2 มี.ค. 2021 เวลา 12:26 • การเมือง
2 มีนาคม 1962-2021 – 59 ปีการรัฐประหารของพลเอกเนวินกับนโยบายการนำพม่าสู่สังคมนิยมและอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์พม่า ในความนึกคิดของคนส่วนใหญ่มักนึกภาพพม่าออกช่วงการเป็นเอกราชจากอังกฤษ และการเรียกร้องร้องประชาธิปไตยตั้งแต่เหตุการณ์ 8888 รวมไปถึงการกักบริเวณนางอ่องซานซูจีจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ช่วงที่พม่าปิดประเทศหลายท่านคงนึกไปออกว่ามีความเป็นไปอย่างไรในพม่า
หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษและจัดตั้งเป็นประเทศเอกราช “สหภาพพม่า” (Union of Burma) ในวันที่ 4 มกราคม 1948 การเมืองพม่าก็มีแนวโน้มที่จะไร้เสถียรภาพมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสหภาพพม่ามีรูปแบบรัฐเป็นรัฐรวม ประกอบขึ้นด้วยอำนาจทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น พม่า ฉาน คะฉิ่น กะเหรี่ยง มอญ อาระกัน ฯลฯ โดยพม่าเป็น “คนกลาง” ในการเจรจากับฝ่ายอังกฤษเพื่อต่อรองให้พม่าได้รับเอกราช ตาม “ข้อตกลงปางโหลง” (Panglong Conference) ที่พลตรีอ่องซาน (General Aung San) ผู้นำการเรียกร้องเอกราชแก่พม่าได้โน้มน้าวและต่อรองกับบรรดาผู้นำชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกับพม่าและจัดตั้งสหภาพพม่าเพื่อให้อังกฤษได้มอบเอกราช ทั้งนี้ถือว่านายพลอ่องซานเป็น Keyman ที่สำคัญที่สุดของสหภาพพม่า ผู้ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากบรรดากลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในฐานะจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ได้อย่างมีความชอบธรรม แต่แล้วนนายพลอ่องซานเองกลับถูกลอบสังหารในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกสารอย่างสมบูรณ์เสียอีก
ในช่วง 10 ปีแรก พม่าต้องเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก โดยเฉพาะจากฝั่งกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากใกล้ถึงเวลาที่สหพันธรัฐฉาน ชนกลุ่มน้อยใหญ่ที่สุดและครองพื้นที่มากที่สุดรองจากชาวพม่าจะอ้างสิทธิในการแยกตัวออกจากสหภาพพม่าตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปางโหลง รวมไปถึงปัจจัยภายในของกลุ่มอำนาจชนชาวพม่าเองที่ขาดเสาหลักผู้ที่ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์และมีบารมีได้อย่างนายพลอ่องซาน จึงไม่มีผู้ใดที่สามารถครองอำนาจนำได้อย่างเด็ดขาด สหภาพพม่าเกิดความระส่ำระสาย ซึ่งวิเคราะได้จาก 4 สาเหตุหลักในขณะนั้นคือ 1) วิกฤติรัฐธรรมนูญที่อำนาจส่วนกลางเริ่มไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวการแยกตัวของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ได้ 2) ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 3) วิกฤติศาสนาจากการประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติได้สร้างความไม่พอใจกับศาสนิกชนอื่น โดยเฉพาะชนชาวกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์และชาวอาระกันมุสลิม 4) เจตจำนงของนายกรัฐมนตรีอูนุในการลาออกเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการช่วงชิงอำนาจกันในรัฐบาลปีกของทะขิ่นหรือฝ่ายหัวเก่ากับปีกของอูโบหรือฝ่ายหัวก้าวหน้า
ในช่วงครึ่งท้ายทศวรรษที่ 50 รัฐบาลอูนุได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ความแตกแยก ในขณะเดียวกันก็พยายามลดทอนอำนาจกองทัพด้วยการสั่งปลดนายพลหม่องหม่อง (General Maug Mang) กับนายพลอ่องชเว (Aung Shwe) ผู้ที่มีอิทธิพลในกองทัพพม่า แต่นั่นกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่น่าจะผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการปูทางให้นายพลเนวินหมดคู่แข่งในกองทัพไปโดยปริยาย ในที่สุดในภาวะเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง อูนุจึงได้เชิญให้พลเอกเนวินผู้นำกองทัพเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อนที่อูนุจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม
กระแสข้อเรียกร้องจากบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ในต่อการตั้ง “สหพันธรัฐ” ที่เพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จากการนำของเจ้าส่วยแต้ก ผู้นำสหพันธรัฐฉานและอดีตประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่าที่ส่งสัญญาณพร้อมแตกหักถึงรัฐบาลกลางที่ย่างกุ้งว่า “จะมอบอำนาจ” หรือ “จะรบกันเพื่อให้ได้อำนาจ” จึงนำไปสู่การจัดการประชุมที่ย่างกุ้งระหว่างรัฐบาลกลางกับบรรดาผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเรื่องการเจรจาดำเนินการเข้าสู่ความเป็นสหพันธรัฐในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1962
ในที่สุดในคืนหัวรุ่งวันที่ 2 มีนาคม 1962 พลเอกเนวินจึงได้ตัดสินใจเข้าจับกุมนายกรัฐมนตรีอูนุ ประธานาธิบดีวินหม่อง ประธานศาลฎีกา ห้ารัฐมนตรีและบรรดาสามสิบเจ้าฟ้าจากรัฐฉานและกะยา รวมไปถึงนักการเมืองฟากรัฐบาลและพรรครัฐบาลอีกกว่า 50 คน การรัฐประหารครั้งนี้จึงสำเร็จเรียบร้อยไร้การนองเลือด มีการสูญเสียเพียง 1 คนซึ่งก็คือเจ้าเมียะ พระญาติของเจ้าส่วยแต้กที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ชุลมุนในขณะที่กองทัพพม่าบุกเข้าวังเจ้าส่วยแต้กในย่างกุ้ง หลังจากนี้บรรดาเจ้าฟ้ารัฐฉานต่าง ๆ ต่างหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย บางส่วนได้รับการ “ไถ่ตัว” แล้วลี้ภัยออกนอกประเทศ เหตุการณ์ในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการสถาปนาให้กองทัพมีอำนาจในโครงสร้างอำนาจรัฐพม่าและมีอิทธิพลต่อการเมืองพม่าอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับปัจจุบันนี้
โจทย์ต่อไปของนายพลเนวินหลังจากการยึดอำนาจคือการหา model ในการปกครองประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นยุคแห่งการปลดปล่อยอาณานิคม บรรดาประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธสิ่งใด ๆ ที่มีมรดกตกทอดมาจากเจ้าอาณานิคม เปิดทางให้ผู้นำโลกคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในประเทศโลกที่สามเหล่านี้ พม่าก็เช่นกัน ย้อนกลับไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1961 พลเอกเนวินในฐานะนายกรัฐมนตรี (ชั่วคราวตามคำเชิญของอูนุ) ได้มีโอกาสเยือนสหภาพโซเวียตในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังประสบความก้าวหน้าด้านอวกาศอย่างขีดสุด เพิ่งจะส่งดาวเทียวสปุตนิกอันเป็นดาวเทียมดวงแรกและส่งยูรี่ กาการินเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก สิ่งนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นายพลเนวินมีความตั้งใจนำพาพม่าดำเนินรอยตามแบบสังคมนิยม
ในช่วงการเยือนสหภาพโซเวียตของนายพลเนวินในงานเขียนของท่านทูตนิโคลัย ลิสโตปาดอฟ (Nikolai Listopadov) เอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำพม่าและผู้เชี่ยวชาญพม่าได้ให้ข้อสังเกตุไว้ว่า ทั้งนายพลเนวินผู้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี (ชั่วคราว) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าและนายกรัฐมนตรีนิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตได้มีการทำความรู้จักกันเป็นการส่วนตัวในห้วงการเยือนสหภาพโซเวียตช่วงวันที่ 30 มีนาคมถึง 22 เมษายน 1961 โดยนายพลเนวินได้เยือนเลนินกราด เคี้ยฟ โซชิ ทาชเคนต์ โวลโกกราดรวมไปถึงได้เห็นความสำเร็จทางอวกาศของโซเวียต (จากการส่งนักบินอวกาศคนแรก-ผู้เขียน) ซึ่งได้ว่าโซเวียตได้เป็นผู้นำโลกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมองเห็นความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสาธารณรํบประชาชนจีน จุดนี้เองที่จุดประกายให้นายพลเนวินมีรูปแบบสังคมนิยมในการปกครองพม่า
