5 มี.ค. 2021 เวลา 15:11 • ประวัติศาสตร์
• ทำไมนายพลที่มีอิทธิพลในบ้านเรา
ถึงถูกเรียกว่า "บิ๊ก" ?
ทุกคนเคยสงสัยกันหรือไม่ครับว่า ทำไมเราถึงต้องเรียกนายพล (ทั้งทหารหรือตำรวจ) ที่มีอำนาจและมีอิทธิพลอยู่ในบ้านเราว่า "บิ๊ก" ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกว่า "บิ๊กตู่" หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เรียกว่า "บิ๊กป้อม"
บิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่
ดังนั้นในบทความนี้ แอดมินก็จะพาทุก ๆ คน ไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของคำว่า "บิ๊ก" ของนายพลเหล่านี้กันครับ
สำหรับที่มาของคำว่าบิ๊กนี้ มีที่มาจากในช่วงสงครามเวียดนามครับ
โดยในตอนนั้นสื่อของอเมริกา ได้มีการตั้งฉายาให้กับนายพลของกองทัพเวียดนามใต้คนหนึ่ง
ซึ่งนายพลคนนี้มีชื่อว่า "เซือง วัน มิญ" (Dương Văn Minh)
หรือฉายา "บิ๊กมิญ" (Big Minh)
นายพล เซือง วัน มิญ หรือ "บิ๊กมิญ"
เซือง วัน มิญ หรือบิ๊กมิญผู้นี้ ถือได้ว่าเป็นนายพลที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจเป็นอย่างมากในเวียดนามใต้ รวมไปถึงยังเป็นผู้นำคนสุดท้ายของเวียดนามใต้อีกด้วย
โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เซือง วัน มิญ ก้าวเข้ามามีอำนาจในเวียดนามใต้ ก็มาจากเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตเผด็จการของเวียดนามใต้อย่าง โง ดิ่ญ เสี่ยม (Ngo Dinh Diem) ในปี 1963 (พ.ศ. 2506) ซึ่ง เซือง วัน มิญ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
นับแต่นั้นมา เซือง วัน มิญ ก็ได้กลายมาเป็นนายพลที่ทรงอิทธิพลของเวียดนามใต้ และด้วยอิทธิพลอำนาจของเขา ก็เลยเป็นที่มาของฉายา "บิ๊กมิญ" (ที่มีความหมายว่า นายพลมิญผู้ยิ่งใหญ่) ที่เขาได้รับจากสื่อนั่นเอง
ภายหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง สื่อของไทยในช่วงทศวรรษที่ 2530 ก็เลยมีการนำคำว่าบิ๊ก มาใช้เรียกเหล่านายพลที่มีอิทธิพลอยู่ในบ้านเราในช่วงเวลานั้น
ไม่ว่าจะเป็น "บิ๊กจ๊อด" พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (ต่อมาจะกลายเป็นผู้นำรัฐประหารปี 2534) "บิ๊กซัน" พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รวมไปถึง "บิ๊กสุ" พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นต้น
Credit : ประชาชาติธุรกิจ
ดังนั้นในเวลาต่อมา คำว่า "บิ๊ก" จึงเป็นคำที่สื่อบ้านเรา ใช้เรียกเหล่านายพลที่มีอิทธิพลและอำนาจนั่นเอง
#HistofunDeluxe
โฆษณา