2 มี.ค. 2021 เวลา 12:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“The Queen’s Gambit” สีคู่ตรงข้ามและการสร้างโลกของหมากรุก
ก่อนหน้านี้เคยหยิบเรื่องคู่สีตรงข้ามยอดนิยมอย่าง Orange & Teal ที่เราคุ้นเคยกันมากๆจากหนัง Hollywood ยุคปัจจุบัน วันนี้เลยอยากจะมาพูดถึงคู่สีตรงข้ามอื่นๆที่ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลและน่าสนใจเลยทีเดียว เรื่องนั้นก็คือ The Queen’s Gambit มินิซีรีส์จากทาง Netflix
เรื่องราวของ The Queen’s Gambit จะพาไปสำรวจชีวิตของ Elizabeth Harmon หรือ Beth เด็กสาวอัจฉริยะด้านหมากรุกกับเส้นทางของการก้าวไปสู่อันดับหนึ่งในวงการแข่งหมากรุกระดับโลก ในขณะเดียวกันชีวิตส่วนตัวของ Beth เองกลับต้องเจอปัญหาส่วนตัวมากมายที่จะต้องก้าวข้ามไปพร้อมๆกับการไปสู่จุดสูงสุดของการแข่งหมากรุก
ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีมาก และพึ่งได้รับรางวัลจากเวที Golden Globes สาขามินิซีรีส์ยอดเยี่ยมในปีที่ล่าสุด จึงเป็นการการันตีความยอดเยี่ยมของเรื่องนี้ได้อย่างดี
นอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่น่าติดตามในขณะเดียวกันก็ยังสามารถหยิบยกประเด็นต่างๆที่น่าสนใจมาสอดแทรกไว้มากมายผ่านชีวิตของตัวละคร Beth ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องชายเป็นใหญ่ในวงการหมากรุก เรื่องการเสพติดแอลกอฮอลและยากล่อมประสาท แต่เหนืออื่นใดประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของการใช้สีคู่ตรงข้ามในการสร้างโลกของเรื่องนี้
อย่างที่เคยเขียนถึงไว้ว่าการเลือกใช้คู่สีตรงข้าม(Complementary Colors)
ใน Color Wheel นั้น เป็นเทคนิคที่นิยมอย่างมากในการสร้างให้เกิดความน่าสนใจให้กับภาพ ด้วยการใช้คู่สีที่อยู่ตรงข้ามกันมาสร้างความขัดแย้งของสีที่ชัดเจน ผลที่ได้คือทำให้ภาพที่มีคู่สีตรงข้ามอยู่นั้นมี Dynamic โดดเด่นและดึงดูดสายตา
1
ออกตัวก่อนว่าเวลาพูดถึงคู่สีแดงกับเขียวหลังจากนี้ มันอาจจะไม่ได้อยู่รูปแบบของแดงสด เขียวสดเสมอไป ในการใช้งานจริงก็จะมีการปรับโทนสีให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง อาจจะเป็นสีออกส้มๆกับเขียวอ่อน อาจจะเป็นสีแดงเลือดหมูกับสีเขียวอมน้ำเงิน และอีกหลายๆโทนสีที่เราไม่คุ้นชื่อเรียก ดังนั้นเพื่อให้เป็นการง่ายต่อการอ่าน ขอเรียกโทนสีใกล้ๆเคียงนี้แต่ยังเป็นสีคู่ตรงข้ามซึ่งกันและกันที่เอามาใช้ในเรื่องนี้ว่าคู่สี แดงและเขียว
1
คู่สีหลักของ The Queen’s Gambit ที่ใช้เทคนิค Complementary Colors
**เนื้อหาต่อไปนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องของ The Queen's Gambit**
“Opening หรือ การเปิดหมาก”
