กุหลาบขาว’ ได้ฝากไว้
1
ขอบคุณภาพจากเว็บ www.tempi.it
“เมื่อมองเห็นมวลเมฆบนท้องฟ้า กิ่งไม้ใบไม้แกว่งไกวโอนเอน
ท่ามกลางแสงสีแจ่มใส ฉันตั้งหน้ารอคอยให้ฤดูใบไม้ผลิมาถึงอีกครั้ง”
หากคุณกำลังโดนทางการไล่ตามจับ ด้วยข้อหาที่อาจถึงชีวิต
คุณจะมีปฏิกิริยาเช่นไร? หวาดกลัว ตัวสั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ?
แต่ไม่เลย นั่นไม่ใช่ปฏิกิริยาของโซฟี ตรงกันข้าม
สิ่งที่โซฟีทำหลังรู้ว่าทางการเกสตาโปเริ่มแว่วข่าว
ถึงการมีส่วนร่วมของเธอในกลุ่มกุหลาบขาว
คือการเดินกลับห้องพักตามปกติ เปิดแผ่นเสียงบรรเลง
บทประพันธ์เพลง Trout Quintet ของ ฟรันทซ์ ชูเบิร์ท
ท่วงทำนองที่สนุกสนานราวกับปลาเทราต์กระโดดไปมา
(ตามชื่อเพลง) แหวกว่ายในธาราอย่างเริงร่า
จนทำให้เธอกระโดดโลดเต้นในใจ แม้สถานการณ์ภายนอก
จะห่างไกลจากคำว่าแจ่มใส
ภาพ ‘นกนานาชนิดส่งเสียงเพลงเจื้อยแจ้ว
สรรพสิ่งทั้งหลายกู่ก้องร้องตะโกนอย่างสุขหรรษา’
ที่ปรากฏในเนื้อเพลงนั้น วาดภาพฝันถึงวันที่โลกผัน
จากฤดูกาลเหน็บหนาว เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง
ภาพที่เป็นดั่งปลายทาง และเป็นจุดเริ่มต้นของ
การยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการใชีชีวิตไปพร้อมๆ กัน
โซฟีหลงไหลในธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก
ด้วยความที่เธอเติบโตในเมืองเล็กๆ
แวดล้อมด้วยภูเขา ลำธาร และความคิดอ่าน
เสรีที่ได้จากพ่อของเธอ โซฟีเชื่อเสมอว่า
พระเจ้าเป็นผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่ง หาก ‘พระเจ้า’
ในความหมายของเธอหาใช่ใครอื่นไม่
นอกจากความหยั่งรู้ มโนธรรม จิตใต้สำนึกลึกล้ำไพศาล
ไร้สิ้นสุดในมนุษย์ทุกคน
ด้วยความศรัทธาอย่างยิ่งต่อจิตเสรีของชีวิต
โซฟีจึงรับไม่ได้อย่างยิ่ง เมื่อเธอต้องรับฟัง
โฆษณาชวนเชื่อซ้ำซากว่า ‘ความรักชาติจะผลักดันเรา
สู่ความยิ่งใหญ่’ อีกทั้งยังมีเหตุมากมายที่ทำให้เธอ
ไม่สามารถอดรนทนเฉยได้อีกต่อไป ทั้งการเห็นกิจกรรมควบคุมความคิด
อย่างการเผาหนังสือ การต่อต้านงานศิลปะสมัยใหม่
ที่ฮิตเลอร์บอกว่าเป็นการบ่อนทำลายวัฒนธรรมเยอรมันดั้งเดิม
