5 มี.ค. 2021 เวลา 04:37 • สุขภาพ
เกร็ดวิจัยจิตวิทยา
ผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า stalker
มันเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมตามติดชีวิตคนอื่น (เช่น บุคคลมีชื่อเสียง อดีตคนรัก) มากเกินไปโดยที่คนถูกตามเขาไม่ต้องการ
การติดตามที่ว่านี้...สามารถเข้าข่ายรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ถูกตามจนเกิดความเสียหาย (ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางกายหรือใจก็ตาม) แก่ผู้ถูกตามได้
คำถามสำคัญข้อหนึ่งที่นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบก็คือ...เพราะอะไร คนๆหนึ่งถึงได้กลายเป็น stalker ได้
ผมขอนำเสนอคำตอบบางส่วนที่ผมไปแกะมาจากงานวิจัยนะครับ
[1] ในตอนเด็กๆ stalker มีแนวโน้มที่จะถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจ หรือถูกปฏิเสธ โดยผู้ดูแล (เช่น แม่)
[2] สืบเนื่องมาจาก [1] stalker มีแนวโน้มที่จะรู้สึกวิตกกังวลเวลามีความสัมพันธ์กับคนอื่น (preoccupied attachment) เพราะกลัวว่าจะถูกละเลย เมิน หรือปฏิเสธเหมือนตอนเด็กๆ
[3] สืบเนื่องมาจาก [2] stalker จึงมีแนวโน้มที่จะทำหลายๆอย่าง (รวมทั้งการ stalk) เพื่อให้แน่ใจว่า คนอื่นจะไม่ทิ้ง เมิน ปฏิเสธ ละเลยตน
[4] นอกจากนี้ stalker ยังมีแนวโน้มที่จะเอาบุคคลที่ตน stalk มา "ผูกโยง" กับบางสิ่งที่ตนให้คุณค่ามากๆ (เช่น ผูกโยงอดีตคนรักกับความสุขและความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า)
[5] สืบเนื่องจาก [4] มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ stalker จะ "ทุ่มแรงกายแรงใจ" กับเป้าหมายการ stalk มากๆ (การ stalk ถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการ "ทุ่มแรงกายแรงใจ")
[6] จริงอยู่ เป้าหมายการ stalk อาจจะมีทีท่าที่ "เรียบเฉย" หรือแม้แต่ "ไม่เล่นด้วยอย่างแรง" กับ stalker
[7] อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป้าหมายแสดงออกใน [6] มีแนวโน้มที่จะถูก stalker ตีความไปในทิศทางที่ "เข้าข้างตัวเอง"
[8] ตัวอย่างการตีความใน [7] ได้แก่ "ผู้หญิงด่า = ผู้หญิงรัก" หรือ "จะเป็นเจ้าของสิ่งล้ำค่า...มันก็ต้องอาศัยความพยายามในการฝ่าฟันอุปสรรคเยอะๆเป็นธรรมดา" หรือ "ตื้อเท่านั้นที่ครองโลก"
หวังว่าสิ่งที่ผมแชร์ครั้งนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปของ stalker มากขึ้นนะครับ
-
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการ stalk สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ
-
ปล. ใครอยากอ่านสิ่งที่ผมเขียนในเรื่องอื่นๆ สามารถอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/journalingmyjourney หรือ https://www.blockdit.com/journalingmyjourney นะครับ
โฆษณา