1 มี.ค. 2021 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 1 มี.ค. 64
ภาพจาก Investing.com
ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความคาดหวังว่าเงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงมากขึ้นทั่วโลก หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งแตะ 1.6% ในช่วงท้ายสัปดาห์* ส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
4
วัคซีนโควิด-19 ได้รับการฉีดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีการฉีดวัคซีนไปแล้วราว 228 ล้านโดส - ภาพจาก Ourworldindata.org/covid-vaccinations
ตลาดสหรัฐฯ ถูกกดดันจาก Bond Yield พันธบัตร อายุ 10 ปีที่เร่งตัวแตะระดับสูงสุดก่อนโควิด-19 ที่ 1.6% ก่อนที่จะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ราว 1.4% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดคลายความกังวล นักลงทุนย้ายเงินออกจากกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth) ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ เช่น หุ้นเทคโนโลยี และสุขภาพ เข้าหาหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Value) เช่น พลังงาน และท่องเที่ยว ทำให้ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Nasdaq ติดลบเกือบ -5% ขณะที่สองดัชนีหลัก คือ Dow Jones และ S&P500 ติดลบราว -2% เช่นกัน
2
ระหว่างสัปดาห์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell ออกมาย้ำว่า Fed จะคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันยังสามารถควบคุมได้ แต่คำกล่าวไม่ได้ทำให้ตลาดคลายความกังวลมากนัก อย่างไรก็ตาม ข่าวบวกที่น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นกลับขึ้นมา ได้แก่ การที่สภาผู้แทนสหรัฐฯ ผ่านร่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเตรียมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไร น่าจะได้เห็น ปธน. Biden ลงนามและประกาศงบฯฉบับนี้ภายในวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งงบฯฉบับนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่จะหนุนตลาดในครึ่งปีแรกได้อย่างแน่นอน
4
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนี เฉลี่ย -3.05%, ยุโรป -2.38%, จีน (เซี่ยงไฮ้) -5.06%, ญี่ปุ่น -3.50%, อินเดีย (นิฟตี้ 50) -3.02% และไทย -0.94%
3
ด้านตลาดหุ้นยุโรป ปรับตัวลดลงแรงเช่นเดียวกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) นาย Andrew Haldane ออกมาเตือนว่า ธนาคารกลางควรระมัดระวังสภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในรอบนี้ และควรหามาตรการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ซึ่งทำให้ Bond Yield ของอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น ติดตาม การแถลงงบประมาณประจำปีของอังกฤษในวันพุธ (3 มี.ค.) ซึ่ง รมต.คลัง นาย Rishi Sunak คาดว่า จะมีแผนเพิ่มงบช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีก 5 พันล้านปอนด์ รวมทั้งงบช่วยเหลือธุรกิจที่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้อีก 425 ล้านปอนด์
3
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง Hong Kong Exchange - ภาพจาก CNBC.com
ข้ามมาทางฝั่งเอเชีย ภาพรวมตลาดหุ้นถูกกระทบจากการเร่งตัวของ Bond Yield โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นฮ่องกงที่ถูกข่าวในประเทศกดดันเพิ่มเติม หลังทางการประกาศแผนงบประมาณประจำปี และขึ้นภาษีจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น หรือ Stamp duty จากเดิมที่ 0.10% เป็น 0.13% ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดย รมต.การเงินฮ่องกง นาย Paul Chan Mo-po เชื่อมั่นว่า การขึ้นภาษีจะไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันของฮ่องกง (ทั้งๆที่ตลาดอื่น เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีนี้ !!! )
Mr. เต่า คาดว่า ข่าวนี้จะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นฮ่องกงในระยะยาว เนื่องจากฮ่องกงยังเป็นตลาดที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากต่างชาติและจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้ง การที่บริษัทจีนขนาดใหญ่หลายบริษัท ยังเลือกที่จะจดทะเบียนในฮ่องกงเป็นตลาดที่สอง (Dual listing) เช่น JD.com และ NetEase สะท้อนว่า ฮ่องกงยังเป็นตลาดที่น่าดึงดูดและเป็นทางเลือกที่ดีในการระดมทุนอยู่
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
1
โดย GDP ไตรมาส 4 ของเยอรมนี ขยายตัว +0.3%QoQ ดีกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ GDP สหรัฐฯ +4.1%QoQ น้อยกว่าคาดเล็กน้อย แต่ดีกว่าการประกาศครั้งก่อน, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate Index) เดือน ก.พ. เยอรมนี เร่งตัวขึ้นเป็น 92.4 จุด, เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ม.ค. ยูโรโซน พลิกกลับเป็นบวก +0.9%YoY ตามคาด, ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) เดือน ม.ค. สหรัฐฯ +9.23 แสนหลัง ดีกว่าที่ตลาดคาดค่อนข้างมาก และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือน ม.ค. สหรัฐฯ +1.4%MoM มีเพียงยอดขายบ้านรอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ม.ค. สหรัฐฯ ที่หดตัว -2.8%MoM แย่กว่าคาด
ตัวเลขเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ค่อนข้างเบาบางและคาดว่าจะดีกว่าที่คาดไว้เกือบทั้งหมด จับตาดูดัชนี PMI, การประชุม OPEC+ และตัวเลข Nonfarm Payrolls ดังนี้
(1 มี.ค.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของ เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐฯ (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. คาดว่า จะทรงตัวเทียบกับเดือน ม.ค.