รวมทั้งการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้เสรีภาพของวัยเยาว์
ไม่ว่าจะเป็นการไว้ทรงผมที่ต่างออกไป
สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือการรักร่วมเพศเดียวกันกลายเป็น
‘เรื่องผิดกฎหมาย’
1
ขอบคุณภาพจากเว็บ themomentum.co
เหตุการณ์ต่างๆ สร้างความอึดอัด ทับถมใจมาเรื่อยๆ
จนถึงจุดแตกหักที่ทำให้โซฟีรับไม่ได้อีกต่อไป
เมื่อพี่ชายของเธอถูกจับกุมขณะฝึกในค่ายทหารด้วยข้อหามี
‘สัมพันธภาพใกล้ชิด’ กับเยาวชนสมาชิกที่นับว่าเป็น
ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 175 ของเยอรมัน
ในขณะนั้น ที่ตัดสินการรักร่วมเพศเดียวกันว่า
เป็นความผิดถึงขั้นต้องจำคุก
คำพิพากษานี้ ส่งผลให้โซฟีต้องแบกรับถ้อยคำเสียดสี
จากผู้คนรอบข้าง กลายเป็นบาดแผลของครอบครัวที่เชื่อว่า
นี่เป็นมูลเหตุสำคัญที่เริ่มทำให้เธอมีความคิดต่อต้านระบอบ
ทรราชย์ที่ใช้อำนาจควบคุมความคิด ลิขิตชีวิตคนด้วยตรรกะวิปริต
ผิดธรรมชาติมนุษย์
“รัฐดำรงคงอยู่เพื่อสนองรับใช้ปัจเจกบุคคล
ไม่ใช่ในทางกลับกัน” เซนต์โธมัส อากีนาส
พี่น้องตระกูลโชลหันมาให้ความสนใจอ่านงานเขียน
แลกเปลี่ยนสนทนา แสวงหาคุณค่าบางอย่าง
เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของตนท่ามกลาง
ความไม่ชอบกลของสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่
นโยบายรังแกชาวยิวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สุเหร่าถูกเผา ชาวยิวถูกสังหาร
แต่ความโหดร้ายในสายตาโซฟีไม่ใช่เพียงการกระทำ
ของพลพรรคนาซี หากรวมถึงการนิ่งเฉย
ไม่ทำอะไรเลยของชาวเยอรมนี
ต่อเหตุการณ์ตกต่ำทางมนุษยธรรมเช่นนี้
ขอบคุณภาพจากเว็บ waymagazine.org
“ทุกคนมีส่วนผิด นับตั้งแต่การเข้าพิชิตโปแลนด์
คนยิวในแผ่นดินนี้มีมากกว่าสามแสนคนถูกฆ่าล้างผลาญ
ไปในสภาพเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน …
แล้วก็อีกเช่นเคย ประชาชนเยอรมันต่างพากันนอนหลับนิ่งเฉย
นอนอยู่อย่างทึ่มทื่อและโง่งั่ง ปล่อยให้บรรดาอาชญากรฟาสซิสต์เหล่านี้
มีโอกาสแสดงความมุทะลุดุดันออกอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง
และพวกมันก็กำลังลงมือทำอยู่ตลอดเวลา​…
ทุกคนมีส่วนผิด… ผิด… ผิด… ผิด!”
