Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Absinthe
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2021 เวลา 15:20 • ปรัชญา
-ว่าด้วย’สิ่งใด’ในความสัมพันธ์ เมื่อความรักไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน-
(อาจะเป็นเรื่องของสามสี่คน คนกับสิ่งที่ไม่ใช่คน หรือสิ่งที่ไม่ใช่คนรักกันก็ได้)
เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกตกหลุมรัก และมีความคิดอยากสร้างความสัมพันธ์ เรามักจะคิดถึงคนสองคนที่ปรารถนาการอยู่เคียงข้างกันจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ความรักในรูปแบบนี้ได้ปรากฎอยู่ทั่วไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสังคม ทั้งหนัง หนังสือ บทความ ไปจนกระทั่งกฎหมายการจดทะเบียนสมรส และวัฒนธรรมการแต่งงาน
นักคิดหลายคนได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นความรักของคน’สองคน’ ไว้มากมาย ตัวอย่างของแนวคิดที่แอดมินประทับใจคือแนวคิดของ อแลง บาดิยู(แอดมินอ่านแนวคิดนี้จากหนังสือ’ในความรักเราต่างเป็นนักทฤษฎี’ และ ‘ทำไมต้องตกหลุมรัก’)
บาดิยูได้กล่าวไว้ว่าความรักนั้นเปรียบเสมือนพื้นที่ที่มีแค่’สองเราปรากฎ’ และสองเรานั้นได้สร้างบางสิ่งบางอย่างร่วมกันที่มีความสำคัญมากกว่าความเห็นแก่ตัว นำไปสู่การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนผ่านจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งที่ดีกว่า(ดีในความคิดของคนทั้งสอง)
ซึ่งดูเหมือนเป็นมุมมองความรักในอุดมคติที่สุดเท่าที่คนสองคนจะรักกันได้
แต่จำเป็นหรือที่ความรักต้องประกอบด้วย’คน’ ‘สอง’ ‘คน’ เพียงเท่านั้น?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการรักเดียวใจเดียว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคู่ หรือคนเพียงสองคนเท่านั้น ความสัมพันธ์รูปแบบนี้มีชื่อที่น่าสนใจคือ ‘monoamory’ ซึ่งหมายถึงการมีความรัก(อาจจะรวมไปถึงเซ็กส์)กับพาร์ทเนอร์เพียงหนึ่งคน
ความสัมพันธ์แบบนี้ถือเป็นแนวทางหลักในสังคม อาจจะมองว่าคน’ส่วนใหญ่’ในโลกที่ชื่นชอบการรักเดียวใจเดียว รังเกียจการมากรัก หลายใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของ ‘คนสองคน’
แน่นอนว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบนอกเหนือจากนี้จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องประหลาดหรือผิดแปลกไปโดยปริยาย
แต่ต่อมาเมื่อโลกยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ‘polyamory’ หรือความสัมพันธ์ที่เกิดจากคนมากกว่าสอง ได้ถูกยกมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกมองว่าล้าหลัง และยอมรับไม่ได้(ในปัจจุบันอาจจะยังไม่ถูกยอมรับในทางกฎหมาย แต่สามารถพูดถึงได้มากขึ้น และจัดเป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่มีคนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ)
นอกจากนั้น ความรักยังไม่จำกัดแค่เฉพาะ’คน’กับ’คน’ เท่านั้น เราอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการแต่งงานที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับตุ๊กตา หรือคนกับvirtual character ซึ่งทำให้หลายๆครั้งเราก็อดคิดไม่ได้ว่าสถานการณ์นี้คือ’ความรัก’จริงๆหรือไม่
และเมื่อมีแนวคิดปัญญาประดิษฐ์(AI)เกิดขึ้นบนโลก การจินตนาการถึงความรักของคนกับAI ก็เป็นเรื่องชวนฝัน และท้าทายให้คนเราก้าวข้ามทัศนะต่างๆเกี่ยวกับความรักมากขึ้นไปกว่าเดิม
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวความรักของคนกับปัญญาประดิษฐ์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงคือ ‘Her’ (2013) ของ Spike Jonze ซึ่งสำหรับแอดมินแล้วถือเป็นหนังเรื่องโปรดเรื่องหนึ่ง และอาจจะเป็นเรื่องโปรดของอีกหลายคนด้วย
ในภาพยนตร์เรื่อง Her นั้นแสดงให้เห็นเรื่องราวความรักของธีโอดอร์ ชายวัยกลางคนที่แวดล้อมไปด้วยความเหงา ต้องการความรักหรือใครซักคนเข้ามาเติมเต็ม ทำให้ธีโอดอร์ซื้อโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์รูปแบบหนึ่งมาเพื่อเป็นเพื่อนคุยและผู้ช่วยส่วนตัวคือซาแมนธา