ในการแข่งขันหมากรุกสากล การเปิดหมากหรือการเริ่มตาเดินของแต่ละฝ่ายนั้นเป็นกลยุทธที่สำคัญและจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่ชัยชนะในภายหลัง การเลือกใช้คู่สีคู่ตรงข้ามมาเป็นคู่สี หลักให้กับเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นการเปิดหมากของทีมผู้สร้างเพื่อเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นของการสร้างภาพของเรื่องให้ดูสวยงามน่าติดตามจนสามารถตรึงคนดูให้สามารถดูซีรีส์ความยาวเกือบๆ 1 ชั่วโมงต่อตอนไปยาวๆจนจบได้ การมีภาพและสีที่น่าสวยงามน่าดึงดูดตั้งแต่ EP แรกไปจน EP สุดท้ายจึงเป็นกลยุทธและการเปิดหมากที่ยอดเยี่ยมจากผู้สร้าง
ในที่นี้คู่สีหลักๆของเรื่องนี้คือสีแดงและสีเขียว ซึ่งในส่วนของสีแดงนั้นเป็นสีที่ตั้งต้นและเป็นสีที่นับว่าเป็นสีประจำตัวละครหลักของอย่าง Beth เลยก็ว่าได้ เนื่องจาก Beth มีสีผมแดงส้มนี้เป็นสีผมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละคร สีแดงส้มจากผมของ Beth จึงต้องปรากฏอยู่ในแทบทุกฉากของเรื่อง
ผมสีแดงส้มเป็นเอกลักษณ์ของ Beth
สีคู่ตรงข้ามของสีแดงก็คือสีเขียว เราจึงได้เห็นฉากสำคัญต่างๆในเรื่องถูกออกแบบด้วยคู่สี ตรงข้ามของสีแดงอย่างโทนสีเขียวเป็นหลัก และเมื่อตัวละคร Beth ที่มีสีผมแดงส้มรวมถึงสีของโคมไฟหรือแสงไฟต่างๆมาอยู่ในฉากหรือเสื้อผ้าที่เป็นสีเขียวจึงเกิดคู่สีตรงข้าม ได้ตามที่ผู้สร้างต้องการ จึงเป็นเหตุผลที่เราจะเห็นคู่สีที่ว่านี้ปรากฏตัวให้เห็นเรื่อยๆในเรื่องนี้นั่นเอง
คู่ตรงข้ามสีแดงและเขียว ถูกเลือกมาใช้ในฉากสำคัญหลายฉากตลอดทั้งเรื่อง
ถึงแม้ว่าสีคู่ตรงข้ามที่ว่ามานี้อาจไม่ได้มีเหตุผลทางการเล่าเรื่องมารองรับอย่างชัดเจนอะไรนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกใช้สีเขียวมาตัดกับสีผมของ Beth นั้นเป็นเทคนิคที่สร้างความโดดเด่น น่าสนใจและยังสามารถคุมโทนสีของภาพโดยรวมให้ต่อเนื่องไปทั้งเรื่องได้อย่างดี
ถ้าพูดถึงการใช้สีในการเล่าเรื่องของ The Queen’s Gambit แล้ว จะมองข้ามเรื่องของการออกแบบและการใช้สีของทั้งฉาก เสื้อผ้า แสงสี รวมไปถึงการย้อมสีภาพไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากการจับคู่ของสีคู่ตรงข้ามเพื่อสร้างภาพที่สวยงามแล้ว ยังมีการใช้สีเพื่อเล่าเรื่องและแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของทั้งเนื้อเรื่องและตัวละครอีกด้วย
ฉากที่เห็นได้ชัดถึงการใช้สีช่วยในการเล่าเรื่องนั้นคือช่วง Episode 2 ในช่วงหลังจากที่ Beth ได้รับอุปการะออกมาจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ตนเองเติบโตมา และย้ายมาอยู่บ้านใหม่ของพ่อแม่บุญธรรมของเธอ ซึ่งเราจะได้เห็นทั้งห้องนั่งเล่น รวมไปถึงห้องนอนใหม่ของ Beth
(บน) ห้องนั่งเล่นบ้าน Wheatley / (ล่าง) ห้องนอนของ Beth
การใช้สีในห้องนั่งเล่นนั้นจะเห็นได้ว่ายังเป็นแนวทางหลักของเรื่องก็คือสีแดงและเขียว โดยสีเขียวส่วนใหญ่จะถูกเลือกใช้ให้กับเฟอร์นิเจอร์หรือสีวอลเปเปอร์บนผนัง แต่ในฉากต่อมาเราจะเห็นว่าห้องของ Beth นั้นกลับมีการเลือกใช้สีของเฟอร์นิเจอร์และผนังเป็นสีโทนชมพูแดง ใกล้เคียงกับสีผมสีส้มแดงของ Beth ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางเดียวกับการใช้สีคู่ตรงข้ามที่ผู้สร้างเลือกจะใช้เป็นแนวทางหลักของเรื่อง
เหตุผลนั้นก็คือห้องนอนของ Beth นั้นใช้สีโทนชมพูแดงเพื่อสร้างห้องนอนที่ดูเป็นมิตรและอบอุ่นปลอดภัย จึงเลือกใช้สีที่มีความใกล้เคียงกลมกลืนกับสีผมของตัวละคร โดยเทคนิคการใช้สีใกล้เคียงนี้เรียกว่า Analogous Colors ซึ่งสีที่นำมาใช้จะให้สีที่ใกล้เคียงกันและไม่ขัดแย้งกันเหมือนกับการใช้คู่สีตรงข้ามแบบ Complementary Colors
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเลือกใช้คู่สีตรงข้ามในฉากส่วนใหญ่ของเรื่องนั้นสอดคล้องกับการที่ตัวละคร Beth นั้นต้องอาศัยอยู่ในโลกที่ไม่ได้เหมาะกับเธอ และเลือกใช้สีที่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัวละครรู้สึกผ่อนคลายและเป็นเจ้าของกับสถานที่นั้นๆ
อีกตัวอย่างของการใช้สีเพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของทั้งตัวละครและเนื้อเรื่องนั่นคือในช่วงหลังจากที่แม่บุญธรรมของ Beth ตาย และบ้านทั้งหลังจึงตกเป็นของเธอ ทำให้ Beth มีอำนาจเต็มที่จากการครอบครองบ้านทั้งหลัก เธอจึงค่อยๆเปลี่ยนการตกแต่งภายในบ้านให้กลายเป็นแบบที่ตัวเองต้องการ
(บน) ห้องนั่งเล่นที่เดิมตกแต่งด้วยสีเขียว / (ล่าง) ห้องนั่งเล่นหลังจากที่ตกแต่งใหม่
เราจะเห็นได้ว่าเมื่อบ้านทั้งหลังตกเป็นของ Beth แล้ว สีโทนชมพูแดงที่เคยเป็นโทนสีหลักของห้องนอน Beth ก็ได้ถูกนำมาใช้กับห้องนั่งเล่น เป็นการใช้สีแสดงให้เห็นถึงการเดินเนื้อเรื่องรวมไปถึงการพัฒนาของตัวละครที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ จากที่เคยเป็นผู้อาศัยกลายเป็นเจ้าของบ้านและมีพื้นที่ของตนเองที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่ในห้องนอนอีกต่อไป
1
“End Game หรือ การเผด็จศึก”
สุดท้ายยังมีอีกสึคู่ตรงข้ามที่ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลและคาดไม่ถึงนั้นถูกวางไว้ที่ฉากสุดท้ายของเรื่องเลย ซึ่งคู่สีที่ว่านี้นอกจากจะมีเอกลักษณ์แล้วยังเป็นการใช้สีเพื่อตอบสนองเนื้อเรื่องได้ดีมากอีกด้วย
ฉากที่ว่าคือช่วงสุดท้ายหลังจากที่ Beth มายังรัสเซีย คว้าแชมป์หมากรุก และกลายเป็มนักแข่งหมากรุกมือหนึ่งของโลกแล้ว
ในช่วงที่ Beth ต้องเดินทางกลับสหรัฐและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะแชมป์โลก แต่ Beth กลับลงจากรถและเดินไปเรื่อยๆตามสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยชาวรัสเซียมากมายที่กำลังสนุกกับการเล่นหมากรุก ชาวรัสเซียแถวนั้นจำเธอได้และเข้ามาห้อมล้อมแสดงความยินดี มีชายชรารัสเซียคนหนึ่งชวน Beth เล่นหมากรุกกับเขาสักเกม ซึ่ง Beth ก็ตอบรับคำเชิญ และเรื่องราวก็จบตรงนั้น
จบแบบนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าสรุปแล้ว Beth ลงเอยยังไง? ได้กลับประเทศไหม?
คำตอบนั้นไม่ได้มีออกมาอย่างชัดเจนจากในเนื้อเรื่อง แต่ถ้าดูทุกอย่างประกอบแล้วคำตอบบางอย่างก็ได้ แต่ถ้าเราสังเกตการใช้สีในฉากสุดท้ายนี้ เราจะเห็นคู่สีที่เด่นชัดที่สุดและสามารถนำไปสู่คำตอบที่เนื้อเรื่องไม่ได้เฉลยได้เลย
ฉากสุดท้ายของ The Queen’s Gambit ในรัสเซีย
คู่สีตรงข้ามที่ว่านั้นคือ “ขาวและดำ” นั่นเอง
นับว่าเป็นคู่สีที่ทั้งคาดไม่ถึงแต่ก็ไม่แปลกใจที่ถูกหยิบมาใช้ เพราะจริงๆแล้วสีขาวดำนี้เป็นคู่สีที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการแข่งขันหมากรุกนั่นเอง
ทั้งตัวหมากทั้งสองฝั่ง ช่องบนกระดาน ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสีขาวและดำ เป็นสีที่เป็นคู่ตรงข้ามกันและกันอย่างชัดเจน ซึ่งสีคู่ตรงข้ามนี้ได้ถูกนำมาใช้ในฉากสุดท้ายของเรื่องเพื่อสร้างโลกของหมากรุกไว้ในฉากสุดท้ายนี้
เราจะได้ข้อมูลผ่านทางเนื้อเรื่องตลอดว่าประเทศรัสเซียนี้คลั่งไคล้หมากรุกมากๆ และมียอดฝีมือหมากรุกมากมาย ในขณะที่ตัว Beth เองก็เตรียมการในการมารัสเซียนี้มาตลอด ตั้งแต่เริ่มเรียนภาษารัสเซียมาตั้งแต่ต้นไปพร้อมๆกับการลงแข่งหมากรุกระดับมืออาชีพ จนท้ายที่สุดได้มาแข่งและเป็นแชมป์โลกในประเทศรัสเซียนั่นเอง
ผู้สร้างจึงเลือกใช้สีขาวและดำนี้เพื่อสร้างโลกของหมากรุกขึ้นมา และได้ทิ้งคำใบ้เล็กๆให้เราไปจินตนาการเองได้ว่าจริงๆแล้วชีวิตของ Beth จะเป็นยังไงต่อ ในเมื่อท้ายที่สุดนี้ Beth ในฐานะแชมป์โลกหรืออาจจะเรียกได้ว่า “Queen” ของวงการหมากรุก ก็ได้เจอกับโลกที่รู้สึกว่าเหมาะกับตนเองแล้ว โลกที่มีแต่คนที่หลงรักและคลั่งไคล้การเล่นหมากรุกแบบที่เธอเป็น โลกของหมากรุกในประเทศรัสเซียนี่เอง
การใช้คู่สีขาวดำนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการเผด็จศึกอย่างสวยงามให้กับเรื่องนี้
ถ้าใครยังไม่ได้ดูสามารถเข้าไปดูได้เลยตอนนี้ทาง Netflix ส่วนใครที่ดูแล้วมาแชร์
พูดคุยหรือถามคำถามกันมาได้ในช่อง Comment นะครับ ผมจะพยายามตอบเท่าที่ตอบได้
ใครที่ชอบบทความแบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Color In Story ไว้ได้ครับและยิ่งถ้าแชร์ไปให้เพื่อนๆใน Social ต่างๆมาอ่านและพูดคุยกันได้ยิ่งดี หลังจากนี้จะมีบทความเกี่ยวกับการใช้สีในภาพยนตร์หรือซีรีส์แต่ละเรื่องที่มีความน่าสนใจกันอีกหลายๆเรื่องอย่างแน่นอน
โฆษณา