ถ้อยคำจากใบปลิวฉบับที่หนึ่ง ในนามกลุ่ม ‘กุหลาบขาว’
มิตรสหายที่เธอได้มาพบที่มหาวิทยาลัยมิวนิกที่
มักใช้เวลาส่วนใหญ่สนทนากันยาวนานในสารพัดหัวข้อ
ทั้งปรัชญา ศาสนา วรรณกรรม ด้วยทัศนะที่คัดค้านนาซี
บทสนทนาที่เข้มข้นมากขึ้น มิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
ประกอบกับอำมหิตของนาซีที่เริ่มทวีขึ้น ทำให้พวกเขา
ตัดสินใจก้าวจากการถกเถียงเชิงความคิด ไปสู่การลงมือ
ต่อต้านระบอบเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรม
การตัดสินใจที่เปลี่ยนมิตรสหายในรั้วมหาลัย ให้กลายเป็น
‘ปรปักษ์ต่อชาติ’ เป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ ตามนิยามเผด็จการ
การตัดสินใจที่พวกเขารู้แก่ใจว่าเสียงต่อชีวิตแค่ไหน
หากรู้ดีในส่วนลึกของใจเช่นกันว่า การไม่กระทำการใดนั้นเป็นภัย
และชวนอับอายต่อการมีชีวิตอยู่ยิ่งเสียกว่า
กลุ่มกุหลาบขาวเริ่มการต่อต้านอย่างสงบด้วยการทำใบปลิวแจก
และขอให้ผู้รับช่วยทำสำเนาส่งต่อไปให้มากที่สุด
เนื้อหาในใบปลิวเขียนด้วยผู้คนต่างกันไป
ด้วยใจความต่างวาระไป มีทั้งการขอความร่วมมือ
ให้ชาวเยอรมนีต่อต้านนาซี ‘ก่อนจะสายเกินไป’
หากไม่เช่นนั้นแล้ว นี่จะกลายเป็น ‘ความรู้สึกผิดบาปรวมหมู่’
และชื่อเยอรมนีจะต้อง ‘เสื่อมเกียรติยศไปจนตลอดกาล’
ไปจนถึงการวิพากษ์ปรัชญาชาตินิยม ประณามระบอบเผด็จการ
ว่าเป็นความชั่วช้าสามานย์ ขัดกับจิตเสรีของมนุษย์โดยธรรมชาติ
ในใบปลิวครั้งที่ห้า เป็นที่แน่ชัดว่า ‘กุหลาบขาว’
ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนนักศึกษาขนาดเล็กอีกต่อไป
หากเป็น ‘ขบวนการต่อต้านแห่งเยอรมนี’
ที่ยิ่งเติบโตมากเท่าไร แรงกระเพื่อมทาง
ความคิดของกลุ่มยิ่งกระจายตัวไปในวงกว้าง
ขึ้นเท่านั้น และนั่นย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิต
ของผู้จุดประกายความคิดด้วยเช่นกัน
แต่อย่างที่ได้เกริ่นไปในข้างต้นแล้วนั้นว่า
ปฏิกิริยาของโซฟีกลับนิ่งสงบ เมื่อพบว่า
ทางการเกสตาโปเริ่มรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเธอ
ความเงียบสงบของโซฟีที่คงเส้นคงวา
แม้ในวันที่ถูกจับกุมแล้วเธอก็ยังยืนยันแน่ชัด
ต่อเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนว่า
“ดิฉันเชื่อว่าพวกเราทำสิ่งประเสริฐสุดให้แก่ประเทศชาติ ดิฉันไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป ดิฉันยินดีรับผลพวงอันเนื่องจากการกระทำของตนเอง”
และแม้เจ้าหน้าที่สอบสวนนาซีจะยืนกรานเปิดฉากอบรมสอนสั่ง
ร่ายความหมายลัทธิชาตินิยมใส่โซฟีว่าเธอควรจะสำนึกถึงบุญคุณ
ท่านผู้นำและกองทัพไว้บ้าง โซฟีก็ยังคงตอบกลับด้วยความสงบนิ่งว่า
“ท่านต่างหากที่มีโลกทัศน์ผิดพลาดไปแล้ว”
และ
“สิ่งที่เราได้เขียนและพูดคือสิ่งที่หลายคนเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว
ทำไมท่านจึงไม่กล้าเผชิญกับมันเล่า”
โซฟีถูกจับกุมในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943
เช้าวันนั้นโซฟีและฮันส์ออกจากบ้านไปมหาวิทยาลัยตามปกติ
เตรียมนำใบปลิวปึกใหญ่ไปกระจายตามจุดต่างๆ
เมื่อมาถึงห้องโถงกลางขนาดใหญ่ชื่อว่า Lichthof
ที่ห้อมล้อมด้วยห้องบรรยายที่อาจารย์และนักศึกษารวมตัวกันแน่น
ขนัดอยู่ข้างใน ชั่วขณะที่โซฟีและฮันส์กำลังแยกกันทำงาน
อาจเป็นความพลุ่งพล่านบางอย่าง หรืออาจเป็นเสี้ยวสะดุด
ที่ทำให้โซฟีปัดมือผลักใบปลิวปลึกใหญ่ร่วงจากโถงกลาง
ลงสู่เบื้องล่าง จังหวะเดียวกับที่นักศึกษาจำนวนมาก
ทยอยออกจากห้องบรรยายพอดิบพอดี
และพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกผู้จงรักภักดีต่อนาซี
ก็เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวพอดี
1
หลังจากถูกสอบสวนยาวนาน ถูกบังคับให้สารภาพ
เพื่อสาวความไปยังผู้มีส่วนร่วมในขบวนการกุหลาบขาวคนอื่นๆ
โซฟีก็ถูกตัดสินด้วยโทษประหารชีวิตอย่างไร้เงื่อนไข
เพื่อให้เป็นคำเตือน ขู่ให้ใครต่อใครที่ริอาจคิดท้าทาย
ระบอบนาซีได้เห็นว่าการเลือกเส้นทางนี้จะมีจุดจบเช่นไร
1
ขอบคุณภาพจากเว็บ themomentum.co อนุสรณ์สถานระลึกถึงกลุ่มกุหลาบขาวลานหน้ามหาวิทยาลัยมิวนิค
พวกเขาอาจสั่งประหารชีวิต โซฟี โชล ได้
แต่พวกเขาไม่อาจห้ามให้เสียงสะท้อนของเสียงตะโกนฃ
เฮือกสุดท้ายของเธอที่ร้องออกมาว่า
“เสรีภาพจงเจริญ!”
1
และถ้อยความอื่นๆ ที่ถูกบันทึกในใบปลิว
สลักไว้ในความคิดผู้คน ส่งผลต่อขบวนการต่อต้านความไม่ชอบธรรม
เป็นตัวอย่างอารยะขัดขืนที่ข้ามกาล ข้ามเวลา
เรื่องของ โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี
ได้นับการยกย่องและถูกทําไปเป็นหนังเรื่อง
Sophie Scholl: The Final Days
หนังนี้เล่าเรื่องถึง
เมืองมิวนิคปี 1943 ขณะที่จอมเผด็จการณ์ฮิตเล่อร์ทำสงคราม
ทำลายล้างไปทั่วยุโรป มวลมหาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็น
กลุ่มนักศึกษาปัญญาชน รวมตัวกันต่อต้านกลุ่มนาซี
ที่ไร้มนุษยธรรม กุหลาบขาว คือองค์กรที่ก่อตั้งเพื่อหยุดยั้ง
และโค่นล้มรัฐบาลเยอรมัน โซฟี โชลล์ (จูเลีย เจนท์)
หนึ่งในแกนนำหญิงแห่งองค์กรนี้ แม้ด้วยวัยเพียง 19
แต่วุฒิภาวะที่สูงส่งแรงกล้า ก็พร้อมเสียดทานต่ออำนาจ
กดดันของระบอบนาซีอย่างไม่สะทกสะท้าน 18 กุมภาพันธ์
ในปีนั้น โซฟี และ ฮานส์ (เฟเบียน ฮินริช) พี่ชายของเธอถูกจับ
ในมหาวิทยาลัยขณะแจกใบปลิวต่อต้านนาซี 3 วันจากนั้น
โซฟีก็ถูกเจ้าหน้าที่ เกสตาโป มอร์ เค้นสอบสวน
ทว่าเธอก็หาได้เปิดโปงและซัดทอดกลุ่มองค์กรกุหลาบขาว
อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะหลบหนีตามที่มอร์ได้
มอบโอกาสนั้นแก่เธอ โซฟีพร้อมเผชิญบทลงโทษ
ที่ไร้มนุษยธรรมของระบอบนาซีโดยไม่พรั่นพรึงแม้แต่น้อย
และความตายเบื้องหน้าที่เธอเดินเข้าหามันโดย
ไม่เสียน้ำตา และ นำมาซึ่งจุดจบของลัทธินาซีในเวลาต่อมา
ขอบคุณภาพจากเว็บ riverdale-dreams.blogspot.com
โฆษณา