6 มี.ค. 2021 เวลา 00:53 • สุขภาพ
ไปต่อไม่สะดุด! หยุดปวดหมอนรองกระดูก ด้วยการฉีดยา
1
ถ้าลองถามคนไข้โรคหมอนรองกระดูกว่าเจ็บปวดมากแค่ไหน คำตอบที่ได้คงเป็นเสียงเดียวกันว่าปวด ทรมานมาก จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำอะไรก็ปวดไปหมดจนแทบทนไม่ไหว บางคนมีความฝันหรือ Passion ในการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำในสิ่งที่ตัวเองหลงไหลชื่นชอบ แต่กลับต้องสะดุด หยุดไปด้วยโรคหมอนรองกระดูกที่ขัดจังหวะชีวิตแบบนี้
2
‘คุณหมอเข้ม’ หรือ นายแพทย์นพ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ บอกกับเราว่าโรคกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่อันตรายและเป็นโรคที่มักจะรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด คนไข้บางรายมาพบคุณหมอเพราะยกของหนักเกินไปและไม่ถูกวิธี บางรายนั่งทำงานผิดท่า หรือบางรายเกิดอุบัติเหตุหกล้มที่กระทบกระเทือนกระดูกสันหลัง อุบัติเหตุทางการกีฬา
วิถีชีวิตเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคหมอนรองกระดูก นอกจากนี้ยังมีโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis) ที่มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัยอีกด้วย
ทำความเข้าใจหมอนรองกระดูกกันก่อน
หมอนรองกระดูกมีลักษณะเหมือนหมอนนิ่มๆคั่นอยู่ระหว่างกระดูกแข็งๆสองชิ้น ทำให้กระดูกมีความยืดหยุ่นและขยับไปมาได้ เปลือกนอกของหมอนรองกระดูกมีความแข็งเหมือนยางลบ ส่วนภายในประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหนียวนุ่มเหมือนเจลลี่เพื่อช่วยรองรับการกระแทก เมื่อเปลือกของหมอนรองกระดูกฉีกขาดเป็นแผลและเกิดรูขนาดใหญ่จนเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในทะลัก
ถ้าปล่อยไว้อันตรายไหม?
อันที่จริงภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดไส้ในของหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาได้ภายใน 4-6 สัปดาห์โดยธรรมชาติ แต่เนื่องจากอาการปวดของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอาการเจ็บปวดที่รุนแรงมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานและอารมณ์ของผู้ป่วย จึงควรเข้ารับการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวดที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
หยุดความปวดได้อย่างไร
โรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญด้านการรักษาโรคกระดูกสันหลัง หากมาพบแพทย์ก็จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ดูผลการตรวจ MRI เพื่อแนะนำผู้ป่วยว่าควรรักษาด้วยวิธีการใดจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการกินยาแก้ปวดและทำกายภาพบำบัดดูก่อน แต่ถ้าหากไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก แพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง (Transforaminal Epidural Steroid Injection หรือ TESI) สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการเส้นประสาทถูกกดทับอย่างรุนแรงจนกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินหรือบางรายเส้นประสาทไม่ค่อยทำงานแล้วจึงพิจารณาผ่าตัด แต่ในกรณีที่มีอาการปัสสาวะไม่ออก อุจจาระไม่ออก ชารอบก้น หรืออวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว จะถือว่าเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในทันที
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังรักษาโรคใดได้บ้าง?
สามารถใช้ได้ทั้งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและโรคโพรงประสาทตีบแคบ โดยผลการรักษาสำหรับโรคหมอนรองกระดูกมักจะดีกว่าด้วยเหตุที่โรคหมอนรองกระดูกมีโอกาสหายเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
เจ็บไหม?
อาการเจ็บระหว่างทำหัตถการน้อยมากโดยแพทย์จะทำการฉีดยาชาที่บริเวณผิวหนังก่อนเริ่มทำหัตถการ ส่วนในผู้ป่วยบางรายที่กลัวเข็ม ก็สามารถใช้ยานอนหลับอ่อนๆ เพื่อให้ผ่อนคลายก่อนเริ่มหัตถการได้
ใช้เวลาในการฉีดยานานไหม?
การฉีดยาจะทำในห้องผ่าตัดที่ปราศจากเชื้อ ระยะเวลาในการฉีดขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ซับซ้อน แพทย์จะใช้เวลาทำหัตถการเพียง 15-20 นาที ในกรณีที่ซับซ้อน เช่น ผู้ป่วยมีอาการหลายจุดอาจใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยทั่วไป
ยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าไปมีผลข้างเคียงต่อร่างกายหรือเปล่า?
เนื่องจากเป็นการฉีดยาเฉพาะที่ตรงกับบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบของหมอนรองกระดูก ดังนั้นผลข้างเคียงจะน้อยกว่าสเตียรอยด์แบบรับประทานมาก
ฉีดไปแล้วต้องฉีดซ้ำหรือไม่?
โรคหมอนรองกระดูกส่วนใหญ่หายได้ด้วยตัวเอง หัตถการนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างที่รอให้ร่างกายเยียวยาตัวเองตามธรรมชาติ ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงหายเป็นปกติได้อย่างยั่งยืนหลังจากฉีดยาเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ดีผู้ป่วยยังจำเป็นต้องระมัดระวังการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการยกของหนักเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ฉีดยาแบบนี้มีโอกาสสำเร็จและความเสี่ยงแค่ไหน?
โอกาสสำเร็จจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เนื่องจากสภาวะโรคของผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันได้มาก แพทย์จะประเมินโอกาสสำเร็จและความคาดหวังร่วมกับคนไข้เสมอ หากการกดทับเส้นประสาทอยู่ในระดับรุนแรง ทางเลือกผ่าตัดแบบแผลเล็กอาจให้โอกาสสำเร็จที่มากกว่า ส่วนความเสี่ยงจากหัตถการนี้ต่ำมากหากทำในมือของแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ราว 500 – 600 รายต่อปี ที่ร.พ.บำรุงราษฎร์
เตรียมตัวก่อนฉีดยา
ก่อนการฉีดยาควรหยุดรับประทานยา อาหารเสริม และวิตามินที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น วิตามินอีและน้ำมันตับปลา ยาแอสไพริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น
1
ในวันที่ฉีดยา ผู้ป่วยไม่ควรขับรถมาเองเพราะอาจมีอาการขาชาชั่วคราวจากยาชาได้
ข้อควรระวังหลังการฉีดยา
เพื่อให้ผลการรักษามีความยั่งยืน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ทำกิจกรรมที่มีการกระแทกรุนแรงหรือกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ไปต่อไม่สะดุด หยุดปวดหมอนรองกระดูกที่บำรุงราษฎร์
เรามีทีมแพทย์เฉพาะทาง ที่สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกสันหลังอย่างครอบคลุม และทีมสหสาขาวิชาชีพผู้ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงด้านการดูแลผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบการดูแลรักษาที่มีคุณภาพสูงอย่างเอื้ออาทรให้แก่ผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นเราจึงให้เวลาในการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสามารถทำกิจกรรมที่ตนรักได้ดังเดิม
โดย นพ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท สถาบันกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา