3 มี.ค. 2021 เวลา 13:09 • หนังสือ
📚 รีวิวหนังสือ The Outward Mindset กรอบความคิดที่จะทำให้คุณแตกต่างและประสบความสำเร็จกว่าคนอื่น! 📚
The Outward Mindset
เขียนโดย The Arbinger Institute
แปลไทยโดย สำนักพิมพ์วีเลิร์น
พูดถึงคำว่า “mindset” เป็นอีกคำยอดฮิตคำหนึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีหนังสือหรือบทความต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการพัฒนาตนเองพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำว่า “Growth Mindset”
👉🏻 ว่ากันว่า “mindset” เป็นสิ่งที่สำคัญสุด ๆ หากคนเราจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรบางอย่าง เพราะ mindset นั้นเปรียบเหมือนความเชื่อลึก ๆ ของคนเราซึ่งความเชื่อเหล่านี้มันจะมีผลต่อพฤติกรรมหรือการแสดงออกของเราอย่างมาก หากไม่สามารถเปลี่ยน “mindset” ได้ การจะทำอะไรหรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะสามารถทำได้ยากมาก หรือหากทำได้ก็จะไม่มีความยั่งยืน 👈🏻
📍 “Mindset drives and shapes all that we do” 📍
คำว่า “Growth Mindset” ซึ่งตรงข้ามกับ “Fixed Mindset” นั้นเป็นที่พูดถึงอย่างมาก จากหนังสือชื่อ Mindset ที่เขียนโดย Carol S. Dweck ซึ่ง Growth Mindset ก็หมายถึงการมี mindset ที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา อยากพัฒนาตนเองเสมอ อยากทำอะไรที่ท้าทายความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยึดติดกับอะไรที่ทำสำเร็จแล้ว เปิดใจรับฟังเพื่อปรับปรุงพัฒนาตนเองเสมอ
📌 สำหรับคำว่า “Outward Mindset” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกตอนฟัง The Standard Podcast ตอนที่สัมภาษณ์คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ที่นำ “Outward Mindset” มาใช้ปรับเปลี่ยนบริษัท AP Thailand ซึ่งมีปัญหาด้านการเติบโตที่ดูเหมือนว่ายอดขายติดแหง็กและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ตามที่หวังไว้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยน mindset ใหม่ทั้งองค์กรก็ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องจนยอดขายทะลุ 4 หมื่นล้านบาท!
1
สำหรับคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “Outward Mindset” ก็คือ “Inward Mindset” นั่นเองครับ แล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างไร?
……………..
“Inward VS Outward Mindset” 🧠
“Inward Mindset” ก็หมายถึงการมองเข้าข้างในซึ่งก็คือการมองหรือยึดตัวเราเองเป็นหลัก เช่น มองประโยชน์ที่เราจะได้จากการทำอะไรซักอย่างเป็นหลัก หรือในการทำงาน เราก็จะมองแต่ผลที่เราจะได้จากการทำงานชิ้นนั้น ๆ เช่น การดูแต่ KPI ของตัวเองเป็นหลัก
ส่วน “Outward Mindset” ก็จะตรงกันข้ามกันคือจะเป็นการมองออกข้างนอกถึงคนอื่นรอบ ๆ ตัวเราเป็นหลัก มองถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนภายนอก เช่น การมองเป้าหมายของทีมหรือของบริษัทเป็นหลักแทนที่จะมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง
กรอบความคิดแบบ outward mindset นั้นเค้าบอกว่านอกจากเราต้องตระหนักและใส่ใจความต้องการ เป้าหมายรวมถึงปัญหาของคนอื่น แล้วเราต้องมองคนอื่น “ในฐานะที่เป็นมนุษย์” ไม่ใช่เครื่องมือ สิ่งของหรือวัตถุ เช่น การที่พ่อพยายามพาลูกไปเล่นฟุตบอลทุก ๆ วัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยถามลูกซะด้วยซ้ำว่าเค้าชอบฟุตบอลรึเปล่า เราควรจะถามเค้าว่าเค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไรก่อนมากกว่าใช่มั้ยครับ?
1
📌 ในหนังสือได้ยกตัวอย่างเรื่องของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้ลดต้นทุนลงไปถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐให้ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งคำสั่งนี้มาพร้อมกับคำขู่ด้วย (หากทำไม่ได้คงจะจำเป็นต้องลดคน) ซึ่งหลังจากนั้นแต่ละทีมก็ไประดมสมองแล้วก็คิดหาวิธีลดต้นทุนในส่วนงานของตัวเอง ซึ่งแน่นอนก็คือการตัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป แต่เมื่อมาดูยอดที่ลดได้ ก็ยังน้อยมากเนื่องจากแต่ละทีมก็มีข้อจำกัดของตนเองที่ทำให้ตัดค่าใช้จ่ายให้ลงไปมากกว่านี้ไม่ได้เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทได้ (มองตัวเองเป็นหลักแบบ inward mindset) ซึ่งแต่ละทีมก็มองว่าการที่จะลดต้นทุนให้ได้มากขนาดนั้นก็ต้องทำการเลิกจ้างพนักงานจำนวนเยอะพอสมควรเลยนั่นแหละ
มีผู้บริหารในกลุ่มหนึ่งเริ่มมองเห็นผลกระทบที่จะเป็นวงกว้างหากต้องลดคน จึงเริ่มมานั่งคุยกันว่าจะมีใครได้รับผลกระทบบ้างหากเกิดการเลิกจ้างพนักงาน หลังจากนั้นจึงพบว่าผลกระทบนั้นใหญ่มาก จึงเริ่มมองหาวิธีอื่นนอกจากการลดคนดู
💡 โดยผู้บริหารกลุ่มนี้ร่วมกันกับทีมที่ปรึกษาใช้วิธีแบ่งกลุ่มผู้บริหารออกแล้วให้ไปนั่งคุย เรียนรู้ขอบเขตงานของคนอื่นและให้คิดว่าเราจะช่วยคนอื่นในส่วนนั้นได้อย่างไรบ้าง หลังจากได้เรียนรู้แล้วนั้นก็มีผู้บริหารคนหนึ่งมองว่ามันน่าจะดีถ้ามีการยุบแผนกของเค้าไปรวมกับอีกแผนกนึง แต่ผู้บริหารคนนั้นต้องลดตำแหน่งของตัวเองลงไปอยู่กับอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการระดมสมองเพิ่มทำให้เห็นว่าการทำแบบนี้สามารถลดต้นทุนบริษัทได้ถึง 7 ล้าน ซึ่งนี่แหละครับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เค้าทำการลดต้นทุน 100 ล้านได้สำเร็จในที่สุด 💡
1
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อคนเราเลิกคิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง กลับไปมองผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ก็ทำให้สามารถคิดหาทางเลือกใหม่ ๆ ออก และนี่แหละครับคือตัวอย่างของการมี “outward mindset” 👍🏻
1
……………..
💡 ในหนังสือมีอีกตัวอย่างที่น่าสนใจทีเดียวเป็นเรื่องของบริษัทรับทวงหนี้ที่มีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็น บริษัททวงหนี้ทั่วไปนั้นเวลาจะทวงหนี้จากลูกหนี้ก็มันจะมีการโทรไปแจ้ง ทวง บางที่ถึงขนาดมีการพูดจาไม่ดี พูดจาข่มขู่ลูกหนี้ หรืออาจถึงแม้กระทั่งตามไปรีดไถเงินจากลูกหนี้
1
แต่มีบริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งที่มีบิล บาร์ตแมนน์เป็นเจ้าของนั้นใช้วิธีที่แตกต่างออกไปจากที่อื่น เพราะเค้ามีแนวความคิดที่ว่าลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้นั้นก็เพราะเค้าไม่มีเงินและเค้าลำบากจริง ๆ ดังนั้นเค้าถึงคิดหาวิธีที่ทำอย่างไรหละให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีรายได้ขึ้นมา เค้าจะได้ชำระหนี้ได้
ซึ่งเค้าเริ่มจากการที่เค้าช่วยลูกหนี้เขียนเรซูเม่เลยครับ เพื่อหางาน...แถมยังช่วยจัดแจงเรื่องใบสมัคร ทำการนัดสัมภาษณ์ เป็นธุระให้เรียบร้อย แถมยังโทรไปปลุกไปสัมภาษณ์อีกต่างหาก! 😱
หลังจากนั้นก็ขยายไปยังการช่วยเหลือลูกหนี้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องอื่นอีกมากมายตั้งแต่การช่วยดูแลลูก ไปจนถึงการช่วยซ่อมแซมบ้านให้ลูกหนี้! อะไรมันจะขนาดนี้!
1
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเมื่อผ่านไป 3 ปี อัตราการเก็บหนี้ได้ของบริษัทเค้าสูงกว่าบริษัทอื่นถึงสองเท่า! 📈 เหล่าลูกหนี้ต่างรู้สึกว่าบริษัทแห่งนี้ให้ความช่วยเหลือเค้าอย่างมาก และเป็นเหมือนกับเพื่อนคู่คิดของพวกเขา
1
……………..
