“พ่อแม่มีอยู่จริง...ลูกมีอยู่จริง"
.
คำนิยม จากหนังสือ “แม่มีอยู่จริง” สำนักพิมพ์ SandClock Books
.
เราทุกคนล้วนทราบกันดีว่า “ความรักจากพ่อแม่นั้นมีผลต่อลูกในทุกๆ ด้านอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์ และจิตใจ ความรักที่เป็นรูปธรรมที่เด็กจับต้องได้มากที่สุด จึงไม่ใช่คำบอกรัก แต่เป็นเวลาคุณภาพที่พ่อแม่มีให้กับเขา เวลาที่ใช้ร่วมกันจะก่อเกิดเป็นสายใยแห่งความผูกพัน สร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง และพัฒนาการมองเห็นคุณค่าในตัวเขาเองขึ้นมา” อย่างไรก็ตาม การรับทราบข้อเท็จจริงนี้เพียงประการเดียวโดยปราศจากการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่อาจทำให้ลูกรับรู้ได้ว่า ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ ในชีวิตเขาได้
.
โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกชื่นชมผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถยกเอาข้อเท็จจริงนี้มานำเสนออย่างกล้าหาญ โดยมีหลักฐานทางจิตวิทยาเชิงประจักษ์มาสนับสนุนอย่างแน่นหนา ที่สำคัญผู้เขียนยังได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “ปัญหาที่จะตามมาจากการที่พ่อแม่ไม่มีอยู่จริงสำหรับเด็กจะเป็นเช่นไร และผลลัพธ์นั้นน่ากลัวเพียงใด” จนเรียกได้ว่า พ่อแม่มือใหม่ที่กำลังลังเลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยตัวเองหรือจะฝากลูกให้ผู้อื่นเลี้ยงดี มีโอกาสชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียก่อนทำการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง
.
เป็นที่แน่นอนว่า “ไม่มีใครที่ได้ทุกๆ อย่างดังใจปรารถนา ทุกการเลือกย่อมมีการสูญเสียอะไรบางอย่างไป” พ่อแม่ที่มีหน้าที่การงานกำลังรุ่งเรือง เมื่อมีลูก ไม่ใครคนใดคนหนึ่งก็ต้องลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงดูเขา งานที่กำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้าก็ต้องหยุดเอาไว้ชั่วคราวหรืออาจจะต้องหยุดชะงักตลอดไป ณ จุดนี้ไม่มีใครบอกเราได้ และหลายคนสงสัยว่า “มันจะคุ้มค่าจริงๆ หรือกับการต้องออกมาเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แล้วต้องสูญเสียหน้าที่การงาน และรายได้ไป เป็นไปได้ไหมถ้าเราให้คนในครอบครัวเราคนอื่นเลี้ยงลูกแทน ต้องเป็นพ่อแม่เพียงเท่านั้นหรือที่ลูกต้องการ” หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนเครื่องยืนยันคำตอบว่า “การเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงจากการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกับลูกในช่วง 3 ขวบปีแรกของลูกนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน” ความคุ้มค่าที่ไม่ได้หมายถึงตัวเลขเชิงรายได้หรือเศรษฐสถานะ แต่เป็นความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของลูกอย่างงดงาม และความสุขทางใจที่เกิดขึ้นกับลูกและผู้เลี้ยงดูอย่างยั่งยืน
.
**********
.
"พ่อมีอยู่จริง"
.
แม้หนังสือจะชื่อว่า ‘แม่มีอยู่จริง’ แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘พ่อ’ ไม่มีความสำคัญใดๆ แม่อาจจะมีบทบาทสำคัญตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน และให้นม ให้ความอบอุ่นกับลูก แต่แท้ที่จริงแล้ว พ่อมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มในทุกๆ ส่วนที่แม่ขาดหาย ได้แก่ การสนับสนุนทางใจผ่านการกระทำ พูดคุย เคียงข้างแม่ยามตั้งครรภ์ เมื่อลูกเกิดมา ทารกหลายคนชอบนอนบนอกของพ่อพอๆ กับอยู่ในอ้อมกอดของแม่ ที่สำคัญพ่อสามารถเล่นกับลูกได้สนุกสุดเหวี่ยงในแบบที่แม่ไม่อาจทำได้ เนื่องด้วยข้อได้เปรียบทางด้านร่างกายที่พ่อแข็งแรงกว่าแม่ นอกจากนี้พ่อยังทำหน้าที่ปกป้องครอบครัวจากภัยอันตรายต่างๆ ได้ แผ่นหลังของพ่อยิ่งใหญ่เสมอในสายตาลูก พ่อสามารถทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางจิตใจได้ในแบบของพ่อ แม้จะไม่เหมือนในแบบที่แม่มีให้ลูก ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก พ่อจึงสามารถเติมเต็มให้ลูกทางใจได้เช่นกัน ผู้เขียนได้อธิบายไว้ว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญอยู่ที่ ผู้เลี้ยงดูหลักต้องมีอยู่จริง ซึ่งผู้เลี้ยงดูหลักในที่นี้อาจจะหมายถึง แม่หรือพ่อก็เป็นได้ และการมีอยู่จริงเกิดจากการมีเวลาคุณภาพให้เด็กอย่างสม่ำเสมอทุกคืนวัน”
.
