4 มี.ค. 2021 เวลา 19:04 • สุขภาพ
📍โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata #AA)
เป็นโรคผมร่วงที่มีลักษณะการร่วงเป็นหย่อม อาจมีเพียงหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขน
หมอมีคลิปวิดีโอการตรวจเส้นผมและหนังศีรษะในโรคผมร่วงเป็นหย่อมมาฝากกันครับ 👉https://youtu.be/4JeQlTtBQYY
🧬สาเหตุ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่กระบวนการเกิดผมร่วงเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการต่อต้านเซลล์บริเวณรากผม ส่งผลให้เกิดผมร่วงตามมา ปัจจัยประกอบอื่น ๆ พบว่า พันธุกรรมอาจมีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้ยังพบว่าโรคมักเกิดร่วมกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ตนเอง เช่น โรคไทรอยด์, โรคด่างขาว โรคเอสแอลอี (SLE) เป็นต้น
อุบัติการณ์
พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร โรคนี้พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย
🔬อาการและอาการแสดง
ผมร่วงจะมีลักษณะเป็นหย่อม ๆ รูปร่างกลมหรือรีขอบเขตชัดเจน อาจมีหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม
บางครั้งหย่อมผมร่วงอาจรวมกันจนลามทั่วศีรษะ ตำแหน่งของผมร่วงส่วนใหญ่เป็นที่ศีรษะ แต่สามารถพบได้ในตำแหน่งอื่นที่มีขนได้แก่ บริเวณหนวด เครา รักแร้ และหัวหน่าว ผิวหนังบริเวณผมร่วงจะมีลักษณะปกติ
อาจพบเส้นผมลักษณะเส้นสั้น ๆ บริเวณโคนผมเรียวเล็กลงคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ เป็นลักษณะเฉพาะที่พบในโรคผมร่วงเป็นหย่อม ในระยะที่โรคกำเริบเส้นผมบริเวณรอบ ๆ รอยโรคสามารถดึงหลุดออกได้ง่าย นอกจากนี้อาจจะพบความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย เช่น เป็นหลุมเล็ก ๆ บนแผ่นเล็บ หรือนูนเป็นสันตามยาวของเล็บ
💡การวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีลักษณะไม่ชัดเจน หรือมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย อาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจหาเชื้อราด้วยการขูดขุย, เจาะเลือดเพื่อตรวจการติดเชื้อซิฟิลิส, การทำงานของต่อมไทรอยด์, ตรวจหาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นต้น ในบางรายอาจต้องยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อ
การวินิจฉัยแยกโรค
วินิจฉัยแยกจากโรคผมร่วงในซิฟิลิสระยะที่สอง, โรคเชื้อราที่หนังศีรษะ และโรคดึงผมตนเอง
💉การรักษา
เริ่มต้นใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดแรง ทาบริเวณรอยโรค เช้า-เย็น หรือฉีดยาสเตียรอยด์ในบริเวณรอยโรคทุก 4 สัปดาห์ 📽https://youtu.be/DIUvsv2Tt2Y
ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจใช้สเตียรอยด์ชนิดรับประทานแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากผลข้างเคียงของยา หากไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาใช้ยากลุ่มอื่นได้แก่ anthralin, diphenylcyclopropenone (DCP) เป็นต้น
การพยากรณ์โรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่โรคจะหายเองได้ภายใน 1 ปี แต่อาจกลับเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 50
ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคอาจลุกลามจนเป็นทั่วศีรษะ (alopecia totalis) หรือเป็นทุกบริเวณของร่างกาย (alopecia universalis)
ในผู้ป่วยที่มีเล็บผิดปกติ, มีระยะการเป็นโรคมานาน, โรคกลับเป็นซ้ำหลายครั้ง, มีผมร่วงเป็นบริเวณกว้างบนศีรษะ, เริ่มเป็นโรคตั้งแต่อายุน้อย, ตำแหน่งผมร่วงเป็นบริเวณแนวของไรผมและเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีพยากรณ์โรคไม่ดี
💡คำแนะนำสำหรับการดูแลเบื้องต้นด้วยตนเอง
โรคนี้อาจหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องรักษาทุกราย แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามและตรวจหาโรคที่อาจพบร่วม นอกจากนี้ผู้ป่วยควรเข้าใจการดำเนินโรคว่า อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ทั้งในบริเวณเดิมหรือบริเวณอื่น ในช่วงรับการรักษาผู้ป่วยสามารถใช้วิกผมในระหว่างที่รอผลการรักษาหรือมีอาการผมร่วงมากได้
ผศ. นพ. ศุภะรุจ เลื่องอรุณ #หมอรุจ
#หมอรุจชวนคุย 👨‍⚕️😉
#ผมร่วง #ผมบาง #ผมร่วงเป็นหย่อม #Alopeciaareata #hairloss #AA #intralesionalsteroidinjection
โฆษณา