 
(3 มี.ค.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ (ISM Non-Manufacturing PMI) คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ 58.7 จุด + การแถลงงบประมาณประจำปีของอังกฤษ
(4 มี.ค.) การประชุมผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) + ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ได้น่ากังวล
(5 มี.ค.) การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) + อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น +1.65 แสนตำแหน่ง จากเดือนก่อนที่ +4.9 หมื่นตำแหน่ง และอัตราการว่างงานคงที่ที่ 6.3%
ราคาทองคำลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จาก Bond Yield สหรัฐฯทะลุ 1.6% - กราฟจาก CNBC.com
ราคาทองคำ ถูกกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทองคำลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน บริเวณ 1,733 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ทองคำมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในสัปดาห์จากข่าวการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วงสุดสัปดาห์
มลรัฐ Texas ได้รับผลกระทบจากพายุหิมะอย่างหนัก ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดลงชั่วคราว - ภาพจาก people.com/human-interest/winter-storm-texas-snow-photos/?slide=eb22eef3-eddb-4aa7-9fbf-059dfec995f5#eb22eef3-eddb-4aa7-9fbf-059dfec995f5
ราคาน้ำมัน ได้รับปัจจัยบวกจากการที่มลรัฐ Texas สหรัฐฯหยุดการผลิตน้ำมัน เนื่องจากพายุหิมะ ซึ่งกระทบการผลิตน้ำมันราว 40% ของสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเหนือระดับก่อนโควิด-19 ล่าสุด ราคาน้ำมัน WTI และ Brent อยู่ที่ 61.66 และ 64.42 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สัปดาห์นี้ คาดว่า การผลิตน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯจะกลับมาเริ่มผลิตช้ากว่าคาด ทำให้ราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวออกข้าง ไม่ขึ้นหรือลงครับ ติดตาม 2 เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่
1
1.การประชุมผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ในวันพฤหัสบดีที่ 4 มี.ค. นี้ คาดว่าทางกลุ่มอาจเพิ่มการผลิตน้ำมัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้ ผมมองว่า ราคาน้ำมันอาจมีการพักตัวชั่วคราว ไม่ได้ขึ้นได้แรงเหมือนกับสัปดาห์ก่อนครับ
1
และ 2. การแถลงท่าทีของ ปธน. สหรัฐฯ นาย Joe Biden ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุฯ หลังจากที่มีข่าวว่ามกุฏราชกุมาร Mohammed bin Salman มีส่วนในการสั่งฆ่านาย Jamal Khashoggi นักข่าวที่วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุฯ ที่ตุรกี เมื่อปี 2018
4
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ Mr.เต่า มองว่า ตลาดจะเคลื่อนไหวรอดูความคืบหน้าวุฒิสภาพิจารณางบกระตุ้นของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ วุฒิสภามองว่างบก้อนนี้ใหญ่เกินไป ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องปรับขนาดหรือเงื่อนไขบางอย่างแล้วส่งคืนให้สภาผู้แทนฯพิจารณาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทิศทางตลาด “จะดูเป็นบวกมากขึ้น”
แนะนำทยอยลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเข้าพอร์ตได้ครับ ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมัน จะเคลื่อนไหวตามทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า จะยังถูกกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าในสัปดาห์นี้
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
1
*อ่านบทความ “Flash : Yield Bond แตะ 1.6% ฉุดหุ้นเทคฯทั่วโลกลงหนักเมื่อวาน” เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3uyypcN
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “POLITICS - Biden administration to make announcement about Saudi Arabia Monday as White House reviews ties” – CNBC.com
“House passes $1.9 trillion Covid relief bill, sends it to Senate” – CNBC.com
“Trading tax hike won’t harm competitiveness of Hong Kong’s stock market, says financial secretary” – CNBC.com
โฆษณา