หลังการยึดอำนาจสำเร็จในปี 1962 นายพลเนวินได้พยายามชี้แจงความจำเป็นในการยึดอำนาจผ่านการส่งสารไปยังรัฐบาลต่าง ๆ ในฟากของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียตนั้นได้ตอบรับข้อความของนายพลเนวินว่ารัฐบาลโซเวียตพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของพม่า จุดนี้เองที่เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้การยึดอำนาจสำเร็จนั้นต้องมาจากการยอมรับของมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง ณ ที่นี้คือสหภาพโซเวียตที่นายพลเนวินเคยไปเยือนแล้วหนึ่งครั้ง อีกทั้งยังได้มีการพบปะเป็นการส่วนตัวกับผู้นำโซเวียต เป็นผลให้นายพลเนวินเกิดความมั่นใจว่าอย่างน้อยหลังทำการยึดอำนาจจะมีมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตรับรองรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันโซเวียตเองก็จะได้พันธมิตรใหม่ที่จะเป็นตัวแปรในการขยายอำนาจโซเวียตลงมาในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกฉียงใต้ รวมไปถึงการปิดล้อมจีนซึ่งขณะนั้นกำลังจะเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูต่อโซเวียต
นายพลเนวินได้จัดตั้งสภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) และพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Program Party – BSPP) เริ่มดำเนินการ “เวนคืน” วิสาหกิจต่าง ๆ ของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวต่างชาติ “จมูกโด่ง” จากยุโรปและพวก “ผิวเข้ม” อันหมายถึงชาวอังกฤษและชาวอินเดียที่เป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ รวมไปถึงเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจพม่า และได้มีการประกาศให้พรรค BSPP เป็นพรรคการเมืองพม่าพรรคเดียวที่ถูกกฎหมาย ดังนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพม่าจึงมีการปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวไม่ต่างจากประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ภายใต้การกำกับของพรรค เช่นองค์กรยุวชน Lanzin lu nge หรือ Young Pioneer และ Sheizaung lu nge หรือ Program Pioneers ตามแบบ Red Guards ของจีน และความเป็นรัฐสังคมนิยมได้ถูกประกาศในเชิงนิตินัยเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่จาก “สหภาพพม่า” เป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า” ในปี 1974 พร้อมกับการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของพลเอกเนวิน
นายพลเนวินปกครองประเทศมากว่า 26 ปีในรูปแบบ “สังคมนิยมแบบพม่า” แต่ในทางปฏิบัติก็คือการปกครองด้วยระบอบทหาร บุคคลในกองทัพเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งการเมืองและภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในวิสาหกิจต่าง ๆ ทำให้พม่าตกอยู่ในช่วงยุคมืดทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนพม่าให้เป็นฤๅษีแห่งเอเชีย จากผู้ผลิตที่สามารถส่งออกข้าวปีละ 1.5 ล้านตันเหลือเพียงปีละ 3.5 แสนตันเพียงแค่พอบริโภคในประเทศเท่านั้น รวมไปถึงนโยบายแปลก ๆ หลายครั้งมาจากการสั่งการของนายพลเนวินเอง เช่น การเปลี่ยนทิศทางทางการจราจรของรถบนท้องถนนจากวิ่งชิดซ้ายแบบอังกฤษกลายมาเป็นชิดขวาแบบฝรั่งเศสและอเมริกา การพิมพ์ธนบัตรฉบับ 45 และ 90 จ๊าตอันมีที่มาจากความเชื่อไสยศาสตร์ส่วนตัว โดยเฉพาะนโยบายการเวนคืนวิสาหกิจและขับไล่คนต่างชาติออกไปนั้นแม้ในสหภาพโซเวียตเองก็เป็นวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสังคมนิยมในวิถีพม่านี้เป็นสิ่งที่ “ห่างไกลจากความเป็นมาร์กซิสต์”ยิ่ง ปัญหาต่าง ๆ ของระบอบ BSPP ได้สั่งสมจนนำไปสู่การเกิดวิกฤติการเมืองพม่าในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ที่บรรดานักศึกษาและประชาชนต่างออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนที่จะถูกปราบอย่างโหดเหี้ยมและตามมาด้วยการรัฐประหารนายพลเนวินยุติระบอบสังคมนิยมแบบพม่าเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์แบบโดยไร้คำว่าสังคมนิยมมาอำพรางอีกต่อไป
References:
Листопадов Н.А. У Не Вин // Вопросы истории. — М., 1997.
М. Г. Козлова, И. В. Можейко и В. Ф. Васильев. Главы об истории Бирмы/Мьянмы из шеститомника «История Востока»
Мадасами Атхимулам. Политические установки и практическая деятельность военного режима в Бирме с 1962 г. до начала 90-х годов. Автореферат. // Научная библиотека диссертаций и авторефератов
Дружба, сотрудничество // Известия. — М., 9 марта 1962 года.
โฆษณา