27 ก.พ. 2021 เวลา 13:05 • ไลฟ์สไตล์
ภูมิใจในความเป็นไทยกันไหมครับ?
คนไทยเรานี่เก่งนะครับ ดังที่ได้ยินมาบ่อยครั้ง ถ้าตั้งใจ พี่ไทยไม่แพ้ใครในโลก(ถ้านะครับ 555)
อย่างวันนี้ ผมจะยกมาประเด็นหนึ่งที่ประทับใจเป็นการส่วนตัว กับความสามารถของไทยเรา ในการดัดแปลง ตกแต่ง พรางรูป ให้สิ่งนั้นๆที่มาจากชาติอื่น ค่อยๆกลืนมาเป็นนวัตกรรมแบบไทยกัน สิ่งนั้นคือ "ภาษา" ครับ
ทุกท่านคงเคยรับประทาน "สุกี้" กันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในภัตตาคาร หรือร้านอาหารตามสั่ง แต่ไม่ทราบว่าใครจะเป็นเหมือนผมไหมครับ ที่คิดว่าสุกี้พี่ไทย มันก็คือกันกับ "สุกี้ยากี้" ของญี่ปุ่น บ้านพี่เมืองน้องเรานี่เอง (อันนี้ผมตั้งให้เอง จากเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น อย่าได้คิดนินทาใคร เพราะจะมีคนไทยให้เราประสบพบเจอทุกๆ 100 เมตร)
มาโป๊ะแตกตอนที่ได้ดูภาพยนตร์จีนชุดเรื่องหนึ่ง (หลายท่านคงลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่งบ้านเมืองเราเคยถูกยึดหน้าจอจากภาพยนตร์จีนชุดของฮ่องกง ก่อนที่จะกลายมาเป็นซีรีส์เกาหลีอย่างทุกวันนี้)
ในเรื่องพระเอกบอกกับเพื่อนว่า จะเปิดร้านสุกี้ อาหารไทยที่ิฮิตมาก...!
ผมเลยไปสืบต่อ ข้อมูลก็ได้มาหลากหลาย พอจะเชื่อมโยงมาเล่าต่อได้ว่า วิธีการปรุงอาหารแบบลวกต้มนี้ มีในหลายชนชาติ "สุกี้ยากี้" (จริงๆน่าจะออกเสียง "สุกิ"(พลั่วขุดดิน) + "ยากิ"(เนื้อวัว) ตามที่มาที่เริ่มจากการทำเนื้อให้สุกบนพลั่ว!) เป็นอาหารลวกต้มแบบหนึ่งของญี่ปุ่น แตกต่างเล็กน้อยจาก "ชาบู" หรือ "นาเบะ" ต่อมาชาวญี่ปุ่นและชาวจีนในไทย ได้ทำสุกี้ยากี้ด้วยวัสดุและวัตถุดิบที่มีในประเทศ ทำมาทำไป ปรุงไปปรุงมา กลายมาเป็นอาหารแบบไทยๆ ห่างไกลจากต้นตำหรับไปทุกที แม้จะมาจากต่างชาติแต่ก็เป็นต่างชาติที่กลายเป็นคนไทยไปแล้ว เริ่มฮิตก็เริ่มทำตามกัน พริก มะนาว กระเทียม ได้ให้สัญชาติไทยกับอาหารนี้ไป และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "สุกี้" ตามพี่ไทยที่ชอบเรียกอะไรสะดวกปาก (เหมือนตัว W ที่มีชาติเดียวในโลกที่อ่านว่า "ดับบลิว")
จากอาหารมาถึงเครื่องปรุงรส ผมไม่เคยนึกว่า บางสิ่งที่ไม่น่ามีปัญหา มันจะสร้างปัญหาให้ผมได้มากเพียงนี้ สิ่งนั้นคือ "จิ๊กโฉ่ว"
