28 ก.พ. 2021 เวลา 07:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หลังจากต้นปีที่ผ่านมา เราก็ได้เข้าสู่ช่วงเวลากระตุกจิตกระชากใจที่ได้ไปเข้าเทรดที่ตลาดคริปโต (Cryptocurrency) ทำให้ผู้คนมากมายได้กำไรจากส่วนต่างที่มาจากการซื้อขายหรือ Capital gain แต่เหรียญมันก็ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว เราก็จะเห็นบางคนที่อยู่ในช่วงขาดทุน
คราวนี้หลายๆคนที่เริ่มศึกษาในเรื่อง Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิตอล ก็มักจะได้ยินในเรื่องของเทคโนโลยีที่เอาไว้ใช้ในการพัฒนาเหรียญต่างๆ นั่นก็คือ Blockchain หรือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT : Distributed Ledger Technology) ซึ่งเทคโนโลยีนี้เอาไว้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาจากระบบกระจายศูนย์กลาง หรือ Centralization หรือระบบธนาคารในปัจจุบันที่เราไปทำธุรกรรมนั่นเองครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตัวอย่างเช่น ความน่าเชื่อถือของทางธนาคารที่เราไปทำธุรกรรมด้วย ถ้าหากธนาคารที่เราไปฝากเงินล้มละลาย เงินต้นที่เรานำไปฝากไว้ก็อาจจะไม่ได้คืนมาทั้งหมด อีกตัวอย่างก็เป็นในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินที่เราต้องจ่ายเพิ่มอีก และสุดท้ายก็คือความรวดเร็วในการโอนชำระค่าบริการในต่างประเทศที่ล่าช้า
ทางเทคโนโลยี Blockchain ก็นำปัญหานี้มาแก้ โดยการให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้ที่สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ซะเองเลย จึงทำให้ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง และทำให้เราสามารถที่จะตรวจสอบหลักฐานการโอนเงิน และสามาร ถรับเงินโอนไปมาได้จากนอกประเทศภายในอย่างน้อย 10 นาที! โดยที่ Cryptocurrency ดัง ๆ ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ เช่น Bitcoin แต่พอมาในปัจจุบัน มูลค่าของบิทคอยน์ก็ผันผวนขึ้นเรื่อย ๆ (ณ เวลาปัจจุบันที่ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ก็ราคาตกจาก All-time high ณ ปัจจุบัน ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาทเป็น 1.4 ล้านบาทแล้ว) จึงทำให้อาจจะมีบางคนที่มีความเชื่อถือในระบบ Blockchain แต่ก็อยากรักษามูลค่าของเงินที่เราถือเอาไว้
ทางธนาคารกลาง (Central Bank) ทั่วโลกก็จึงได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำBlockchain มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และยังสามารถรักษามูลค่าได้อีกด้วย ซึ่ง CBDC ก็เข้าข่ายในคุณสมบัติของความเป็นเงินอย่างครบถ้วน
โดยคุณสมบัติความเป็นเงิน มีดังนี้
1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือมีมูลค่ามั่นคง และ
3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ
หรือเรียกง่าย ๆ ว่า CBDC ก็เป็นเหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นในรูปแบบ "ดิจิทัล"
โดย CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ
1) สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และ
2) สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)
แล้วคราวนี้มาเปรียบเทียบความแตกต่างในส่วนของ CBDC กับ Stable coin กันบ้าง
โดย Stable coin ก็คือ Cryptocurrency ชนิดหนึ่งที่มุ่งหวังว่าจะถูกนำมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตามเงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่มีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน (เช่น ทองคำ) ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง ซึ่งจะต่างก็ตรงที่ทาง CBDC มีคุณสมบัติความเป็นเงินได้อย่างครบถ้วน ซึ่งต่างจาก Stable coin
แล้วคราวนี้ CBDC มีจะมีบทบาทในประเทศไทยไหม?
- ในอนาคต บทบาทของสกุลเงินดิจิตัลจะมีบทบาทมากขึ้น และมีโครงการการพัฒนาระบบ DLT กับสถาบันทางการเงินทั้ง 8 แห่ง ที่มีชื่อว่า "โครงการอินทนนท์" โดยสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
โดยการเงินนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ที่เรานั้นจำเป็นต้องใช้เงินในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่เราได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเงินในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็เป็นในเรื่องของดิจิทัล และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันนั่นเองครับ
โฆษณา