Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Le Siam
•
ติดตาม
1 มี.ค. 2021 เวลา 03:04 • ประวัติศาสตร์
ယိုးဒယားလူမျို
โยดะยา ... อยุธยาในม่านหมอกพม่า
1
โยดะยา หลุ มฺโย นั้นเป็นการออกเสียงแบบพม่าเจ้าค่ะ โดยเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวสยามจากอาณาจักรอยุธยาของเรานั้นเอง ซึ่งอพยพเข้าไปในประเทศพม่า โดยมีทั้งการอพยพไปโดยสมัครใจ และบ้างก็เป็นเชลยซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อครั้งที่เกิดสงครามเจ้าค่ะ
เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ชาวอยุธยาในพม่าค่อย ๆ ผสมปนเปไปกับสังคมพม่า บ้างก็โยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม และที่สำคัญพวกเขาเลิกพูดภาษาไทยและหันไปพูดภาษาพม่ากันจนหมดสิ้นอีกด้วย
ชาวโยดะยานั้นได้ถูกกวาดต้อนมาในหลายคราด้วยกัน โดยหญิงสรุปมาในช่วงรัชสมัยใหญ่ๆดังนี้เจ้าค่ะ
1. ในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ราวปี พ.ศ. 2088
2. ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ราว ปี พ.ศ. 2111
3. ในรัชสมัยพระเจ้ามังระ ราวปี พ.ศ. 2310
1
โดยเชลยชาวอยุธยาเหล่านี้เมื่อถูกกวาดต้อนมายังพม่าได้มีการตั้งชุมชนตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในเมืองอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์เจ้าค่ะ ซึ่งมีตั้งแต่บรรพชิต ช่างฝีมือต่าง ๆ นักดนตรี และนาฏกร ตลอดจนเจ้านายอยุธยาชั้นสูงหลายพระองค์ต่างก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากกษัตริย์พม่า โดยเราสามารถแบ่งเชลยออกเป็นสามกลุ่มหลักดังนี้เจ้าค่ะ
1. กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าของกรุงศรีอยุธยา
อันได้แก่ พระราชอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระราชภาคิไนย โปรดให้ตั้งบ้านอยู่บริเวณเรือนนอกกำแพงพระราชวังหลวงของกรุงอังวะ โดยลูกหลานของเจ้านายเหล่านี้ที่เป็นสตรีโปรดให้ถวายตัวเป็นพระสนมของพระมหากษัตริย์พม่า หลายคนได้เป็นถึงเจ้าจอมมารดามี โอรส ธิดาสืบเชื้อสายโยดะยาตลอดจนถึงรัชกาลพระเจ้ามินดงกันเลยทีเดียวเจ้าค่ะ
1
2. กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในของกรุงศรีอยุธยา
อันได้แก่ สมเด็จพระอัครมเหสี พระมเหสี พระภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา พระราชภาคิไนย และพระสนมทั้งปวง โปรดให้ประทับอยู่ในพระราชวังหลวงของกรุงอังวะเจ้าค่ะ โดยเจ้านายฝ่ายในจำนวนหนึ่งได้ถวายตัวเป็นพระสนมพระมหากษัตริย์พม่าอีกด้วย
3. กลุ่มเชลยสามัญชาวอยุธยา
โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบนอกพระราชวังหลวงกรุงอังวะเจ้าค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชำนาญเชิงช่างก็ให้ไปอยู่เมืองซะไกง์ เชลยที่ชำนาญด้านการเกษตรให้ไปอยู่เมืองมินบู, ซะเลน และซะกุ ครั้นเมื่อมีการย้ายเมืองหลวง ชาวโยดะยาก็อพยพตามไปด้วย ทำให้พบชุมชนโยดะยากระจายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองอังวะ, ซะไกง์, อมรปุระ และมัณฑะเลย์
ศาลาแมงเม่า "ห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ของกรมขุนวิมลพัตรสมเด็จพระอัครมเหสีที่มีต่อแมงเม่า ในหมู่บ้านโยเดีย(อังวะ)
1
กรมขุนวิมลพัตรสมเด็จพระอัครมเหสีทรงเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, กรมขุนวิมลพัตร และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ต่างพากันหลบหนีพม่า แต่สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน พม่าได้ตามจับกรมขุนวิมลพัตรพระมเหสี พระราชบุตร และพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ ได้และกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ โดยพระเจ้ามังระทรงโปรดให้พระองค์รวมทั้งเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงอังวะ พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสด็จสวรรคต
1
ศาลาแมงเม่า
ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งอดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาซึ่งผนวชเป็นสมณเพศนั้นทรงจำพรรษา ณ ตึกปองเล ดังปรากฏใน จารึกเจดีย์ทรายมหาวาลุกะ ความตอนหนึ่งว่า
"...ราว พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าช้างเผือก ตั้งพระนครอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อชาวเชลยจากอยุธยา สุโขทัย และเชียงใหม่ถูกจับกุมมาที่นี่ รวมทั้งพระราชวงศ์ ขุนนางต่าง ๆ ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากนครอังวะที่ระแหงและมินตาซุใกล้กับคลองที่เรียกว่าชเวตชอง รวมทั้งเจ้าฟ้าดอก กษัตริย์ผู้ต้องนิราศจากราชบัลลังก์ พระองค์อุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดปองเล และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙..."
ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในสมณเพศจึงกลายเป็นที่พึ่งทางใจของเชลยอยุธยาในพม่ามาแต่นั้น โดย ในรัชกาลพระเจ้าปดุงได้มีการย้ายราชธานีจากอังวะไปอมรปุระ เชื้อพระวงศ์อยุธยาจึงย้ายไปประทับที่พระราชวังแห่งใหม่ด้วย
กรุงอังวะ
ทัน ทุนได้สรุปเกี่ยวกับชาวอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่าความว่า
"บรรดาเชลยสงครามและช่างฝีมืออยุธยาถูกจับไปพม่า พวกเชลยเหล่านี้ถูกใช้ให้ไปทำไร่ไถนา บางส่วนก็ถูกส่งไปขายเป็นทาสในตลาดเบงกอล แต่เนื่องจากชื่อเสียงในความเก่งกล้าและความจงรักภักดี บางคนได้โปรดให้เป็นทหารรักษาประตูวังและประตูเมือง พวกช่างฝีมือเข้ารับราชการในราชสำนักโดยเฉพาะ บางครั้งก็มีการลุกฮือของทาสพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ปราบได้โดยง่าย...พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนานั้นถูกส่งไปทางเหนือ (โมนยวา, มินบู, ปะกัน, ซะไกง์, ชเวโบ และตะแย) พวกนี้ผสมปนเปไปกับชนพื้นเมืองโดยง่าย และภายในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนต่อมา ก็จะลืมเทือกเถาเหล่ากอว่ามาจากอยุธยาหมด"
ปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายชาวสยามจากอยุธยาได้กลืนหายไปกับชาวพม่าซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการค้นพบชุมชนเชื้อสายอยุธยาชื่อหมู่บ้านซูกา ซึ่งมีประชากรราว 200 คน และชุมชนบ้านมินตาซุ (ย่านเจ้าฟ้า)โดย มีประชากรเชื้อสายอยุธยาอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คน ซึ่งทั้งสองชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์
1
ในส่วนของวัฒนธรรมไทยที่ยังคงดำรงอยู่ในยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้นคือโขนละครในราชสำนัก เช่นรามเกียรติ์และอิเหนา จนได้รับความนิยมในกลุ่มเจ้านายพม่าอย่างมาก แต่หลังจากที่พม่าตอนเหนือถูกรวมเข้ากับอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะละครเหล่านี้ก็แตกฉานซ่านเซ็น บ้างก็ออกไปตั้งคณะละครของตนเอง บ้างก็ไปถวายงานให้เจ้าฟ้าไทใหญ่ หรือบางส่วนก็เลิกเป็นละครไปเลย ซึ่งละครเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนสมัยใหม่อีกต่อไปแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่หน้าเสียดายมากๆเจ้าค่ะ
และนี้ก็คือเรื่องราวบางส่วนที่หญิงได้หยิบยกมาให้พี่ท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ไปด้วยกันเจ้าค่ะ ว่าพี่น้องชาวอยุธยาของเรานั้น ก็คือประชากรที่เติมเต็มทำให้พม่าเป็นพม่าได้ในทุกวันนี้ และหญิงก็หวังว่าพี่น้องเชื้อสายโยดะยาทุกๆคน จะมีความสุขไม่ต่างจากพวกเราที่อยู่ ณ ที่ของเราในปัจจุบันนี้เจ้าค่ะ
**หลับตาแล้วรวมรำลึกถึงพี่น้องชาวอยุธยาในพม่ากันเจ้าค่ะ
อ้างอิง
- "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด: จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 72-92
- ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 239 , 242-243
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 74-75
- วัทญญู ฟักทอง (25 กุมภาพันธ์ 2562). "แกะรอย "โยดะยา" ในอาณาจักรยะไข่โบราณ". จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563.
- พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 1135
- th.wikipedia
1
16 บันทึก
21
12
8
16
21
12
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย