Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
ไม่ประมาทในธรรม
การที่จะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยกำลังบุญบารมีที่มากเป็นพิเศษ ต้องทำพร้อมกันเป็นทีม ไม่มีใครน้อยหน้า ไม่มีใครล้ำหน้า และต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ มุ่งอุทิศตนให้กับงานสร้างบารมี และทำหน้าที่ของยอดนักสร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เพื่อขยายธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่มวลมนุษยชาติ การฝึกฝนอบรมตนเองให้สมบูรณ์พร้อมในทุก ๆ ด้าน และเป็นต้นแบบ ต้นบุญให้กับชาวโลก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของนักสร้างบารมี ที่จะดำรงตนเป็นผู้นำบุญผู้นำแห่งสันติภาพโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการฝึกฝนใจให้ใสบริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ถือว่าเป็นกรณียกิจของทุก ๆ คนที่จะต้องทำ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า สันติสุขที่แท้จริงของโลกจะบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัทธาสูตร ว่า....
พวกคนพาลผู้มีปัญญาทราม มัวตามประกอบความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือน รักษาทรัพย์อันประเสริฐ บุคคลไม่ควรประมาท และอย่าตามประกอบความสนิทสนม ด้วยอำนาจความยินดีทางกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุบรมสุข
ความประมาทเป็นมลทินของใจ เป็นหนทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือ ตายจากคุณธรรมความดี พลาดจากกุศลธรรมที่จะเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพาน เพราะเป้าหมายชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อสั่งสมบุญกุศลอย่างเดียว ส่วนเรื่องการทำมาหากินนั้น เป็นเพียงการแสวงหาทรัพย์มาหล่อเลี้ยงอัตภาพนี้ให้คงอยู่เท่านั้น ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงแสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี และเร่งรีบทำความดีแข่งกับเวลาที่ผ่านไป
นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ล้วนไม่มัวประมาทเพลิดเพลิน ในเบญจกามคุณ เพราะท่านพิจารณาเห็นความประมาทว่า เปรียบเสมือนตอขวางวัฏฏะ ทำให้นาวาชีวิตต้องสะดุดแล้วจมลงในทะเลแห่งความทุกข์ กว่าจะข้ามขึ้นฝั่งมาได้ก็ต้องผจญภัยในสังสารวัฏอีกยาวนาน
พระบรมศาสดาของเราทรงย้ำเตือนให้พุทธบริษัทไม่ประมาทในชีวิต ให้เร่งรีบสั่งสมบุญบารมี และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จะได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทรมาน
เหมือนในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ที่บุพพาราม มีภิกษุบวชใหม่จำนวน ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปพักอยู่ในปราสาทชั้นบน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพระบวชใหม่ เพิ่งเข้าสู่พระธรรมวินัยไม่นาน จึงมีจิตใจฟุ้งซ่าน เพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า
ครั้นภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เข้าไปในห้องพักแล้ว ต่างพากันนอนหลับในเวลากลางวัน ไม่ได้ปรารภความเพียร ตอนเย็นก็ลุกขึ้นมาสนทนากันในเรื่องไร้สาระ ทำให้ใจออกห่างจากศูนย์กลางกายซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งกุศลธรรม ส่วนใหญ่มักจะสนทนาในเรื่องลาภสักการะ เรื่องคน สัตว์ สิ่งของทั่ว ๆ ไป อีกทั้งส่งเสียงดังลั่นเหมือนพ่อค้าขายปลาในตลาด ขาดสมณสัญญา ไม่ได้สนทนาในเรื่องที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่าภิกษุเหล่านี้ มีกุศลจิตศรัทธาบวชเข้ามาในธรรมวินัยซึ่งเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ แม้อยู่ใกล้กับเราผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ แต่ก็เหมือนอยู่ห่างไกลกันคนละโยชน์ เพราะยังมัวเมาในลาภสักการะ มีความเป็นอยู่อย่างประมาท หากตายไปก็ต้องไปบังเกิดในอบายภูมิ ทรงมีพุทธประสงค์จะให้ภิกษุเหล่านั้น เกิดความสลดสังเวช จะได้ไม่ประมาทในชีวิต จึงทรงดำริถึงพระมหาโมคคัลลานเถระ ซึ่งในขณะนั้นพระมหาโมคคัลลานะรู้วาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเหาะมาด้วยฤทธิ์ พลางถวายบังคมพระพุทธองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เพื่อนสหพรหมจารีย์ของเธอยังเป็นผู้ประมาท มัวเมาในโลกามิสมากกว่าการแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เธอจงช่วยทำให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสลดใจเถิด พระมหาเถระรับพุทธบัญชาแล้ว ก็เข้าอาโปกสิณ ใช้นิ้วหัวแม่เท้าทำพื้นมหาปราสาทให้หวั่นไหว แผ่นดินก็สั่นสะเทือน ทำให้มหาปราสาทสั่นไหวประดุจจะโค่นล้มลง
