3 มี.ค. 2021 เวลา 15:09 • ครอบครัว & เด็ก
รอบรู้ฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ คำคุ้นหูที่ทุกคนรู้ว่าช่วยป้องกันฟันผุ แต่ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้อย่างไรนั่น เป็นเรื่องซับซ้อนมาก เรื่องราวของฟลูออไรด์กับการป้องกันฟันผุพอจะสรุปให้สั้นๆ ง่ายๆ ดังนี้
ฟลูออไรด์ เป็นสารประกอบไอออนิกที่ได้จากฟลูออรีน (Fluorine) สามารถพบได้ตามแหล่งต่างๆ เช่น ในดิน หินแร่ แหล่งน้ำ และในอาหารบางชนิด ก็พบว่า มีฟลูออไรด์ โดยเฉพาะอาหารทะเล ผักบางชนิด เช่น กุยช่าย ใบชา มะละกอ แครอท กะหล่ำปลี นม และน้ำดื่มที่ผลิตจากน้ำบาดาลในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารประกอบของฟลูออไรด์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมผลิตโลหะ ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช ผลิตกระจก เลนส์ เป็นต้น และเกลือฟลูออไรด์ที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันฟันผุ โดยอยู่ในรูปของยาเม็ด ยาน้ำ วิตามิน ยาสีฟัน และน้ำยาอมบ้วนปาก เป็นต้น
แล้วฟลูออไรด์มาเกี่ยวข้องกับการป้องกันฟันผุได้อย่างไร
ย้อนกลับไปปีค.ศ. 1916 มีรายงานการสังเกตุพบว่า คนที่อาศัยในแถบรัฐโคโลราโด อเมริกา มีรอยสีน้ำตาลบนฟัน(Colorado stain ) มีการหาสาเหตุ จนปี ค.ศ.1930 จึงพบว่า ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำเป็นสาเหตุของความผิดปกตินี้ เรียกว่า "ฟันตกกระ" และ ยังพบอีกว่าประชากรมีอัตราฟันผุที่น้อยกว่าในพื้นที่อื่นๆ ช่วงแรกสมาคมทันตแพทย์อเมริกา(ADA) ห้ามการเติมฟลูออไรด์ลงในยาสีฟัน จนกระทั่งปี ค.ศ.1945 จึงให้การรับรองว่า ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุและแนะนำการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำประปา มีการศึกษาหาปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดฟันตกกระคือ ปริมาณฟลูออไรด์ 0.7-1.2 ppm.(part per million หรือ มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร USEPA(United State Environment Protection Agency)กำหนดให้ฟลูออไรด์ ในน้ำประปาอยู่ที่ 1 ppm. และในปี ค.ศ.1958 ADA(American Dental Associate)ให้การรับรอง ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ของบริษัท Crest เพื่อเน้นการป้องกันฟันผุ จนแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
กระทั่งในปี ค.ศ.2015 กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐ (U.S. Department of Health and Human Services) ได้ออกประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่เหมาะสมสำหรับการเติมลงในน้ำประปาชุมชนเพื่อป้องกันฟันผุและลดความเสี่ยงในการได้รับฟลูออไรด์ส่วนเกินไว้ที่ 0.7 ppm. ให้เป็นมาตรฐานปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานของความเข้มข้นนี้ เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่ได้รับฟลูออไรด์ได้จากหลายแหล่ง อย่างเช่น ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน หรือจากน้ำประปา จากอาหาร เครื่องดื่ม และยาสีฟัน
แสดงร้อยละของฟลูออไรด์ที่ร่างกายได้รับจากแหล่งต่างๆตามช่วงวัย จะเห็ยว่าในวัย1-4 ขวบเด็กได้รับฟลูออไรด์จากยาสีฟันมากกว่าช่วงอายุอื่น จากการกลื่นที่ยังไม่สมบูรณ์
