มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันอับหนึ่งของ โรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรวมทั้ง 2 เพศ มักเกิดในคนอายุ 30-70 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 -3 เท่า
ในบ้านเรา แบ่งมะเร็งตับออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. มะเร็งเซลล์ตับ (hepatoma/hepatocellularCarcinoma/HCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับ) พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี (ทั้งที่เป็นพาหะและผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง) ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเซลล์ตับ
2. มะเร็วท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma/CCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ (biliary tree) ซึ่งพบร่วมกับโรคพยาธิใบไม้ตับ พบมากทางภาคอีสาน ส่วนโรคพยาธิใบไม้ตับ (opisthorchiasis) พบว่ามีซุกชุมทางภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งประชาชนบางส่วนนิยมกินปลาดิบ ๆ และปลาร้า
สาเหตุ
มะเร็งเซลล์ตับ พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุสัมพันธ์ กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ตับแข็ง และการดื่มแอลกอฮอล์จัด นอกจากนี้ยังพบว่าสารอะฟลาท็อกซิน (afla toxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Aspergillus flavus และพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง (โดยเฉพาะถั่วลิสงบด) ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม องุ่นแห้ง ปลาตากแห้ง มันสำปะหลัง แหนม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เป็นต้น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
อาการ
มะเร็งตับ ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ (ยกเว้นในรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อน ก็จะมีอาการของโรคตับแข็ง) เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียดท้อง คล้ายอาการไม่ย่อยบางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงขวาโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้อาการเหล่านี้มักเป็นอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยผู้ป่วยอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอกชายโครงหรืออาหารไม่ย่อย
เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน มีอาการ ปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้ สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต
บางรายอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย
ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (มักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัดคันตามตัว อุจจาระสีซีด
ในรายทีมีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด
การป้องกัน
มะเร็งตับ สามารถป้องกันได้โดย
1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด เพราะอาจทำให้ตับแข็งซึ่งกลายเป็นมะเร็งตับได้ ถ้าตรวจพบพาหะของเชื้อไวรัส ตับอักเสบชนิดบีหรือซีควรงดดื่มโดยเด็ดขาด
2. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบๆ
3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซินเช่น ถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นราสารนี้มีความทนต่อความร้อน ไม่ถูกทำลายแม้จะปรุงด้วยความร้อน
4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีนเช่น อาหารโปรตีนหมักดอง รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ ผสมดินประสิว หากจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารนี้เสียก่อน
5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีตั้งแต่แรกเกิด หรือในกรณีที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัส
6. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรรักษาให้หายขาด
การรักษา
มะเร็งตับ ถ้าสงสัย ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือด (พบระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง) อัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สแกนตับตรวจชิ้นเนื้อตับ
การรักษา ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะแรก (เช่น ตรวจกรองพบโรคนี้ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ) ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออก หรือทำการ ปลูกถ่ายตับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาดได้
#HealthMeNow #มะเร็งตับ #ทางเดินอาหาร