**********
.
"3 ขวบปีแรกของชีวิตลูก"
.
หลักฐานชิ้นสำคัญที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอ คือ “ตามธรรมชาติ วิวัฒนาการของมนุษย์ต้องได้รับการดูแลจากแม่จนอายุสามขวบ สมมติฐานจากแนวคิดที่ว่า การเกิดของมนุษย์ต้องการคนคอยช่วยเหลือเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนให้ความเห็นว่า การคลอดลูกในช่วง 9-11 เดือนอาจเร็วไปหน่อย แนวคิดหนึ่งบอกว่าเหตุผลที่ต้องคลอดในช่วงเวลานี้ ก็เพราะศีรษะขนาดใหญ่ของทารกจะได้เคลื่อนผ่านช่องคลอดได้ อีกแนวคิดเชื่อว่า แม่ไม่มีแรงพอจะแบกลูกไว้ได้นานเกิน 9 เดือน
.
ช่วงสามปีแรก ทารกต้องการความรัก การดูแล อ้อมกอด ความสบายใจ และการเอาใจใส่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bar-llan University ระบุว่า การสัมผัสช่วยลดคอร์ติซอล หรือ ฮอร์โมนทางความเครียด ทั้งในทารกและแม่ ยิ่งกอดและตอบสนองต่อความต้องการทางอารมณ์ของลูกมากเท่าไร ลูกและแม่จะยิ่งเครียดน้อยลงเท่านั้น”
.
ดังนั้นในช่วง 1 ขวบปีแรก ไม่มีการอุ้มใดที่มากเกินไป พ่อแม่ควรกอดและสัมผัสลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากกังวลว่าจะเป็นการตามใจเด็ก ให้กังวลเมื่อลูกเริ่มพึ่งพาตัวเองได้ ตราบใดที่ลูกยังสื่อสารไม่ได้ เดินเองไม่ได้ เขาต้องการเรามากที่สุด สำหรับเด็กเล็ก ถ้าเด็กถูกพรากจากแม่ในช่วงที่ยึดติดและผูกพันมากๆ เขาจะรู้สึกราวกับว่าโลกจะล่มสลาย เด็กวัยสองขวบไม่สามารถทนต่ออารมณ์เจ็บปวดหรือผิดหวังได้ เพราะความรู้สึกที่เขาได้รับ ประหนึ่งแม่ได้ตายจากเขาไป เขารู้สึกสูญเสียร้ายแรงขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้การแยกจากก่อนวัยอันควร เพื่อส่งเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนหรือฝากผู้อื่นเลี้ยงแทน นำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อเด็ก พ่อแม่ควรจะอยู่กับลูกให้นานที่สุด จนเขารู้สึกเต็มอิ่มและเพียงพอ
.
ผู้เขียนได้ชี้ชวนให้เราตระหนักถึง สิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยแรกเกิดจนถึงสามขวบปีแรกว่า เด็กไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เขาไม่ได้ต้องการการไปเที่ยวด้วยการเดินทางแสนหรูหรา เขาไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีล้ำสมัยใดๆ และที่แน่ๆ คือ เด็กไม่ได้ต้องการสิ่งของราคาแพง พ่อแม่ต่างหากที่ต้องการและหยิบยื่นให้เขาด้วยตัวเอง แต่ส่ิงที่เด็กทุกคนต้องการ คือ ‘เวลาคุณภาพ’ จากพ่อแม่ กล่าวคือ พ่อแม่เล่นกับเขา อ่านนิทาน นอนกอดเขา กินข้าว สอนเขาดูแลตัวเอง และแค่อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา
.
ทังนี้เวลาคุณภาพ จะเกิดขึ้นได้ดี หากบ้านนั้นๆ มีตารางเวลาที่ชัดเจน พ่อแม่สร้างระเบียบวินัยให้กับลูก ผ่านการสอนการช่วยเหลือตัวเองตามวัย และทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอด้วยกัน เช่น กินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน วิ่งเล่นด้วยกัน อ่านนิทานให้เขาฟังก่อนนอน ทำงานบ้านด้วยกัน และเข้านอนไปพร้อมกัน เป็นต้น
.