ฟลูออไรด์ในผลิตภัณฑ์ป้องกันฟันผุจะมาในรูปของสารประกอบฟลูออไรด์หลายรูปแบบ เช่น โซเดียมฟลูออไรด์ โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต
สแตนนัสฟลูออไรด์ เอไมด์ฟลูออไรด์
รูปจำลองโครงสร้างฟลูออไรด์ในรูปแบบต่างๆ
มีการนำมาใช้ป้องกันฟันผุในสองรูปแบบคือแบบหวังผลทางระบบโดยการรับประทาน +ดูดซึมเข้ากระแสเลือด (Systemic ) และ แบบหวังผลเฉพาะที่โดยการทาเคลือบเฉพาะที่ในช่องปาก-ฟัน แล้วบ้วนทิ้ง (Topical) ซึ่งแยกย่อยเป็นแบบความเข้มข้นสูงต้องให้หมอฟันเป็นคนทา เคลือบให้ กับแบบความเข้มข้นต่ำคนทั่วไปซื้อใช้เองได้
 
1.แบบรับประทาน เมื่อร่างกายได้รับฟลูออไรด์จากการกินอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ยาเม็ดฟลูออไรด์ นมผสมฟลูออไรด์ น้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์ น้ำชา ผักกุยช่าย อาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ร่างกายจะดูดซึมฟลูออไรด์เข้าสู่กระแสโลหิต และนำไปสะสมที่กระดูก และฟัน(กรณียังมีการสร้างฟันอยู่) และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ
หลังจากกินยาเม็กฟลูออไรด์ 30นาที จะดูดซึมเข้าร่างกายระดับ plasma fluoride จะสูงขึ้น และค่อยๆ ลงลง จากบางส่วนไปสะสมในกระดูก และน้ำลาย ฟัน ส่วนเกินจะขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ
หากความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่ไปสะสมในฟันที่กำลังสร้างเหมาะสม จะทำให้เกิดผลึกของฟันที่แข็งแรงขึ้น ต้านทานต่อกรดได้ดีขึ้น ผุยากขึ้น แต่หากมากเกิน จะเกิดความผิดปกติในการสร้างผิวเคลือบฟัน เกิดเป็นฟันตกกระ(dental fluorosis)ความผิดปกติมีได้ตั้งแต่ รอยขาวขุ่นเล็กๆ ไปจนถึงสีน้ำตาลผิวฟันขรุขระ โดยUSEPAกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ ที่ได้รับโดยไม่เกิดฟันตกกระคือไม่เกิน 0.06 mg fluoride/kg/day ในผู้ใหญ่ และ ไม่เกิน 0.01mg fluoride/kg/day ในเด็กอายุไม่เกินหกเดือน การได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบกินอาจก่อให้เกิดปัญหาในบางกลุ่มเช่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต นอกจากนี้ยังอ้างอิงผลการศึกษาต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพอาทิเช่น ระดับความเข้มข้นของฟลูออไรด์มีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยในด้านของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ พัฒนาการบกพร่องทางสมองของทารก ไอคิวที่ลดลงในเด็ก และความผิดปกติของกระดูก ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่มีกลุ่มที่ต่อต้านการใช้ ฟลูออไรด์อยู่เช่น http://fluoridealert.org/mobile-home/ การศึกษาช่วงหลังๆพบว่าการให้ฟลูออไรด์ แบบ systemic ให้ผลในการป้องกันผุได้น้อยและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงไปเน้นการใช้ฟลูออไรด์แบบทาเคลือบ ที่ได้ผลขัดเจนกว่า
ฟลูออไรด์ที่ดูดซึมเข้าร่างกายจากยาเม็ดฟลูออไรด์ อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ
2. แบบทาสัมผัสเฉพาะที่ (topical) แบบนี้จะทาหรือเคลือบสารประกอบฟลูออไรด์ไปบนผิวฟันแล้วบ้วนทิ้งเมื่อครบเวลาแบ่งเป็น
*กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีฟลูออไรด์ความเข้มข้นต่ำ คนทั่วไปสามารถหาซื้อและใช้ได้เองอย่างปลอดภัย เช่นน้ำยาบ้วนปาก และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
*กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของฟลูออไรด์สูง ออกแบบมาให้ใช้โดยหมอฟัน ต้องมีขั้นตอนและขบวนการเพื่อความปลอดภัย เช่น การเคลือบฟลูออไรด์เจล การทาฟลูออไรด์วานิช ที่ทาแล้วจะเกาะติดแน่นบนผิวฟัน และจะค่อยๆ หลุดออกไปจากการพูด ดื่ม กินอาหาร
ฟลูออไรด์กลุ่มทาเคลือบ เน้นการซึมเข้าผิวหรือสะสมในช่องปาก เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ
กลไกการทำงานที่ช่วยลดฟันผุของฟลูออไรด์
 
1. ฟลูออไรด์ช่วยชะลอการย่อยสลายของแร่ธาตุ และเสริมกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนผิวฟัน ยับยั้งการผุของฟัน แต่การยับยั้งการผุของฟันด้วยฟลูออไรด์นั้น กระทำได้เฉพาะการผุที่ผิวเคลือบฟัน ระยะแรกๆ เท่านั้น หากมีการลุกลามเป็นรูผุชัดเจน จะต้องทำการรักษา โดยการอุดฟัน
2.ฟลูออไรด์จะช่วยเพิ่มความต้านทานต่อกรด ให้แก่เคลือบฟัน หากได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่เหมาะสมโดยการกิน ในช่วงที่มีการสร้างฟัน จะทำให้ฟันผุยากขึ้น
3.ฟลูออไรด์จะรบกวนการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ ขัดขวางการย่อยอาหาร ประเภทแป้งและน้ำตาล ลดการเกิดกรด ทำให้ลดโอกาสเกิดฟันผุได้
ฟลูออไรด์ความเข้มข้นต่ำเช่นจากการแปรงฟัน จะแตกตัวเป็น ฟลูออไรด์ไอออน แทรกซึมเข้าในน้ำลายและ คราบจุลินทรีย์ หากสภาวะในช่องปากเป็นกรด pH ต่ำกว่า 5.5 ผิวฟันจะเริ่มสลายตัว ฟลูออไรด์จะเข้าไปจับกับแคลเชี่ยมและฟอสเฟต กลายเป็นผลึก Fluorohydroxyapatite/Fluoroapatite ที่แข็งแกร่งขึ้นและทนกรดได้มากกว่าผิวฟันปกติ(hydroxyapatite) กลับคืนสู่ผิวฟัน เมื่อสภาวะความเป็นกรดถูกปรับตัวเข้าภาวะปกติ ผิวฟันจะหยุดการสลายตัว มีอัตราการละลายของผลึกเท่ากับอัตราการสร้างผลึก หากมีฟลูออไรด์ก็จะเกิดการสร้างผลึก hydroxyapatite ที่แข็งแรงบนผิวฟันอย่างต่อเนื่อง หากมีสภาวะเป็นกรดเกิดขึ้นอีก ผิวฟันจะไม่เกิดการสลายตัวถ้า pH ไม่ลดลงต่ำถึง 4.5 หลังการแปรงฟัน หากมี ฟลูออไรด์ในน้ำลายสูงกว่า 100 ppm.จะมีฟลูออไรด์อีกส่วนหนึ่งจับกับแคลเซี่ยมในน้ำลาย กลายเป็น แคลเซี่ยมฟลูออไรด์ สะสมอยู่บนเนื้อเยื่อช่องปาก ฟัน และคราบจุลินทรีย์ ทำหน้าที่เป็นแหล่งฟลูออไรด์สำรอง ค่อยๆปล่อย ฟลูออไรด์ออกมาช่วยลดความเป็นกรดของคราบจุลินทรีย์(plaque)ลงได้ และช่วยในขบวนการเติมแร่ธาตุกลับคืนสู่ผิวฟัน ทำให้มีฟลูออไรด์อยู่ในน้ำลายอีกหลายชั่วโมงหลังแปรงฟัน โดยฟลูออไรด์ระดับต่ำ ๆ แต่ได้รับบ่อยๆ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ โดยไม่ก่อให้เกิดพิษ ผลกระทบจากการได้รับฟลูออไรด์เกินกับร่างกาย นี่เป็นเหตุผลให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1,000-1,500 ppm.วันละสองครั้งจึงเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยในการช่วยป้องกันฟันผุอย่างได้ผล
หลังจากแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1000 ppm ระดับฟลูออไรด์ในน้ำลายจะสูงขึ้นทันทีและค่อยๆ ลดลง อย่างรวดเร็วใน 30นาทีหลังจากนั้นจะลดลงอย่างช้าๆ จนกลับสู่ระดับปกติ
กลไกการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์
กรณีฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง ระดับ หลายพันถึงหมื่น ppm เช่น การเคลือบฟลูออไรด์ NaF 2% จะเกิดการตกตะกอนของ เกลือแคลเชี่ยมฟลูออไรด์เป็นชั้นบางๆ บนผิวฟัน หรือแทรกซึมเข้าผิวฟันในสภาวะเป็นกรด ซึ่งสามารถละลายผลึกฟันเดิม และสร้างเป็นผลึก hydroxyapatite ที่แข็งแรงกว่าคืนสู่ผิวฟันได้ เช่น APF gel1.23 % แต่ผลึกที่เกิดขึ้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป มีการละลายตัวจึงต้องมีการเคลือบซ้ำตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสมขึ้นกับชนิดของฟลูออไรด์
ยิ่งความเข้มข้นของFluoride สูงขึ้น จะเกิดชั้นของสารประกอบฟลูออไรด์ที่แข็งแรงและหนาแน่นขึ้นบนผิวฟัน ใช้ในการป้องกันรักษาในบางโรค เช่นป้องกันฟันผุที่รากฟัน หรือฟันถูกกัดกร่อนจากกรด
การใช้ฟลูออไรด์ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเพราะหากร่างกายได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดจะเกิดปัญหาตามมาทั้งแบบเรื้อรัง และเฉียบพลันขึ้นกับขนาดความเข้มข้นของฟลูออไรด์ และระยะเวลาความต่อเนื่องที่ได้รับ เช่น ในเด็กหากได้รับ ฟลูออไรด์เกินระดับต่ำ จะส่งผลให้เกิด ฟันตกกระ หากได้รับมากเกินในปริมาณมากและต่อเนื่องเกิดกระดูกเปราะ ปวดกระดูก กระดูกหัก คลื่นไส้ อาเจียน และอาจถึงตายได้ หากได้รับปริมาณมากๆในครั้งเดียว
ภาพแสดงความสัมพันธ์ของความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในน้ำดื่มกับการเกิดฟันตกกระ และการลดลงของค่า DMFT ช่วงที่เหมาะสมคือ 1.5-1.8 ppm.คือลดอัตราฟันผุ (DMFT) ได้ดีและฟันยังไม่ตกกระโซนสีเหลือง)
หากได้รับฟลูออไรด์เกิน จะทำให้เกิดฟันตกกระ ยิ่งได้รับมากก็เสียหายมาก
การให้ฟลูออไรด์เสริมในรูปยาเม็ด หรือการทำการเคลือบฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง จึงต้องพิจารณาให้ดี และอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ ทำเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่นเป็นกลุ่มเสี่ยงกับฟันผุสูง ผู้ป่วยกลุ่มที่มีน้ำลายน้อย ในกลุ่มที่ดูแลฟันดีอยู่แล้ว ความเสี่ยงต่อฟันผุต่ำ การแปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ให้ผลในการป้องกันฟันผุที่เพียงพอแล้ว การเคลือบฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงก็ไม่ได้ลดอัตราฟันผุลงอีก นอกจากนี้การเคลือบฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงจะมีฟลูออไรด์บางส่วนที่บ้วนออกได้ไม่หมดและกลืนลงท้อง ดูดซึมเข้าร่างกาย เช่นการเคลือบ APF gel 1.23% ปริมาณ 5 ml มีFluoride 61.5 mgF จะมีคงค้างในปาก 2-31 mgF ขึ้นกับชนิดรูปแบบของฟลูออไรด์ ถาด รวมถึงวิธีการเคลือบ ซึ่งจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร เมื่อรวมกับอีกฟลูออไรด์จากแหล่งอื่นเช่นอาหาร เครื่องดื่ม ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์อยู่แล้ว เป็นการยากที่จะรู้ปริมาณฟลูออไรด์ที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน การกลืนกิน ฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงในขณะหรือหลังการเคลือบฟลูออไรด์จึงเสี่ยงต่อภาวะการได้รับฟลูออไรด์เกิน โดยเฉพาะในเด็กเล็กต่ำกว่า 6 ขวบเนื่องจากยังควบคุมการกลืนได้ไม่ดี และหากไม่มีมาตราดูแลการป้องกัน การกลืน กินฟลูออไรด์ระหว่างและหลังเคลือบ การซักประวัติการได้รับฟลูออไรด์จากแหล่งต่างๆ ย่อมไม่สามารถกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ที่ใช้ให้เหมาะสม ย่อมเกิดโทษขึ้นได้ ประเด็นนี้ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับการไปเคลือบฟลูออไรด์ให้เด็กเล็กในโรงเรียนพร้อมกันทีละหลายๆคน ควรเป็นการเคลือบทีละคนและดูแลอย่างใกล้ชิด และทำในเด็กที่ตรวจแล้วว่าเสี่ยงต่อฟันผุสูงตามข้อบ่งชี้เท่านั้น
ฟลูออไรด์ช่วยเสริมการป้องกันฟันผุได้ส่วนหนึ่งประมาณ 20-40% ขึ้นกับชนิดและลักษณะการใช้งาน ไม่ใช่เคลือบแล้วไม่ผุเลย ส่วนที่สำคัญกว่าในการป้องกันฟันผุคือการทำความสะอาด ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ทานอาหารที่เหมาะสม กินเป็นมื้อ ไม่กินบ่อย ลดหรือเลี่ยงอาหารหวานเหนียวติดฟัน หากเลี่ยงไม่ได้ให้กินพร้อมมื้ออาหาร และแปรงฟันหลังจบมื้ออาหาร เพื่อกำจัดเศษอาหารและ คราบจุลินทรีย์ อันเป็นสาเหตุหลักที่แท้จริงที่ทำให้เกิดฟันผุ
การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็กที่เหมาะสม ป้องกันฟันผุ และไม่ทำใฟ้เกิดฟันตกกระ
เหรียญมีสองด้านฟลูออไรด์ก็เช่นกัน การนำฟลูออไรด์มาใช้ในการป้องกันฟันผุ จึงต้องใช้อย่างถูกต้อง หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี เกิดผลเสียตามมาแน่นอน การซื้อยาเม็ดฟลูออไรด์มาให้กินหรือการเคลือบฟลูออไรด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม จะสร้างอันตรายกับเด็กมากกว่าฟันที่สวยงาม
อ้างอิง
Focus on Fluorides: Update on the Use of Fluoride for the Prevention of Dental Caries :Clifton M. Carey, BA, MS, PhD, Professor
Fluoride and Oral Health :D M O'Mullane et al. Community Dent Health. 2016 Jun.
Fluoride dentifrice ingestion and fluorosis of the permanent incisors:Michael R Franzman et al. J Am Dent
Increased Salivary Fluoride Concentrations after Post-Brush Fluoride Rinsing
Not Reflected in Dental Plaque
Article  in  Caries Research
Salivary fluoride levels after toothbrushing with dentifrices containing different concentrations of fluoridemay 2014
Journal of International Society of Preventive and Community Dentistry 4(2):129-32
The effects of toothpaste
amounts and post-brushing
rinsing methods on salivary
fluoride retention
Kanyapak Sotthipoka, Pintusorn Thanomsuk, Rungroj Prasopsuk,
Chutima Trairatvorakul and Kasekarn Kasevayuth
Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand 2018
Chronic Fluoride Toxicity: Dental Fluorosis:Pamela DenBesten and Wu Li https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3433161/#!po=16.0714
แนวทางการใช้ฟลูออไรด์สำหรับเด็ก 2560 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
1
โฆษณา