6 มี.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Lunchbox บริการที่จะเข้ามา แย่งส่วนแบ่ง Food Delivery
ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “บริการอาหารดิลิเวอรี” เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง
อย่างในประเทศไทยก็มีบริษัทที่บริการขนส่งอาหารอยู่หลายเจ้า
อย่าง Foodpanda, LINE MAN, Grab, Gojek และล่าสุด Robinhood
1
ซึ่งการทำงานของ บริการอาหารดิลิเวอรี จะเป็นรูปแบบธุรกิจแบบ B2B2C
หรือก็คือ ร้านอาหารจะเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม
จากนั้นแพลตฟอร์มจะรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ก่อนที่จะส่งไปให้กับทางร้านอีกที
1
แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็จะส่งผลให้ร้านอาหารต้องเสียค่า GP
หรือค่าคอมมิชชันที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปสั่งอาหาร เพื่อเป็นค่าดำเนินการ
1
กลายเป็นว่าร้านอาหารต้องขายอาหารในราคาที่แพงขึ้น หรือคิดค่าบริการส่วนอื่นเพิ่ม
เพื่อให้การส่งอาหารแต่ละครั้งคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไปให้กับแพลตฟอร์มเหล่านั้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ร้านอาหารบางร้านจึงเริ่มมองหา “ช่องทางใหม่”
หรือทำช่องทางของตัวเองเพื่อที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกร้านอาหารจะสามารถทำแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ขึ้นได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้นจึงกลายเป็นช่องว่างให้กับ “Lunchbox” ได้นำจุดนี้มาสร้างเป็นธุรกิจ
1
จุดเริ่มต้นของ Lunchbox ก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาจาก Pain Point ของเจ้าของ
ซึ่งคุณ Nabeel Alamgir ก็เป็นหนึ่งในคนที่ประสบปัญหาจากการทำงานในร้านอาหารมาก่อน
เขาเบื่อกับการทำร้านอาหาร ที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหลาย ๆ ช่องทาง เพราะรู้สึกว่ามันยุ่งยากเกินไป ที่จะต้องทำงานผ่านคนหลายคน
เขาจึงไปปรึกษากับเพื่อน เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหานี้
จนในปี 2019 “Lunchbox” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
โดย Lunchbox เป็นเหมือนเครื่องมือการบริหารช่องทางการสื่อสารของร้านอาหาร แบบ All in one ที่รวบรวมทั้งบริการเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ระบบสมาชิก รวมถึงออกแบบ UX/UI
เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อ ติดตาม สั่งอาหาร ผ่านช่องทางของร้านอาหารโดยตรง
ไม่ต้องไปสั่งผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรีอื่น
ที่สำคัญ ตัวร้านอาหาร ก็ไม่ต้องทำงานหลายที่
เพราะ Lunchbox ให้บริการอย่างครอบคลุม จบได้ในทีเดียว
1
โดย Lunchbox จะให้บริการแบบ Software as a Service (SaaS)
อธิบายง่ายๆ ก็คือ รูปแบบการให้บริการซอฟต์แวร์ ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมในเครื่อง
คล้าย ๆ กับการให้เช่าใช้ โดยคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง
เช่น ตามจำนวนผู้ใช้งาน ระยะเวลาการใช้งาน
ทำให้ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม ในส่วนของค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาระบบของตนเอง
โดยลูกค้าคนแรก ที่เข้ามาใช้บริการของ Lunchbox
ก็คือ Bareburger ร้านที่คุณ Nabeel Alamgir เคยทำงานมาก่อนนั่นเอง
และหลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ก็ได้มีร้านอาหารหลายร้านเข้ามาใช้บริการของ Lunchbox
ตั้งแต่ร้านอาหารสไตล์อเมริกัน ร้านอาหารญี่ปุ่น ไปจนถึงร้านขนม
ที่น่าสนใจคือ Lunchbox สามารถระดมเงินจากนักลงทุนได้ถึง 600 ล้านบาท
โดยมีผู้ลงทุนอย่าง คุณ Scott Belsky ผู้ก่อตั้งของแพลตฟอร์ม Behance
หรือเซเลบริตีเชฟ อย่างคุณ Tom Colicchio และคุณ Bryan Ciambella ผู้ก่อตั้ง HelloFresh
ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าบริษัท Lunchbox จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ซึ่งก็น่าติดตามว่า การเกิดขึ้นของ Lunchbox นี้
จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงการดิลิเวอรีในสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้บริการของ Lunchbox จะยังไม่ครอบคลุมถึงประเทศไทย
แต่เราก็เริ่มเห็นเชนร้านอาหารรายใหญ่ เริ่มออกมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองบ้างแล้ว
อย่าง KFC, Pizza Company, McDonald และ MK
รวมถึงร้านขนมหวาน After You เองก็หันมาทำแอปพลิเคชันของตนเอง
โดยให้ลูกค้าสามารถค้นหาสาขา จองที่นั่ง สั่งอาหาร
และมี Wallet ให้ลูกค้าสามารถเติมเงินเพื่อซื้อของในร้าน ผ่านทางแอปพลิเคชันได้เลย
2
ดังนั้นถ้าร้านอาหารขนาย่อมลงมา อยากมีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตัวเองบ้าง
บริการอย่าง Lunchbox ก็ถือว่าน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมของคนที่ใช้แพลตฟอร์มสั่งอาหารมาเป็นเวลานาน
และลูกค้าบางคนก็อยากได้ตัวเลือกที่หลากหลาย เวลาสั่งอาหาร
ดังนั้นร้านค้าจึงอาจจะต้องทำควบคู่กันไป
ซึ่งการที่เรามีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้ว
ก็ช่วยให้เราเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย..
โฆษณา