3 มี.ค. 2021 เวลา 15:14 • ประวัติศาสตร์
เกาชาง อาณาจักรพุทธโบราณบนสายแพรไหม
1
เกาชางกู่เฉิง 高昌古城 Gaochang Ruin Sites เป็นซากปรักเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง ๒๐ ตร.กม.
รูปปั้นพระถังซำจั๋งในวัยหนุ่ม ในอิริยาบถก้าวเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น ขณะที่ท่านออกธรรมจาริกแต่เพียงผู้เดียวมาถึงอาณาจักรพุทธเกาชางแห่งนี้ ท่านมีอายุได้เพียง ๒๘ ปี (ปีค.ศ.๖๓๐)
ที่ได้รับการรักษาไว้ได้ พุทธอาณาจักรเกาชางสันนิษฐานว่าก่อตั้งขึ้นหลังจากเมืองโบราณเจียวเหอประมาณ ๑๐๐ ปี คือในราวศตวรรษที่ ๑ ก่อนปีคริสตกาล ตั้งอยู่ในเขตเมืองถูหลู่ฟาน หรือ ทูร์พาน 吐鲁番 Turpan ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขตซินเจียงอุยกูร์ในปัจจุบัน
ทางเข้าเมืองโบราณเกาชาง ปัจจุบันอยู่ในเมืองถูหลู่ฟาน
ในหนังสือประวัติศาสตร์ดินแดนตะวันตกในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก บันทึกไว้ว่า “ดินแดนเกาชางนี้ มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มวลประชาต่างสมบูรณ์พูนสุข” ต่อมา ในสมัยราชวงศ์ถังได้ใช้เป็นหัวเมืองสำคัญทางตะวันตก มีเจ้าผู้ครองเมืองหรือกษัตริย์ปกครองเรียกว่า “เกาชางหวางกว๋อ” 高昌王国 กษัตริย์แห่งเมืองเกาชางที่มีชื่อเสียงที่สุด ผู้ทรงดำรงตนอยู่ในพุทธมามกะน่ายกย่องคือ กษัตริย์ชวีเหวินไท่ 麹文泰
1
ภาพวาดกษัตริย์ชวีเหวินไท่แห่งเกาชาง ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ในสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพระถังซำจั๋งออกธรรมจาริกสู่ดินแดนตะวันตก (ประเทศอินเดีย) ในปีค.ศ.๖๓๐ เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวจากเมืองอีอู่ (ฮามี่) ว่าพระถังซำจั๋งจากนครฉางอานได้จาริกมาถึง ก็ทรงออกมาต้อนรับพระถังซำจั๋งด้วยพระองค์เอง ทรงเลื่อมใสศรัทธาพระถังซำจั๋งยิ่ง และไม่อยากให้ท่านเดินทางจากไป ปรารถนาให้ท่านอยู่ที่เมืองเกาชางเทศน์สั่งสอนพระองค์ พระญาติวงศ์ ขุนนาง และประชาชน ๓ ปี
เพราะในเวลานั้นเมืองเกาชาง ยังขาดพระอาจารย์ผู้รู้ผู้สอนในพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง กษัตริย์ชวีเหวินไท่ทรงใส่ใจดูแลท่านเป็นอย่างพิเศษ ทำให้พระถังซำจั๋งรู้สึกเกรงใจพระองค์เป็นยิ่งนัก แต่ด้วยความมุ่งมั่งในปณิธานของท่าน จึงได้ตั้งปฏิญาณว่า จะไม่ขอฉันอาหาร เพื่อให้กษัตริย์กลับพระทัย แล้วจึงนั่งสงบไม่ฉันน้ำและอาหารอยู่ ๓ วัน
1
ฉากในภาพยนตร์เสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ เมื่อพระถังซำจั๋งได้พบกับกษัตริย์แห่งเกาชาง
กษัตริย์ชวีเหวินไท่ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยยิ่งนัก จึงเลิกล้มความตั้งใจ กราบขอขมาท่าน และยอมให้เดินทางต่อไปตามเจตจำนง แต่ขอให้ท่านฉันน้ำและอาหารก่อน โดยในขากลับพระองค์ขอให้ท่านมาพำนักอยู่ที่เมืองเกาชางนี้ ๓ ปี โดยในระหว่างนี้ขอให้พักอาศัยอยู่หนึ่งเดือนก่อน เพื่อแสดงธรรม ท่านรับคำตามที่พระองค์ทรงขอ จากนั้นกษัตริย์ชวีเหวินไท่จึงได้ทรงสร้างโรงธรรมเพื่อให้ท่านเทศน์สั่งสอนพระมารดา พระองค์ พระราชวงศ์ ขุนนาง และประชาชนก่อน ๑ เดือน
6
วัดพระใหญ่ ที่พระถังซำจั๋งเคยมาเทศนาโปรดกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และประชากรเมืองเกาชางอยู่ในนาน ๑ เดือน
กล่าวกันว่า พระองค์ทรงกราบพระถังซำจั๋งลงกับพื้น และใช้พระวรกายของพระองค์น้อมลงเพื่อให้พระถังซำจั๋งเหยียบก้าวขึ้นเทศน์บนโรงธรรมอยู่เป็นนิตย์ รูปรอยของโรงธรรมนี้ ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ใจกลางวัดพระใหญ่ และก่อนที่ท่านจะจากเมืองเกาชางไป พระองค์ได้ทรงบรรพชาสามเณร ๔ รูป เพื่อให้คอยติดตามรับใช้ท่าน จัดเสบียงเงินตรา ผ้าสบง จีวรของใช้จำเป็น พร้อมทั้งม้าและคนรับใช้ ให้ท่านเดินทางสู่อินเดียได้โดยสะดวก
