5 มี.ค. 2021 เวลา 03:20
ถ้าเราเทรดซื้อหุ้น บริษัทจะได้เงินจริงๆเท่าไหร่?
4
มีคำถามน่าสนใจที่หลายคนอยากรู้และถามดิฉันเข้ามาว่า ถ้าซื้อหุ้น OR จากแอพ Streaming แล้วตัวบริษัท OR เองจะได้เงินเท่าไหร่ คำตอบก็คือ 0 บาทคร่า….
2
แล้วเงินไปไหน?
มีความเข้าใจผิดหลายอย่างที่นักลงทุนบางคนเชื่อว่าการซื้อหุ้นจะเข้าไปช่วยประคับประคองบริษัทให้รอดจากวิกฤตต่างๆ เช่น กรณีของ GME หรือหุ้น GameStop Corp ที่เป็นตำนานของการพุ่งทะลุเพดานราคาจากการปั่นของนักลงทุนรายย่อย ที่ดิฉันเห็นว่ามีกระแสความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งถึงตรงนี้นักลงทุนที่พอมีประสบการณ์มาบ้างน่าจะรู้แล้วว่า เงินที่เราจ่ายไปเวลาซื้อหุ้นในกระดานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆเลย
1
ปกติแล้วบริษัทจะมีการระดมทุนจากนักลงทุนผ่านการนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกหรือที่เราเรียกกันว่า IPO ซึ่งคือการสร้างหุ้นขึ้นมาขายโดยมีตัวกลางจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆแลกกับค่าธรรมเนียมตามที่ตกลงกัน ( เช่น OR)
1
หรืออาจจะเป็นในรูปแบบ SPAC (Special Purpose Acquisition Company) ที่เป็นรูปแบบที่กำลังมาแรงมากๆในสหรัฐขณะนี้เนื่องจากทำได้ง่ายกว่า โดยเป็นการระดมทุนก่อนที่จะไปเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว (เช่น Burger King ที่ควบรวมกับ SPAC ชื่อว่า Justice Holding)โดยที่นักลงทุนในSPAC อาศัยความเชื่อมันในตัวบุคคลเพราะยังไม่รู้ว่าบริษัทจะไปควบรวมกิจการอะไร เหมือนได้รับเช็คที่ยังไม่ได้ลงจำนวนเงิน
SPAC is a blank check company
SPAC เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด
สุดท้ายคือ Direct Listing หรือการที่บริษัทขายหุ้นที่มีโดยตรงไม่ผ่านตัวกลางและไม่มีการสร้างหุ้นขึ้นมาใหม่ เช่นหุ้น SPOT ของบริษัท Spotify ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
เมื่อหุ้นของบริษัทถูกเทรดในตลาดรองแล้ว พอเราซื้อหุ้น หุ้นจะถูกเปลี่ยนมือจากผู้ถือหุ้นอีกคนที่ขายมาที่เราโดยตรง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นที่บริษัทเองมีเลย และเงินทั้งหมดก็จะเข้าไปที่โบรกเกอร์ของผู้ที่ขายหุ้นเช่นกันไม่นับค่าธรรมเนียมซื้อขาย ซึ่งจากตรงนี้การซื้อหุ้นของเราผ่านแอพไม่ได้ช่วยกอบกู้หรือส่งเสริมกิจการได้เลย
แล้วบริษัทมหาชนเหล่านี้ระดมทุนยังไงเมื่อหุ้นเข้าตลาดไปแล้ว?
บริษัทก็จะเพิ่มทุนได้หลายทางเลือกเช่น FPO (Follow-On Public Offer) คือบริษัทสร้างหุ้นขึ้นมาใหม่มาขายในตลาด ซึ่งวีธีนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นตามบัญชีและEPSลดลงเนื่องจากมีปริมาณหุ้นมากขึ้น(Dilutive FPO) กลไกเดียวกับการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มในระบบของแบงค์ชาติก็ทำให้ค่าเงินอ่อนลงนั่นเอง
โดยบริษัทอาจนำเงินที่ได้มาชำระหนี้หรือขยายกิจการโดยที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย ยกตัวอย่างเช่น Xiaomi ขายหุ้นเพิ่มทุนเมื่อปลายปีที่แล้ว9หมื่นล้านบาทเพื่อไปตบกับHuawei (ต่างกับเพิ่มทุน RO ที่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อแบบที่บ้านเรานิยมทำ) หรืออาจทำได้โดยการให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่มีหุ้น IPO ซึ่งโดยมากจะเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไป ก็สามารถทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้นและไม่ส่งผลต่อEPS (Non-Dilutive FPO)
สุดท้ายบริษัทอาจเลือกวิธีการกู้เงิน ซึ่งก็ต้องหาผู้ให้กู้ที่ตกลงดอกเบี้ยกู้ยืมที่เหมาะสม เช่นการกู้โดยตรงจากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเครดิตของบริษัทนั่นเอง เช่น บริษัท JKN ของแม่แอน ก็เคยออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ให้กับกองทุนในกลุ่มMorgan Stanley มูลค่า 1,200 ล้านบาทเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน โดยสามารถใช้สิทธิ์แปลงสภาพเป็นทุนได้ในราคา 8 บาทต่อหุ้นเป็นต้น
โฆษณา