แค่ชื่อก็บ่งบอกว่ามาจากจีน แต่พอไปทานติ่มซัมที่ฮ่องกง เมื่อผมถามหาจิ๊กโฉ่วขึ้นมา ปัญหาจึงบังเกิด ไม่มีใครรู้เรื่องว่าผมอยากได้อะไร แล้ว "จิ๊กโฉ่ว ชาลเลนจ์" (Challenge) จึงตามติดผมไปหลายมุมโลก จีนใหญ่ ยุโรป อเมริกา หาได้มีใครรู้จักเจ้าซอสดำอันนี้เลย (มีคนแนะนำให้สั่ง Black vinegar แต่ผมว่ารสชาติก็ต่างจากจิ๊กโฉ่วบ้านเราแบบแยกออก) กว่าจะมาถึงบางอ้อก็ที่สิงคโปร์ มีผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งพาไปทานอาหาร แม้เป็นชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน แต่ก็พูดได้หลายภาษา เข้าใจหลายวัฒนธรรม ได้ทราบจากท่านว่า จิ๊กโฉ่วที่ผมตามหา ที่นี่เรียกว่า "โอโฉ่ว" หรือ ให้ขอ "ซู่" เวลาไปถิ่นที่คนพูดภาษาจีน (ซู่นี่มีหลากหลายชนิดมากในจีน)
แต่หลังๆมานี่ เจ้าถิ่นหลายที่ก็เริ่มเรียนรู้ภาษาของเค้าแบบไทยๆ เช่นเวลาไปฮ่องกง สั่งปาท่องโก๋ สมัยก่อนเราจะไม่ได้มา ถ้าได้ก็จะไม่ใช่ปาท่องโก๋อย่างที่เราต้องการ อันนี้คงมาจากการเรียกผิดมานานจนกลายเป็นถูกในบ้านเรา แต่ตอนนี้นอกจากจะได้ปาท่องโก๋แบบไทยๆแล้ว เค้าอาจจะถามกลับด้วยภาษาชาวเราว่า "เอาอีกไหม" เป็นการเรียนรู้ลูกค้าได้สมกับที่เป็นผู้มีเลือดค้าขายไหลวน
อีกเรื่องที่คาใจ ไม่ทราบว่าท่านๆเรียกสี "บรอนซ์" ว่าสีอะไรในภาษาไทยครับ?
เวลาเราแข่งกีฬา จะได้เหรียญ ทอง เงิน และทองแดง ซึ่งก็คือ Gold Silver และBronze
แต่เวลาผมอ่านประกาศขายรถ เราจะเรียกรถ"สีเงิน"ว่า รถ"สีบรอนซ์"?
จริงๆ เรารู้จักบรอนซ์มานาน และเรียกแบบไทยว่า "สำริด" หรือ "สัมฤทธิ์" เป็นโลหะผสมจากทองแดงกับดีบุก(อาจเป็นโลหะอื่นแต่ไม่นิยมเท่าดีบุก) สีของบรอนซ์จะออกแดงหรือเหลืองตามแต่สัดส่วนแร่ธาตุที่ผสมลงไป แต่อย่างไรก็ไม่ใช่สีเงินแน่นอน หลังๆผมยังได้เห็นการพัฒนาของสีบรอนซ์ในไทยอีก กลายเป็น บรอนซ์เงิน บรอนซ์ทอง อันนี้ไม่ทราบจริงๆว่าเป็นมาได้แต่กาลใด เผื่อท่านใดทราบจะช่วยมาเล่าสู่กันฟัง
อันภาษาต่างชาติที่นำมาพรางจนกลายเป็นไทยประดิษฐ์นี้ มีทั้งแบบที่ความหมายห่างไกลจากต้นฉบับไปเลย หรือแค่เรียกเพี้ยนจนเจ้าของภาษาฟังไม่รู้เรื่อง ด้วยความที่มุ่งมั่นจะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด วันนั้นเรียกแท๊กซี่ พอรถจอดผมก็เปิดประตูบอกลุงคนขับ
"ไปเซ็นทรอล"(กรุณากระดกลิ้นเล็กน้อยเวลาอ่าน) ลุงคนขับนิ่ง
"ไปเซ็นทรอลครับ" ลุงหายนิ่ง แล้วทำหน้างง ว่าจะไปไหน
"ไปเซ็นทรอลครับ" ลุงหายงง แล้วถามกลับ "ไปไหนนะ?"
"ไปเซ็นท่านครับ" แค่นั้นแหละ ลุงก็พาเราไปยังจุดหมายได้เลย
Thai Camo
โฆษณา