**********
.
"ทางออกสำหรับพ่อแม่ที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว"
.
อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อแม่ที่มีความจำเป็นต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย เพราะถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น ครอบครัวไม่อาจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ด้วยเหตุปัจจัยเรื่องปากท้องย่อมมาก่อนสิ่งอื่นใด หรือ พ่อแม่บางท่านอาจจะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ทางเลือกที่ผู้เขียนได้มอบให้ คือ “การจัดสรรเวลาที่มีอยู่ให้กลายเป็นเวลาคุณภาพ เพราะปริมาณสำคัญน้อยกว่าคุณภาพ” ขอแค่พ่อแม่ทำให้เวลาที่มีอยู่กับลูกแสนน้อยนิดในแต่ละวันนี้ ให้กลายเป็นเวลาทรงคุณภาพที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำได้ โดยการชดเชยให้ลูกในทุกๆ วันที่กลับมาจากทำงาน ดูแลและตอบสนองต่อความต้องการของลูกที่ถูกละเลยไปตลอดวัน มอบสายตาทั้งสองข้างให้ลูกแต่เพียงผู้เดียว ให้ความรักผ่านการสัมผัส กอด เล่น อ่านหนังสือนิทาน และกล่อมเขาเข้านอน เคียงข้างจนลูกหลับไป เพื่อสร้างสายใยในใจลูกในทุกๆ วันที่กลับมา ณ ที่เก่าเวลาเดิม สม่ำเสมอ ลูกจะสามารถสร้างความเชื่อใจขึ้นมากับพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่มีอยู่จริงในชีวิตเขา ส่งผลให้เขาสามารถวางใจในโลกใบนี้ได้
.
“ปริมาณเวลาไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ แต่ถ้าปริมาณเวลาที่มากมาพร้อมกับคุณภาพที่ดีนั้น ยิ่งดีเข้าไปอีก”
.
ผู้เขียนได้ชี้จุดสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “หน้าต่างแห่งเวลา” ที่ลูกต้องการพ่อแม่นั้นมีช่วงเวลาที่จำกัด โดยปกติแล้ว 6 ปีแรก คือ ช่วงเวลาวิกฤติที่พ่อแม่ควรจะลงมือเลี้ยงดู สอนสั่ง ให้ความสำคัญกับลูกมากที่สุด เรียกง่ายๆ ว่า อยากจะสอนอะไรลูก เราควรทำในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะจะได้ผลดีที่สุด ถ้าเลยจากนี้ไปเขาอาจจะฟังเราน้อยลง หรือ ไม่ฟังเราอีกเลย
.
“ในวันที่เราไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก เราออกไปหาเงิน ลูกกลับต้องการเรามากที่สุด แต่ในวันที่เราพร้อมจะเลี้ยงเขา เรากลับมาหาลูก ลูกอาจจะไม่ต้องการเราแล้ว”
.
เวลาที่มีอยู่นั้นจำกัด และงวดเข้ามาทุกที อย่าทิ้งโอกาสน้ีไป แม้จะต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงเขาไปด้วย พ่อแม่อาจจะต้องเหนื่อยแสนสาหัส แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกวันอาจจะไม่ต้องดีเลิศเลอสมบูรณ์แบบ บ้านอาจจะเละเทะบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญ คือ ลูกได้อยู่กับพ่อแม่ของเขา และเราเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับลูก
.
ผลลัพธ์ของการไม่มีเวลาคุณภาพให้ลูกในวันนั้น พ่อแม่จึงไม่มีอยู่จริงในวันนี้ และไม่มีสายสัมพันธ์ใดที่จะฉุดรั้งเขาให้หันกลับมาฟังคำสอนของเรา ลูกไม่อาจมองเห็นความสำคัญของพ่อแม่ เขาจะมองพ่อแม่เป็น ‘คนนอก’ และเขาก็มองตัวเองเป็น ‘คนนอก’ ในสายตาพ่อแม่เช่นกัน
.
**********
.
"เมื่อเด็กถูกทอดทิ้ง"
.