แนวทางในการนำวิธีการคิดแบบ outward mindset ไปใช้ในการทำงานจริง ๆ นั้นมีสามขั้นตอนที่จำง่าย ๆ ว่า “SAM” ซึ่งได้แก่
1
✅ See others การมองเห็นคนอื่น
✅ Adjust efforts การปรับเปลี่ยนการทำงาน
✅ Measure impact การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
หนังสือได้ยกตัวอย่างการใช้วิธีการทั้งสามนี้ในเรื่องของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ 🚗 ที่มีการจ้าง CEO ใหม่ที่ชื่อ อลัน มูลัลลี่ เมื่อปี 2006 ซึ่งตอนนั้นบริษัทอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างย่ำแย่ โดยมีการขาดทุนมหาศาลถึงหมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทันทีที่ CEO คนใหม่ได้เข้ามาทำงานก็สัมผัสได้ว่าภายในบริษัทไม่มีใครที่รู้สึกรับผิดชอบต่อปัญหาต่าง ๆ ของบริษัทเลย ในขณะที่บริษัทขาดทุนขนาดหนัก แต่ทุกคนยังมองว่าตัวเองนั้นทำงานดีอยู่แล้ว...
2
เมื่อเห็นแบบนั้นมูลัลลี่จึงจัดประชุมพิเศษขึ้นทุกสัปดาห์เพื่อให้แต่ละทีมเตรียมแผนภาพมาเสนอผลการดำเนินงานของส่วนงานตนเอง โดยหากเป็นไปตามแผนให้โชว์สีเขียว หากเสี่ยงต่อการหลุดจากแผนให้เป็นสีเหลือง ส่วนงานที่ไม่เป็นไปตามแผนให้ใช้สีแดง ปรากฏว่าทีมผู้บริหารแต่ละทีมกลับโชว์แต่แผนภาพที่เต็มไปด้วยสีเขียว ทั้ง ๆ ที่บริษัทขาดทุนขนาดหนัก! 🙄🙄🙄
1
ถามว่าเพราะอะไรทุกคนถึงทำแบบนั้น? ก็เพราะทุกคนกลัวว่าหากโชว์ความผิดพลาดของตัวเองไปแล้วนั้น คงจะไม่ได้ทำงานต่อที่นั่นต่ออีกแล้วหรือโดนไล่ออกนั่นเอง จึงไม่มีใครยอมรับความผิดพลาดเลย
จนกระทั่งมาร์ก ฟิลด์ส ซึ่งดูแลกิจการของฟอร์ดในอเมริกาอยู่ ณ ขณะนั้นเจอปัญหาในตัวรถฟอร์ดเอดจ์รุ่นใหม่ ซึ่งจริง ๆ เป็นปัญหาที่ฝากระโปรงท้ายที่อาจจะเป็นคันเดียวก็ได้ เค้ามีสิทธิที่เลือกที่จะไม่บอกใครแล้วเดินหน้านำรถรุ่นใหม่ออกไปเปิดตัวตามแผน แต่ฟิลด์สนั้นตัดสินใจที่จะเลื่อนการเปิดตัวรถใหม่ออกไปแล้วมารายงานต่อมูลัลลี่ในการประชุมประจำสัปดาห์ โดยโชว์สีแดงเต็มไปหมดในแผนภาพของงานของตน 😨
หลังจากที่มูลัลลี่ได้เห็นและเค้าก็ได้เปิดโอกาสให้คนอื่นในที่ประชุมช่วยคิดหาวิธีแก้ไขงานของฟิลด์ส ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการระดมสมองขึ้น บางคนที่มีประสบการณ์เคยเจอเรื่องแบบนี้มาแล้วก็นำข้อมูลปัญหามาแชร์กัน ซึ่งหลังจากนั้นทุกคนคิดว่าฟิลด์สคงจะโดนไล่ออกแน่ ๆ จากความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงขนาดนี้
แต่ไม่ใช่เลยครับ มูลัลลี่บอกว่า “ปัญหาต่างหากที่เป็นสีแดง ไม่ใช่ที่ตัวฟิลด์ส”
ทำให้หลังจากนั้นทุกคนกล้าที่จะโชว์แผนภาพที่มีสีแดงขึ้น นำปัญหาของตัวเองมาถกและพูดคุยในที่ประชุม ทำให้ปัญหานั้นค่อย ๆ ถูกแก้จนบริษัทนั้นผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินในปี 2007-2008 ได้ 👍🏻
1
ซึ่งจากเรื่องราวของฟอร์ดจะเห็นข้อสรุปได้ดังนี้นะครับ
1. การมองเห็นปัญหาและความต้องการของผู้อื่น อย่างที่มูลลัลลี่จัดการประชุมให้ทุกคนมานั่งคุยกัน และพยายามจะส่งเสริมให้แต่ละคนมองปัญหาของคนอื่นและช่วยกันแก้ปัญหา ✅
2. ปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองให้ช่วยคนอื่นได้มากขึ้น ก็คือการที่มูลลัลลี่ให้โอกาสทุกคนเสนอทางออก ทางแก้ปัญหาให้แก่กันและกันในที่ประชุม ให้ทุกคนช่วยกันรับผิดชอบไม่ใช่แต่เฉพาะงานของตัวเอง มีการปรับการทำงานที่สามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น ✅
3. การประเมินผลกระทบ การที่มูลัลลี่ให้แต่ละคนเข้ามาอัพเดทสถานการณ์สัปดาห์ละครั้งว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรเป็นการช่วยให้ทีมได้เข้ามาประเมินผลกระทบและผลลัพธ์ทีมีต่อบริษัท ✅
……………..
“อย่ารอคนอื่น”
เค้าบอกว่ากับดักที่เจอบ่อยที่สุดในการเปลี่ยนแปลง mindset ก็คือการที่เราคาดหวังหรือรอให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วเราค่อยเปลี่ยนตาม ซึ่งอันนี้พบเจอได้บ่อยมาก ๆ เช่น พนักงานรอให้ผู้บริหารเปลี่ยนแปลง ส่วนผู้บริหารก็รอให้พนักงานเปลี่ยนเหมือนกัน หรือกระทั่งคนที่เป็นแฟนหรือแต่งงานกัน ก็มีบ่อยครั้งมีต่างฝ่ายต่างเอาแต่รอให้อีกฝ่ายเปลี่ยนหรือปรับตัวก่อน
2
สุดท้ายเมื่อต่างฝ่ายต่างรอจะเกิดอะไรขึ้นครับ?
ก็เลยไม่มีอะไรเกิดขึ้นไงครับ เค้าเลยบอกว่าการจะปรับเปลี่ยนกรอบความคิดนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน มันจะบรรลุเป้าหมายก็เมื่อทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองโดยที่ไม่ต้องคาดหวังให้คนอื่นมาตอบแทนเราโดยการเปลี่ยนตามเรา
ซึ่งแน่นอนครับว่าการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดคงไม่เกิดขึ้นและสำเร็จในชั่วข้ามคืนครับ มันต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว ฉะนั้นให้เราลงมือทำเลยครับแล้วมันจะเป็นก้าวที่สำคัญต่อเราเองและกับคนอื่นเช่นกัน
💡 ไม่ว่าจะทำอะไรหรือคุยกับใครให้เราถามตัวเองอยู่เสมอครับว่า “เป้าหมายของเค้าคืออะไร“ “เราจะช่วยเค้าได้ยังไงบ้าง”
1
👉🏻 ลองนึกภาพซิครับว่าถ้าในองค์กรเราที่เราทุกคนต่างเข้าใจและมีกรอบความคิดแบบ “outward mindset” ทุกคนจะเข้าใจและทำงานของตัวเองโดยรู้ว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวองค์กรเอง ผู้บริหาร ลูกน้อง ลูกค้า หรือคู่ค้านั้น มันก็น่าจะทำให้องค์กรนั้นเป็นองค์กรที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดีที่เข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนมีความเข้าใจในพันธะกิจและกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งก็จะทำให้องค์กรนั้นถูกขับเคลื่อนไปสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
1
……………..
📌 หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาอ่านไม่นานเลยครับ เพราะเล่มบาง ๆ ใครที่คิดจะเริ่มอ่านหนังสืออะไร เล่มนี้ก็เหมาะนะครับ เพราะอ่านง่าย สามารถอ่านรวดเดียวจบได้เลย อีกทั้งทาง we learn แปลได้ดีมากและอ่านเข้าใจง่ายมาก ๆ ครับ
ในเรื่องของ ”outward mindset” ผมสังเกตว่ามันสอดคล้องกับหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ “empathize” หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญของ “design thinking” หรือการให้มากกว่ารับที่จะทำให้เราได้รับผลที่ดีมากกว่า ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการคิดที่สำคัญในการที่เราจะทำอะไรก็ตาม
💡 นอกจากนี้ไม่เพียงแต่เราจะนำ “outward mindset” ไปใช้ในการทำงานเท่านั้น ผมมองว่ามันเป็นกรอบความคิดสำคัญที่เราใช้ในการใช้ชีวิตของเราได้เลยไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านกับครอบครัว คนที่เรารัก หรืออยู่กับเพื่อน ๆ เพราะการมองคนอื่นและพยายามเข้าใจเค้านั้นจะทำให้เกิดพลังบวกแก่คนรอบข้าง ผมคิดว่ามันจะช่วยทำให้เราเป็นคนที่น่ารักขึ้น มีคนชอบและคนนับถือมากขึ้น 😊 และที่สำคัญมันน่าจะทำให้คุณแตกต่างและประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนอื่นครับ ❤️
1
#TheOutwardMindset #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook - facebook.com/TheCrazyBookReader
โฆษณา