27 ก.พ. 2021 เวลา 14:53 • ประวัติศาสตร์
ไปดูประวัติของ "ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ท่านแรกของสยาม และญี่ปุ่นแล้ว มีความน่าสนใจไม่น้อยครับ
พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ ค.ศ.1865-1956) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านแรกของสยาม กับเคาน์ (伯爵 บรรดาศักดิ์ของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ อ่านว่า "ฮาขุชะขุ" เทียบได้กับบรรดาศักดิ์ count, earl ของอังกฤษ) โยชิคาวะ อากิมาสะ (芳川顕正 ค.ศ.1842-1920) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (内務次官 ไนมุจิคัน) ท่านแรกของญี่ปุ่นในยุคการปฏิรูปเมจิ ทั้งสองท่านมีภูมิหลังคล้ายคลึงกัน คือเป็นคนหนุ่มในปลายยุคศักดินาเก่าที่มีโอกาสได้เรียนวิชาการสมัยใหม่ของโลกตะวันตก กล่าวคือนายเส็ง (พระยามหาอำมาตย์ฯ) ได้เริ่มเข้ารับราชการในกรมแผนที่ ซึ่งเป็นส่วนราชการใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1885 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเจมส์ ฟิตซ์รอย แมคคาร์ที (James Fitzroy McCarthy) นักสำรวจรังวัดและนักทำแผนที่ชาวไอริช เป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของสยาม ซึ่งนายเส็งได้เข้ารับราชการในกรมแผนที่ในช่วงที่นายเจมส์ (หรือต่อมาจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล) เป็นเจ้ากรมแผนที่ จึงมีโอกาสได้เรียนวิชาการแผนที่สมัยใหม่ของตะวันตก ส่วนนายโยชิคาวะก็มีโอกาสได้เรียนวิชาแพทย์สมัยใหม่แบบตะวันตก รวมทั้งภาษาอังกฤษที่เมืองนางาซากิในช่วงปลายยุคเอโดะ ซึ่งการที่คนทั้งสองมีโอกาสได้เรียนทั้งภาษาอังกฤษและวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก จะทำให้พวกเขามีต้นทุนสำคัญสำหรับการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในเวลาต่อมา
ชีวิตราชการของนายเส็ง และนายโยชิคาวะ ส่วนใหญ่จะเติบโตในราชการส่วนกลาง ในยุคของการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยของสยามและญี่ปุ่น โดยนายเส็งเริ่มรับราชการในกรมแผนที่ จากนั้นได้โอนมายังกระทรวงมหาดไทยในปี ค.ศ.1892 ซึ่งเป็นช่วงแรกก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยพอดี และได้เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของสยามพระองค์แรก เนื่องจากกรมดำรงทรงเล็งเห็นถึงความสามารถของขุนนางหนุ่มผู้นี้ว่าจะสามารถเป็นกำลังสำคัญต่อไปในการปฏิรูปประเทศได้ โดยนายเส็งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งพนักงานวิเศษ เลขาธิการหอพระสมุดวชิรญาณ บรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ผู้บัญชาการกรมไปรษณีย์โทรเลข รักษาราชการแทนเจ้ากรมราชโลหกิจ แล้วได้เป็นราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1898-1913 หลังจากนั้นยังได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อุปราชมณฑลภาคตะวันตกและสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี และผู้บัญชาการกองเสนาตะวันตก เช่นเดียวกับนายโยชิคาวะ ซึ่งได้พบกับอิโต ฮิโรบุมิ (伊藤博文) ซามูไรจากแคว้นโชชู ในขณะที่เขาเรียนวิชาแพทย์ที่นางาซากิ อิโตผู้นี้ซึ่งภายภาคหน้าจะกลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นให้ทันสมัยในยุคการปฏิรูปเมจิ และจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่อีกด้วยนั้น ได้มองเห็นถึงความสามารถของชายหนุ่มผู้นี้ ดังนั้นเมื่อโค่นล้มระบอบโชกุนลง ญีปุ่่นได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการสร้างชาติให้ทันสมัยในสมัยเมจิแล้ว อิโตจึงได้เสนอให้โยชิคาวะเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังของญี่ปุ่น (大蔵省) ในปี ค.ศ.1870 ช่วงยุคต้นของการปฏิรูปเมจิ จากนั้นอิโตยังได้ให้โยชิคาวะติดตามเขาไปศึกษาดูงานระบบการเงินการคลังภาครัฐของสหรัฐอเมริกาในปีต่อมา (ค.ศ.1871) เมื่อกลับมาญี่ปุ่นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักการพิมพ์ธนบัตร (紙幣頭) ของญี่ปุ่น ต่อมาในปี ค.ศ.1882 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (東京府知事) จนกระทั่งในปี ค.ศ.1886-1890 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรกของญี่ปุ่น ในยคุที่จอมพลยามางาตะ อาริโทโมะ (山県有朋) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (内務大臣 ไนมุไดจิน) ในรัฐบาลชุดแรกของอิโต ฮิโรบุมิ โยชิคาวะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของจอมพลยามางาตะในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการปฏิรูปการปกครองและการพัฒนาภายในประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นอย่างมาก จึงเป็นที่ไว้วางใจของจอมพลยามางาตะอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่เมื่อยามางาตะได้รับตำแนห่งนายกรัฐมนตรี คนที่สามของญี่ปุ่นแล้ว โยชิคาวะก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (文部大臣) และได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจรวบรวมและเรียบเรียง "รวมพระบรมราชโองการและพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษา" (教育ニ関スル勅語) ของจักรพรรดิเมจิ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างมากของญี่ปุ่น ภายหลังโยชิคาวะยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไปรษณีย์โทรเลข (逓信大臣) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธานสภาองคมนตรี (枢密院副議長) และสมาชิกวุฒิสภา (貴族院議員)
ดูเหมือนว่าบั้นปลายชีวิตราชการของทั้งสองท่านก็ไม่ค่อยจะสดใสนัก โดยพระยามหาอำมาตย์ฯ หรือนายเส็ง มีปัญหาเรื่องความไม่ค่อยเข้าใจและไม่ใส่ใจในธรรมเนียมแบบแผนของราชสำนัก อาจเพราะความเป็นขุนนางรุ่นใหม่ในยุคของการปฏิรูปประเทศ ท่านจึงมุ่งเน้นใส่ใจกับแนวคิดหลักวิชาสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเสียมากกว่า ชีวิตราชการของท่านจึงสะดุดอยู่แค่ปลัดทูลฉลองและบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา ไม่อาจขึ้นถึงเสนาบดีมหาดไทยเต็มตำแหน่ง (ได้แค่เป็นรองเสนาบดีและผู้รั้งเสนาบดี) และไม่ได้บรรดาศักดิ์ถึงเจ้าพระยา ส่วนโยชิคาวะเองในบัั้นปลายชีวิตราชการก็เจอข่าวฉาวเรื่อง "ผิดแบบแผนประเพณี" คล้ายกับพระยามหาอำมาตย์ฯ แต่ผู้ตกเป็นข่าวคือคามาโกะ (鎌子) บุตรสาวของเขา ซึ่งมีข่าวลือว่ามีชู้กับคนขับรถ ทั้งที่ตอนนั้นเธอเป็นภรรยาของโยชิคาวะ คันจิ (芳川寛治 สกุลเดิมของเขาคือโซเน 曾禰 เป็นนักธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นสมัยนั้น เมื่อแต่งงานกับบุตรสาวของโยชิคาวะ อากิมาสะแล้ว เขาได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลตามพ่อตาของตน กลายเป็นบุตรชายบุญธรรมของอากิมาสะควบตำแหน่งบุตรเขยด้วย) เรื่องนี้กลายเป็นข่าวฉาวใหญ่โตจนทำให้โยชิคาวะอับอายมาก ถึงขั้นต้องลาออกจากตำแหน่งทางราชการและการเมืองในปี ค.ศ.1917
นี่คือเรื่องราวโดยสังเขปของ "สองปฐมปลัดกระทรวงมหาดไทย" ผู้วางรากฐานการปกครองและการพัฒนาพื้นที่ส่วนภูมิภาคของสยาม(ไทย) และญี่ปุ่น ในยุคของการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในคริสตศตวรรษที่ 19 ครับ
3.บทความวิชาการ เรื่อง "การปกครองของสยามก่อนการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.2435" ของ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ใน "วารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2559)
ส่วนที่เกี่ยวกับโยชิคาวะ
1.https://ja.wikipedia.org/wiki/%E8%8A%B3%E5%B7%9D%E9%A1%95%E6%AD%A3 (ประวัติของโยชิคาวะ)
2.https://www.ndl.go.jp/portrait/datas/471.html (ประวัติของโยชิคาวะ)
3.https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%86%85%E5%8B%99%E5%A4%A7%E8%87%A3_(%E6%97%A5%E6%9C%AC) รายนามเสนาบดี/รัฐมนตรีมหาดไทยของญี่ปุ่น
4.https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%86%85%E5%8B%99%E6%AC%A1%E5%AE%98 รายนามปลัดกระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่น
โฆษณา