เด็กบางคนที่พ่อแม่ทิ้งเขาไปในวัยเยาว์ นำเขาไปฝากเลี้ยงไว้กับปู่ย่าตายาย ไม่มีเวลาคุณภาพให้เขา เด็กอาจจะสร้างกำแพงกับพ่อแม่ในวันที่รับเขากลับมาอยู่ด้วย เพราะไม่ใช่เขาไม่รักพ่อแม่ของเขา แต่เพราะเขารักมาก รักมากจนไม่อาจทนความเจ็บปวดที่พ่อแม่จะสร้างให้กับเขาได้อีก ในใจของเขาจะมีคำถามวนเวียนตลอดว่า “พ่อแม่จะทิ้งฉันไปเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าไม่รัก ไม่มีความสัมพันธ์ก็ไม่ต้องเจ็บปวด” ผนวกกับพัฒนาการของเด็กวัยรุ่น ‘เพื่อน’ และ ‘การยอมรับจากสังคม’ คือสิ่งที่เขาแสวงหา ไม่ใช่จากพ่อแม่ ดังนั้น สายเกินไปเสียแล้วที่พ่อแม่จะมาสร้างตัวตนให้ลูกยอมรับว่ามีอยู่จริงในที่เขาไม่มองเห็นเราในสายตาอีกแล้ว
.
ความน่ากลัว จากการที่เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่ไม่อยู่จริง’ คือ หายนะทางความคิดที่จะส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อพ่อแม่ไม่เคยมีอยู่จริงในความคิดของเขา เด็กย่อมรับรู้ถึงการไม่เป็นที่ต้องการ เขาจะรู้สึกขาด หรือ ที่เรียกว่า ‘รู้สึกเว้าแหว่ง’ เด็กที่เติบโตมาพร้อมฐานความรู้สึกที่คลอนแคลน ทำให้เขาต้องแสวงหาการเติมเต็มและการยอมรับจากสังคมภายนอก เพื่อมายืนยันคุณค่าในตัวเอง ซึ่งตัวเด็กเองอาจจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า การสร้างการยอมรับเช่นไรถึงเรียกว่าเหมาะสมและดีงาม เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเหมาะสม แต่เป็นการเติมเต็มช่องว่างในจิตใจให้เร็วที่สุด
.
ความกลวงโบ๋ทางความรู้สึกจากการขาดรักนั้นน่ากลัวและเจ็บปวดจนมิอาจทานทน ปัญหามากมายจึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น พฤติกรรมเรียกร้องอย่างไม่เหมาะสมสามารถก่อตัวตั้งแต่วัยเยาว์และจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นของเด็ก จากเพียงพฤติกรรมต่อต้าน เอาแต่ใจ ทำตรงข้ามคำสั่ง อาจจะค่อยๆ เเปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น และที่หนักที่สุดคือ การทำร้ายตัวเอง
.
**********
.
‘ร่างกาย’ ของลูกในวันนี้ ส่วนหนึ่งในนั้นคือเนื้อกายของพ่อแม่
‘ความคิด’ ของลูกในวันนี้ ส่วนหนึ่งในนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่
‘ตัวตน’ ของลูกในวันนี้ ส่วนหนึ่งในนั้นมีตัวตนของพ่อแม่ที่ปรากฏให้เขาเห็นตั้งแต่วัยเยาว์
.
เด็กจะทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ ไม่ใช่ในสิ่งที่เราสอน หากเราอยู่ตรงนั้นกับลูกตอนเขายังเล็กๆ เขาจะเลียนแบบและเดินตามรอยเรา จนถึงวันที่เขาเติบโตเพียงพอ ณ เวลานั้นเด็กจะพัฒนาบุคลิกภาพหรือตัวตนของเขาขึ้นมาให้แข็งแกร่ง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งในตัวตนของลูก ย่อมมีเศษเสี้ยวของตัวตนพ่อแม่ประกอบอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย
.
หนังสือไม่ได้ต้องการชี้นำให้พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อลูก หรือ ทุกคนต้องออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูกอย่างเดียว เพราะการมีลูก ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่ต้องเสียสละทุกอย่างในชีวิตทิ้งไป พ่อแม่อาจจะเลือกทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย โดยเลือกงานที่เหมาะสมกับตน ขอเพียงจัดสรรเวลาในการทำงาน การเลี้ยงลูก และมีเวลาดูแลตัวเองให้สมดุล
.
การมีลูกไม่ได้ทำให้พ่อแม่ต้องกลายเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เพราะพ่อแม่ก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเช่นเดิม เหนื่อยเป็น สติหลุดได้ในบางครั้ง ดังนั้นหากเราเหนื่อยก็ควรพัก แล้วสู้ใหม่ เล่นบ้าง หัวเราะบ้าง ทำอะไรไร้สาระบ้างก็ได้ ตราบใดที่เรายังมีชีวิต และเรายังอยู่ด้วยกันกับลูกตรงนี้ พรุ่งนี้ค่อยเริ่มใหม่ได้เสมอ ลูกไม่หมดความศรัทธาในตัวพ่อแม่อย่างเราง่ายๆ หรอก และในวันที่เราทำเต็มที่และสุดความสามารถของเราแล้ว สายตาและถ้อยคำทำร้ายจากบุคคลภายนอก เราปล่อยวางและช่างมันบ้าง
.