เรื่องที่สอง เรื่องการออมเงิน โดยถามว่า มีใครออมเงินอยู่บ้าง และออมกี่กระปุก แต่ละกระปุกมีวัตถุประสงค์อย่างไร เด็กๆแต่ละคนออมเงินคนละ2-3 กระปุก กระปุกแรกตอบได้ว่า ออมเงินตามที่โค้ชแนะนำคือออมตามวันที่ และเมื่อครบปีก็จะเอาเงินนั้นไปซื้อสลากออมสินบ้าง ลงทุนในทองคำบ้าง แต่กระปุกที่สองหรือสาม เด็กๆออมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ คือมีเงินเหลือก็เก็บ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ดีกว่า คือ เราต้องแนะนำให้เด็กๆตั้งเป้าหมายในการออมด้วย การตั้งเป้าหมายในการออม แล้วออมให้ได้ตามนั้น เหมือนเป็นการตกปลาครั้งเดียวได้ปลาสองตัว คือได้นิสัยการออม และยังได้นิสัยการตั้งเป้าหมายด้วย
เรื่องสำคัญเกี่ยวกับการออมที่บอกเด็กๆ คือ
1.เราไม่ได้รวยจากการออม ไม่มีใครรวยจากการออมเงิน แต่เราจะร่ำรวยจากนิสัยการออม และการนำเงินออมไปลงทุนต่อยอด ให้เงินต่อเงิน ดังนั้นแม้การออมจะไม่ได้ทำให้เรารวย แต่นิสัยการออม คือบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความร่ำรวยในอนาคต หากรู้จักใช้เงินออมให้เป็น
2.เด็กๆไม่มีสิทธิ์ใช้เงินออมไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่อยากได้ (และก็ไม่ต้องคิดจะของเงินผู้ใหญ่ไปซื้อด้วย ไม่ได้แน่นอน) เช่นเอาเงินออมไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ แคะกระปุกเงินออมสินไปซื้อของเล่นที่อยากได้ เอาเงินที่ออมมาทั้งปีไปซื้อรองเท้าคู่สวยที่โฆษณาในสื่อต่างๆ แบบนี้ไม่ได้ เด็กๆห้ามใช้เงินออมเด็ดขาด อ้าว..แล้วถ้าอยากได้ของใช้ เช่นโทรศัพท์เครื่องใหม่ทำไงล่ะ ง่ายมากครับ คือ เด็กๆจะต้องสร้างเส้นทางของรายได้อันใหม่ขึ้นมาก่อน เพื่อเก็บเงินก้อนใหม่เอาไปซื้อสิ่งที่อยากได้ เช่นเด็กๆต้องทำงานหาเงิน อาจจะขายของที่โรงเรียน รับจ้างทำงานเท่าที่ทำได้ หรือเก็บเงินค่าขนมหยอดกระปุกใบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินไว้ซื้อของที่อยากได้ ข้อนี้ เหมือนยิงปืนลมนัดเดียวได้ตุ๊กตาหลายตัว(เคยยิงปืนในงานวัดมั๊ย ที่ยิงตุ๊กตาด้วยปืนลมน่ะ นั่นละ)
ตุ๊กตาตัวแรกคือ นิสัยการอดใจ อยากได้แต่อดใจได้
ตุ๊กตาตัวที่สอง คือ ช่องทางหรือเส้นทางในการหาเงิน เช่นขายขนม ขายของเพื่อเก็บเงิน หรือรับจ้างเพื่อนๆพิมพ์งาน เป็นการหารายได้ระหว่างเรียน เป็นการฝึกทักษะการทำงานไปด้วย
ตุ๊กตาตัวที่สาม คือ นิสัยการออมแบบมีวัตถุประสงค์
ตุ๊กตาตัวที่สี่ คือ นิสัยการตั้งเป้าหมาย วางแผน และลงมือทำเอง อยากได้อะไรไม่ใช่เอาแต่แบมือขอ แต่ต้องหาทางเอาเอง
ตุ๊กตาตัวที่ห้า คือ ความภูมิใจในตัวเอง รู้คุณค่าของเงิน และการรักข้าวของ เด็กที่สามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง ซื้อของที่ต้องการด้วยเงินของตัวเองที่หามาได้ จะรู้คุณค่าของเงิน และเห็นคุณค่าของของใช้