6
ซากเมืองโบราณเกาชาง เมืองโบราณที่ใหญ่ที่สุดของจีน
พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้เปิดทางให้พระถังซำจั๋งเดินทางสู่อินเดียได้โดยสะดวก นับว่ากษัตริย์ชวีเหวินไท่ ทรงมีคุณูปการอันเอกอุต่อการธรรมจาริกสู่ดินแดนตะวันตกของพระถังซำจั๋งโดยแท้จริง และหากไม่มีพระองค์ ความเพียรและความมุ่งมั่นของพระถังซำจั๋ง อาจไม่เป็นจริงดังเช่นบนหน้าประวัติศาสตร์ก็เป็นได้
ทว่าต่อมาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระอนุชาได้ขึ้นปกครอง เปลี่ยนวิเทโศบาย ไม่สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ถัง เรียกเก็บภาษีการค้าบนเส้นทางสายแพรไหมอย่างสูงลิ่ว ทำให้เหล่าพ่อค้าวาณิชที่มาทำการค้าถูกขูดรีดภาษี่จนเดือดร้อนไปทั่ว จึงนำข่าวไปแจ้งต่อราชสำนักถัง จักรพรรดิถังไท่จงจึงทรงบัญชาให้กองทหารหัวเมืองทางตะวันตกยกทัพไปปราบหัวเมืองเกาชางเสีย ในปีค.ศ.๖๔๐ จากนั้น เกาชางจึงมีฐานะเป็นเพียงอำเภอ ขึ้นอยู่กับเขตการปกครองอานซี
ซากปรักเมืองโบราณพุทธเกาชางใต้เงื้อมเงาของภูเขาเพลิง-หั่วเยี่ยนซาน แลเห็นมัสยิดยอดโดมและหอขานละหมาดอันสูงอยู่ด้านข้าง
ดังนั้น ในเที่ยวกลับจากอินเดีย ในขณะที่พระถังซำจั๋งพำนักอยู่ที่เมืองเหอเถียน ก็ได้ทราบว่ากษัตริย์ชวีเหวินไท่สิ้นพระชนม์ และเมืองเกาชางได้ตกเป็นดินแดนของราชวงศ์ถังเสียแล้ว ท่านจึงได้ส่งสมณสาส์นไปกราบบังคมทูลจักรพรรดิถังไท่จงให้ทรงทราบถึงการเดินทางกลับมาจากอินเดียของท่าน หลังจากได้รับพระราชสาส์นจากจักรพรรดิถังไท่จง ท่านจึงเดินทางพร้อมคณะที่มาต้อนรับออกจากเมืองเหอเถียน กลับผ่านเมืองรว่อเชียง และเมืองตุนหวง กลับคืนสู่นครฉางอาน โดยไม่ได้แวะที่เมืองเกาชาง
และนับจากคริสต์ศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา ชาวหุยหูได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเกาชางแห่งนี้ และสถาปนาอาณาจักรหุยหูเกาชางหวางกว๋อขึ้น และดำรงคงอยู่จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เมืองเกาชางจึงถูกสงครามทำลายลงอย่างสิ้นเชิง (ในระยะเวลาใกล้เคียงกับเมืองโบราณเจียวเหอ)
3
พระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม ในอดีตเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนับร้อยองค์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นบางส่วน และยังคงเห็นเค้ารางภาพเขียนสีพระรัศมีของพระพุทธรูปในช่องสี่เหลี่ยมวงโค้ง
เมืองโบราณเกาชางในทุกวันนี้ มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง ๒๐ ตร.กม. นับเป็นซากปรักเมืองโบราณที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีบันทึกพรรณนาไว้ว่า "ภายในตัวเมืองเคยมีประชากรอยู่อาศัยถึง ๓ หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นพระภิกษุถึง ๓,๐๐๐ รูป มีการแบ่งเมืองเป็นสามเขตคือ เขตราชสำนัก เขตวัด และเขตบ้านเรือนอยู่อาศัย"
1
หมุดหมายสำคัญอันดับหนึ่งของเกาชางคือ วัดต้าฝอซื่อหรือวัดพระใหญ่ ซึ่งอยู่ภายในรอบรั้วกำแพงพระราชวังอันยิ่งใหญ่ ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง ๓๐,๐๐๐ ตร.ม. ภายในยังเห็นโรงธรรมของพระถังซำจั๋ง ร่องรอยซากพระวิหาร พระเจดีย์ผนังอิฐสูงราว ๘ เมตร มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูป แม้ทุกวันนี้จะไม่มีพระพุทธรูปคงเหลือปรากฎอยู่ แต่ในบางช่อง ยังเห็นเค้าลางของภาพเขียนสีพระรัศมีของพระพุทธรูปปรากฎอยู่ เป็นหลักฐานให้เห็นความเป็นพุทธอาณาจักรโบราณบนเส้นทางสายแพรไหมได้เป็นอย่างดี...
1
อ่านแล้วชอบ กดถูกใจ กดติดตาม เพื่อให้ผู้เขียนสร้างสรรค์ผลงานต่อไปนะครับ
โฆษณา