เหล่าภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ต่างก็ขนลุกขนพองเกิดกลัวตายไปตาม ๆ กัน พากันร้องขอความช่วยเหลือเสียงดังลั่น ขาดสติสัมปชัญญะ ทิ้งจีวรของตนเอง รีบออกจากมหาปราสาท เพราะเกรงปราสาทจะล้ม เมื่อออกมาข้างนอก ก็ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบถวายบังคม พลางกราบทูลเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่พวกตนได้ประสบมา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปราสาทหลังนี้ โมคคัลลานะทำให้ไหวเอง เพื่อจะทำให้พวกเธอซึ่งมีสติหลงลืม ไร้สัมปชัญญะ อยู่ด้วยความประมาท ให้เกิดความสังเวช จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสให้โอวาทว่า เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ จงหมั่นศึกษาเพื่อสันติเถิด พญามารอย่ารู้เลยว่าเธอทั้งหลายประมาทแล้ว อย่าทำพวกเธอผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดา และมนุษย์ ต้องลำบากในสังสารวัฏ โอกาสดีในการปรารภความเพียรอย่าได้ผ่านไปเปล่าเลย เพราะผู้ทำประโยชน์ให้ล่วงเลยไปย่อมยัดเยียดกันในนรก เธอทั้งหลายอย่าได้มีธุลี คือความประมาทกันอยู่เลย พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชา
พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายขมังธนู ๔ คน มีความชำนาญในการยิงธนู ยืนอยู่ในทิศทั้งสี่ ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักจับลูกธนูที่นายขมังธนูทั้งสี่ ยิงมาจากทิศทั้งสี่ ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน เธอทั้งหลายจะสำคัญว่า บุรุษนั้นมีความเร็วอย่างยอดเยี่ยมหรือไม่
พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าแม้บุรุษนั้นจะพึงจับลูกธนูที่นายขมังธนูเพียงคนเดียวยิง ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน ก็ควรจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีความเร็วอย่างยอดเยี่ยม จะกล่าวไปไยถึงการจับลูกธนูทั้งสี่ ที่นายขมังธนู ๔ คนยิงมาจาก ๔ ทิศพระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเร็วของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้าของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ทั้งของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ส่วนอายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วเหล่านั้นทั้งหมด เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาท เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนภิกษุให้เห็นโทษของความประมาท และชี้ให้เห็นโทษเห็นภัยในอบายภูมิทั้งสี่แล้ว ทรงทำให้ภิกษุเกิดความอุตสาหะในการปรารภความเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเริ่มพิจารณาเห็นโทษของความประมาทอันจะเป็นเหตุให้ตกไปในอบายภูมิ ในที่สุดก็ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา เจริญวิปัสสนา และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทุก ๆ รูป
เราจะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นโทษของความประมาทว่า เป็นเหตุให้พลัดตกไปในอบายภูมิ ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ประมาทแล้ว เป็นชีวิตที่น่าสะพรึงกลัว มีทุกข์เป็นอนันต์ กว่าจะรู้ตัว ก็สายไปแล้ว พวกเราทุกคนจึงไม่ควรประมาท สิ่งที่ต้องเร่งรีบทำกันในขณะนี้ คือ ต้องไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม ในการสั่งสมบุญ และมีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ และทำอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่รอจนแก่ชราแล้วจึงเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็ฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยไปหมด ลุกก็โอยนั่งก็โอย ดังนั้น ก่อนสังขารจะร่วงโรย ให้เร่งรีบฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้หมั่นประคองใจอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา นำใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางพระธรรมกาย หากทำได้เช่นนี้ เมื่อมรณภัยมาถึง เราจะได้เดินทางไปสู่สัมปรายภพอย่างชื่นบานด้วยความองอาจมั่นใจ และมีชัยชนะ จะมีความสุขไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม
1
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔ หน้า ๓๐๔ - ๓๑๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ปรมัตถทีปนี..... เล่ม ๕๓ .... หน้า ๔๖๖
บันทึก
82
14
75
82
14
75
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย