1 มี.ค. 2021 เวลา 13:50 • ข่าว
🇹🇭รู้จักกับ “การด้อยค่า” ที่ไม่ใช่ “ค่าเสื่อมราคา” กับสัดส่วน 60% ของยอดขาดทุนทั้งหมดของการบินไทยในปีที่ผ่านมากว่า 140,000 ล้านบาท
ทุกท่านคงจะทราบข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการเปิดเผยงบการเงินและผลประกอบการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับปี 2563 โดยการบินไทยและบริษัทย่อยต่างๆมีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท
นอกจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานแล้วนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด โดยยอดขาดทุนก้อนใหญ่ที่สุดคือ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการขาดทุนทั้งหมดเลยทีเดียว
📌การด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) คืออะไร?
การด้อยค่าของสินทรัพย์คือการที่มูลค่าของสินทรัพย์ตามบัญชีนั้นสูงกว่ามูลค่าจริงของสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับคืนในปัจจุบัน ในกรณีของการบินไทยนั่นคือ สินทรัพย์เช่นเครื่องบินนั้นมีมูลค่าตามบัญชีสูงกว่ามูลค่าจริง ทำให้การบินไทยต้องบันทึกส่วนที่ลดลง ซึ่งกลายเป็นผลขาดทุนในบัญชี การบันทึกเป็นผลขาดทุนนั้นมาจากข้อกำหนดในมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 36 นั่นเอง
ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายนั่นคือ มูลค่าตลาดของเครื่องบินการบินไทยนั้นต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์(เครื่องบิน)ที่บันทึกบัญชีไว้นั่นเอง โดยมีการระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินไว้ว่า ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคาเครื่องบินของบริษัทฯ ประเมินมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนโดยอ้างอิงจากราคาตลาดที่ประกาศโดยผู้เชี่ยวชาญการประเมินราคาเครื่องบิน และดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมตามสภาพระยะเวลาการใช้งานของเครื่องบินตามวิธีการที่กำหนดเป็นมาตรฐานในกระบวนการประเมินราคาเครื่องบิน ทั้งนี้ จากสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้การใช้งานเครื่องบินมีน้อยลงอย่างมากทั่วโลก และยังทำให้ราคาตลาดหรือราคากลาง (ที่มีการระบุไว้ใน Aircraft Bluebook) ต่ำลง ยิ่งส่งผลให้ทรัพย์สินเกิดการด้อยค่าได้มาก
5
📌ต่างจากค่าเสื่อมราคา (Depreciation) อย่างไร?
 
หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับค่าเสื่อมราคามากกว่า ซึ่งค่าเสื่อมราคาคือ การหักค่าใช้จ่ายออกจากสินทรัพย์ถาวรในแต่ละปี วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการกระจายต้นทุนไปในระยะเวลาการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นๆ เช่นการหักค่าเสื่อมราคาจากราคาเครื่องบินออกเป็น 20 ก้อนตามระยะเวลาการใช้งานเครื่องบิน 20 ปี เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นคนละกรณีกับการด้อยค่าของสินทรัพย์
รายละเอียดของการด้อยค่าทรัพย์สินของการบินไทยในปี 2563
- เครื่องบินของบริษัท จำนวน 33 ลำ บริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 26,540 ล้านบาท
- เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่า (สินทรัพย์สิทธิการใช้) จำนวนทั้งหมด 70 ลำ บริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวนทั้งสิ้น 24 ลำ จำนวน 49,630 ล้านบาท
- เครื่องบินรอการขาย จำนวน 12 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบิน A300-600 จำนวน 1 ลำ A340-500 จำนวน 3 ลำ A340-600 จำนวน 6 ลำ และ B737-400 จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 2,756 ล้านบาท
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของอุปกรณ์การบินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องจำนวน 3,432 ล้านบาท
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าอุปกรณ์การบินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินรอการขาย จำนวน 395 ล้านบาท
- การกลับรายการของผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินที่จัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่จัดประเภทเป็นสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขายจำนวน 51 ล้านบาท
รวมการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียนทั้งสิ้น 82,702 ล้านบาท
1
📌ไม่บันทึกการขาดทุนจากการด้อยค่าได้หรือไม่?
ทางสภาวิชาชีพบัญชี ได้ออกมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยหนึ่งในมาตรการผ่อนปรนนั้นคือ การด้อยค่าของสินทรัพย์ ที่การบินไทยตัดสินในยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนดังกล่าว ทำให้ต้องบันทึกเป็นผลการขาดทุนในไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งถึงแม้จะเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนต่อ การด้อยค่านี้ก็ต้องบันทึกเป็นผลการขาดทุนในไตรมาส 1 ปี 2564 นั่นเอง
ซึ่งเมื่อรวมกับการขาดทุนและรายการค่าใช้จ่ายอื่นๆได้แก่
- ขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท
- ขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิจำนวน 5,227 ล้านบาท
- สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) จำนวน 3,098 ล้านบาท
- ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท
- กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท
ทำให้ปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งสิ้น 141,180 ล้านบาทนั่นเอง
ข้อมูลจาก : หมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563
1
โฆษณา