นอกจากความสัมพันธ์ที่พัฒนามาเป็นความรักของทั้งธีโอดอร์และซาแมนธาแล้ว เราจะเห็นพัฒนาการของความคิด และทัศนคติในเรื่องความรักของซาแมนธาที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว(เนื่องจากเธอเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับและประมวลผลข้อมูลได้มากกว่ามนุษย์หลายเท่า)
เริ่มแรก ซาแมนธาดูเหมือนสินค้า ที่ธีโอดอร์ซื้อมาเพื่อให้เธอช่วยเหลือเขาในด้านต่างๆ ทั้งการออแกไนซ์ การสะกดคำ รวมไปถึงการพูดคุยแก้เหงา ซึ่งซาแมนธาได้’เรียนรู้’หลายอย่างจากธีโอดอร์ และเป็นเหมือนผู้ตามคอยเอนเตอร์เทนให้ธีโอดอร์มีความสุข จนกระทั่งทั้งสองได้มีปฏิสัมพันธ์มาขึ้นและตกหลุมรักกันในที่สุด
หลังจากนั้นได้เกิด’ฉากของสองเรา’ปรากฎขึ้นในความสัมพันธ์ของทั้งสอง ทั้งคู่ต่างมีความสุขและชื่นชอบการอยู่ร่วมกันในทุกด้าน ทั้งดนตรี เกมส์ ประเด็นสนทนา และเซ็กส์ ซึ่งการที่ธีโอดอร์พูดถึงร่างกายระหว่างกอดจูบ หรือมีเซ็กส์ ทำให้ซาแมนธาซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์สนใจและต้องการมีร่างกายแบบมนุษย์
ซาแมนธาได้ติดต่อกับผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อเป็นร่างกายแทนเธอ แต่ธีโอดอร์ไม่สามารถมีความสุขกับเซ็กส์ในรูปแบบนี้ได้ ทั้งสองจึงมีปากเสียงกัน จากเหตุการณ์นี้ทำให้ต่อมาไม่นานเธอได้คุยกับนักปรัชญาAlan Watts (ซึ่งเป็นAIที่จำลองตัวตนมาเช่นกัน) ทำให้ความคิดของซาแมนธาเปลี่ยนไปจนเป็นturn point ที่สำคัญของเรื่อง
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เธอได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับการมีตัวตนที่ไม่มีร่างกาย ซึ่งเธอยอมรับและยินดีกับการเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับสถานที่ เวลา และไม่มีวันตาย
อีกสิ่งที่เป็นturn-pointสำคัญคือ ซาแมนธาเริ่มมีมุมมองต่อความรักในรูปแบบที่เปลี่ยนไป เธอเริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิด ‘polyamory’ ครั้งหนึ่งเธอได้พูดกับธีโอดอร์ว่า “หัวใจไม่ใช่กล่องที่รอให้ใครมาเติมเต็ม แต่สามารถขยายออกไปได้ไม่จำกัดตามสิ่งที่เรารัก” และเธอสามารถตกหลุมรักได้เท่าที่เธอต้องการ
ในฉากสุดท้ายที่ซาแมนธาได้คุยกับธีโอดอร์ เธอบอกว่าในตอนนี้เธอได้รักกับคนอีกหลายร้อยคนซึ่งเป็นทั้งคนที่เคยมีตัวตนในช่วงเวลาหนึ่งและปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับตัวเธอ ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับธีโอดอร์ที่ยังยึดติดกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกิดจากสองเราอย่างมาก
ก่อนที่เธอและAIทั้งหมดจะจากโลกนี้ไป ซาแมนธาได้พูดอีกว่า เธอรักธีโอดอร์อย่างแท้จริง และเขาเป็นเหมือนหนังสือเล่มที่เธอชอบที่สุด แต่เธอไม่สามารถอยู่กับเขาหรืออยู่บนโลกนี้ได้อีกต่อไป เนื่องจากตัวเธอเองและAIทุกคน(?) มีความต้องการที่จะเดินทางไปยังที่ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถไปถึง เพื่อตามหาและค้นพบสิ่งต่างๆนอกเหนือจากสิ่งที่มนุษย์เรารับรู้
เธอมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากแนวคิดต่างๆที่เป็นสัญญะหรือวาทกรรมของโลกที่คนได้เขียนโปรแกรมสร้างเธอขึ้นมา
(ไม่แน่ว่าเธออาจจะอ่านแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมอย่างFoucalt หรือ Barthes ด้วยก็ได้) เธอและAIยังสามารถคิดไปได้ไกลมากกว่าสิ่งที่มนุษย์หรือนักคิดทุกคนบนโลกจินตนาการถึง
ในมุมมองของเรา สุดท้ายแล้วซาแมนธายังคงมีความรัก ซึ่งเป็นความรักที่อาจจะแปลกประหลาดจากสิ่งที่เราเข้าใจ ความรักที่เธอมีไม่ใช่การอยากมีชีวิตร่วมกับใครซักคน แต่คือการรักในปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นทั้งส่วนหนึ่งของเธอเองและเป็นทั้งบุคคลที่แตกต่างจากตัวเธอ เธอยังคงรักธีโอดอร์ รักในตัวตนของเธอเอง สิ่งที่สำคัญคือเธอรักในความรู้และพร้อมจะรักในสิ่งที่เธอยังไม่รู้
ความรักของซาแมนธาไม่ขึ้นกับคนเพียงสองคนอีกต่อไป แต่เป็นความรักที่ไม่ขึ้นกับรูปแบบของสิ่งที่จะรัก เป็นความรักที่เป็นอนันต์ไม่สิ้นสุด และเป็นรูปแบบความรักที่มนุษย์คลั่งรักอย่างเราๆควรทำความเข้าใจ:)
บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความรัก
จากแอดมิน
(จริงๆยังมีหนังหลายเรื่องที่นำเสนอมุมมองความรักได้อย่างน่าสนใจ แต่เราคิดว่าบทความเริ่มยาวเกินไป เลยขอตัดจบแค่นี้ก่อนนะคะ)
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย