1 เม.ย. 2021 เวลา 23:00 • การศึกษา
แม้เทวดาก็ช่วยไม่ได้
เราเกิดกันมาชีวิตหนึ่งเพื่อสร้างบุญบารมี เท่านั้น ไม่ใช่เกิดมาเพื่อเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ไปวันหนึ่ง ๆ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของทุกคน จะต้องบรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้นในขณะที่เรายังอยู่ในระหว่างการเดินทางไกล เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง เราจะต้องเตรียมเสบียงติดตัวไปในภพเบื้องหน้า เสบียงที่ดีที่สุดคือบุญกุศล ซึ่งเกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ หากเราทำสิ่งเหล่านี้ได้สมบูรณ์ เราจะมีเสบียงติดตัวไปในภพชาติ เบื้องหน้า จะทำให้การสร้างบารมีเป็นไปได้อย่างง่ายดาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สิงคาลกสูตร ว่า...
คฤหบดีบุตร การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ
ชีวิตของคนในโลกนี้ ที่ประสบกับความเสื่อม สิ้นเนื้อประดาตัว ล้วนมาจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่เป็นคนเกียจคร้านไม่ขยันทำงาน เที่ยวกลางคืน ชอบเล่นการพนัน เสพสุรายาเสพติด ยินดีในการคบหาสมาคมกับคนไม่ดี เป็นต้น ซึ่งมักจะชักนำไปในทางที่เสื่อม และสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หมดบุญ
ถ้าไม่ได้สั่งสมบุญเพิ่มเติม กินแต่บุญเก่า เมื่อบุญหมด ก็หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ใคร ๆ ก็ช่วยไม่ได้ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ อาจจะสูญหายไปหมด ตั้งแต่ทรัพย์สมบัติถูกน้ำพัดพาไป เรือกสวนไร่นาเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ไร่ อาจจะสูญเสียไปภายในวันเดียว โดยเฉพาะหากโชคร้ายถูกโจรปล้น หรือไฟไหม้ ทรัพย์ที่มีอยู่ก็วอดวายไปภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้ามีบุญมากแล้ว ชีวิตก็สมปรารถนาในทุกสิ่ง
พระพุทธองค์ตรัสว่า การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ เป็นโทษที่นอกจากจะส่งผลเฉพาะชาตินี้แล้ว ยังเป็นวิบากข้ามภพข้ามชาติอีกด้วย พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย น้ำเมาคือสุราเมรัย ที่บุคคลเสพแล้ว ดื่มให้มากแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในเปตวิสัย และสัตว์เดียรัจฉาน ผลกรรมของการดื่มสุรา และเมรัย อย่างเบาที่สุดเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นบ้า มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ขอยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยก่อน
1
เรื่องมีอยู่ว่า ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ มีเทวดาองค์หนึ่งได้เห็นจุตินิมิต เหงื่อไหลออกจากรักแร้ ทิพยภูษาอาภรณ์จากที่เคยเปล่งปลั่งสว่างไสว ก็เศร้าหมองลงทันตา มีความรุ่มร้อนขึ้นมาในกาย ท่านรู้ชัดว่า ถึงคราวตนเองจะต้องจุติแล้ว จึงเกิดความเสียดายในทิพยสมบัติที่เคยครอบครอง แต่ก็ไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะได้ครอบครองสมบัติเหล่านี้อีก
ขณะนั้นเอง ความคิดถึงท้าวสักกะ จอมเทพปรากฏเข้ามาในใจ ท่านจึงคิดจะไปขอความช่วยเหลือจากท้าวสักกะ โดยรีบเหาะเข้าไปนอบน้อมต่อจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น พระอินทร์บังเกิดความสงสาร เทพบุตรท่านนั้น ได้ปลอบใจว่า ท่านอย่าได้กังวลไปเลย การเกิด การตายเป็นเรื่องปกติในเทวโลก ถ้าท่านมีบุญก็จะได้มาเสวยทิพยสมบัติในเทวโลกนี้อีก เพราะฉะนั้น ตอนนี้ท่านต้องจุติลงไปเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อสร้างบุญเพิ่มให้มาก ๆ เมื่อหมดอายุขัย จะได้มาเสวยสมบัติในเทวโลกตามเดิม
เทพบุตรท่านนี้รู้ว่า หากลงไปเกิดเป็นมนุษย์ ส่วนใหญ่จะประมาทในชีวิต เพราะการเข้าสู่ครรภ์มารดาจะทำให้หลงลืม เมื่อหลงลืม ก็หลงใหล หลงผิด ไปทำบาปอกุศลได้ง่าย จึงทูลขอความช่วยเหลือว่า ข้าแต่เทวราช หากข้าพระองค์จุติลงไปเกิดในโลกมนุษย์แล้ว เมื่อปรารถนาจะทำอะไร ขอพระองค์จงช่วยบันดาลความสำเร็จแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระอินทร์ทรงรับคำว่าจะช่วย
ต่อมา เทพบุตรท่านนี้จุติลงไปเกิดเป็นลูกของเศรษฐีในเมืองพาราณสี เนื่องจากเศรษฐีมีลูกชายเพียงคนเดียว จึงเฝ้าฟูมฟักทะนุถนอมเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ไม่ว่าลูกชายปรารถนาสิ่งใด ก็หามาให้ เลี้ยงดูชนิดตามใจทุกอย่าง ครั้นเติบโตขึ้น ด้วยความรัก และเป็นห่วงลูก แทนที่จะส่งลูกไปเรียนตามสำนักต่าง ๆ กลับคิดว่า ตนเองมีทรัพย์มาก จึงจ้างครูมาสอนที่บ้าน เพื่อลูกชายจะได้ไม่ลำบาก
เนื่องจากลูกชายไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ยอมทำการบ้าน ครูอยากให้ลูกศิษย์ได้ดี บางครั้งก็เฆี่ยนตี บางทีก็ดุด้วยความปรารถนาดี แต่ลูกชายเศรษฐีไม่พอใจที่ถูกทำโทษ จึงไปฟ้องพ่อแม่ว่า ถูกครูรังแก ท่านเศรษฐีจึงไล่ครูออกจากบ้าน แล้วจ้างครูคนใหม่มาแทน เมื่อครูคนใหม่เข้ามาสอน ก็ต้องประสบกับเหตุการณ์เดิม ๆ สอนได้ไม่กี่วันก็ถูกเลิกจ้าง ท่านเศรษฐีต้องเปลี่ยนครูหลายคน เพื่อให้ถูกใจลูกชายสุดที่รัก ในที่สุดก็เจอครูในอุดมคติของลูกชาย คือ ลูกศิษย์จะทำอะไรก็ตามใจทุกอย่าง จะเล่นก็ไม่ตักเตือน ไม่ทำการบ้านก็ไม่ลงโทษ ครูคนนี้จึงอยู่ได้นาน แต่ลูกศิษย์ก็โง่เหมือนเดิม
ต่อมาลูกชายคบเพื่อนที่เกเร ได้ชักชวนกันไปเที่ยวเตร่เฮฮาไปวัน ๆ ไม่ทำมาหากิน เพราะเห็นว่าสมบัติมากมายที่พ่อแม่หามาได้ ใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด อีกทั้งลูกเศรษฐีเป็นผู้มีบุญอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นท้าวสักกเทวราชเสมอ จึงคิดว่า เรามีผู้ช่วยที่ดีที่สุด ทำให้ประมาท ไม่ยอมทำมาหากิน เอาแต่ดื่มสุราเมรัย ปล่อยชีวิตไปวัน ๆ เมื่อเศรษฐีละโลกไปแล้ว ลูกเศรษฐีก็ไม่มีใครช่วยดูแลการเงินอีกต่อไป ไม่รู้จักการบริหารงาน บริหารเงิน สมบัติก็ถูกคนรับใช้โกงไปเรื่อย ๆ ครั้นดื่มเหล้า หนักเข้าก็กลายเป็นนักเลงสุรา หาความสำราญไปวัน ๆ เงินทองก็เริ่มร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่รู้สึกกังวลใจ เพราะเห็นพระอินทร์เฝ้ามองดูตนตลอดเวลา
เพียงไม่กี่ปีที่พ่อแม่ละโลกไป ลูกเศรษฐีผลาญทรัพย์ของตนจนหมดตัว ต้องขายบ้าน ขายที่เพื่อไปเล่นการพนัน และซื้อเหล้าดื่มกิน สุดท้ายเมื่อไม่มีทรัพย์แล้ว เพื่อนเกลอทั้งหลาย ก็กลายเป็นอื่น ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย ตนเองก็กลายเป็นคนไม่มีที่พึ่ง เอากะลาไปเที่ยวขอทานเขากิน ก่อนตายได้แหงนหน้า มองดูพระอินทร์เป็นครั้งสุดท้าย และต่อว่าต่อขานพระอินทร์ว่า ทำไมถึงไม่ยอมช่วย
พระอินทร์บอกลูกเศรษฐีว่า เราพร้อมจะช่วยท่านทุกเมื่อ แต่ตัวท่านไม่เคยคิดจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าหากจะลงทุนทำธุรกิจ เราก็จะช่วยดลบันดาลใจให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม แต่ท่านเอาแต่ดื่มสุราทุกเช้าค่ำ เที่ยวเตร่เฮฮาหาสาระไม่ได้ แล้วจะให้เราช่วยท่านได้อย่างไร จากนั้นได้อันตรธานจากไป เมื่อลูกเศรษฐีตายแล้ว ก็ไปตกในมหานรก ทันที
จะเห็นได้ว่า การดื่มสุราเมรัย นอกจากจะเป็นทางมาแห่งความเสื่อมแห่งโภคะแล้ว ยังเสื่อมจากสมบัติที่พึงได้ในปรโลก และเสื่อมจากนิพพานสมบัติอีกด้วย เงินทองที่หามาได้ แทนที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ กลับนำไปเป็นอุปกรณ์ในการทำร้ายสุขภาพร่างกายตนเอง และทำลายชื่อเสียงเกียรติยศอีกด้วย ดังนั้น สุราเมรัยทุกชนิด จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความประมาท ซึ่งผู้ประมาทเปรียบเสมือนคนที่ตายไปแล้ว คือ ตายจากกุศลความดีทั้งหลาย หาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้ยาก
เพราะฉะนั้น ท่านที่ยังดื่มสุรา ขอให้เลิกเสีย ความทุกข์ ที่เกิดขึ้น เพราะดื่มสุราในชาตินี้ยังพอทนได้ แต่ความทุกข์ที่จะต้องไปชดใช้กรรมในมหานรกนั้น แสนสาหัสกว่านี้มากมายหลายเท่านัก ใครมีลูกมีหลานพวกพ้องบริวาร ก็แนะนำให้เขาเห็นถึงโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ และชักชวนกันมาทำความดี มาดื่มรสพระธรรมกันดีกว่า เพราะรสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง และควรเพิ่มเติมคุณค่าของชีวิต ด้วยการห่างไกลจากยาเสพติด และอบายมุขทุกชนิด อีกทั้งให้หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้เต็มที่ นอกจากจะได้ความสุขในโลกนี้แล้ว ยังจะได้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์อีกด้วย
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔ หน้า ๑๘๐ - ๑๘๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
นิทานพื้นบ้าน
โฆษณา