6 มี.ค. 2021 เวลา 10:49 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตรวจพบ "เฮอริเคนอวกาศ" ครั้งแรก ชี้เป็นพายุพลาสมาพลังแรงเหนือชั้นบรรยากาศโลก
ภาพจำลอง
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตรวจพบปรากฏการณ์ใหม่ในห้วงอวกาศที่บริเวณขั้วโลกเหนือ โดยพบว่ามีมวลของกลุ่มก๊าซร้อนมีประจุไฟฟ้าหรือพลาสมา จับตัวกันเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่มีพลังรุนแรงเหนือบรรยากาศชั้นบนสุดของโลก ซึ่งพวกเขาเรียกพายุประหลาดนี้ว่า "เฮอริเคนอวกาศ" (space hurricane)
การค้นพบพายุหมุนพลาสมาในบริเวณสนามแม่เหล็กโลกนี้ นับว่ามีขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์โลก โดยศาสตราจารย์ จาง ชิงเหอ จากมหาวิทยาลัยซานตงของจีน ซึ่งเป็นผู้นำทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ได้สังเกตพบข้อมูลเก่าจากดาวเทียมสังเกตการณ์ที่บ่งชี้ว่า มีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2014
โลกเผชิญหายนะภูมิอากาศ-สัตว์สูญพันธุ์ เมื่อแม่เหล็กโลกกลับขั้ว 42,000 ปีก่อน
ลมสุริยะมักพัดเข้าปะทะขั้วโลกเหนือมากกว่าขั้วโลกใต้
ขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่จากแคนาดาไปยังไซบีเรีย
รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ฉบับล่าสุดระบุว่า เฮอริเคนอวกาศมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 1,000 กิโลเมตร มีส่วนฐานอยู่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ซึ่งสูงจากพื้นโลกราว 100 กิโลเมตร และยังทอดตัวสูงขึ้นไปจนถึงแม็กนีโตสเฟียร์หรือเขตสนามแม่เหล็กโลกในห้วงอวกาศ ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 860 กิโลเมตร
พายุดังกล่าวหมุนด้วยความเร็ว 2,100 เมตรต่อวินาที ในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา มีศูนย์กลางหรือตาพายุที่สงบนิ่ง ไม่แตกต่างจากพายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นใกล้พื้นโลก
อย่างไรก็ตาม แทนที่เฮอริเคนอวกาศจะทำให้เกิดลมฝนเหมือนกับพายุหมุนโดยทั่วไป มันกลับทำให้เกิดแสงเหนือหรือออโรราที่สว่างไสวคล้ายแขนกังหันของพายุไซโคลน ทั้งยังทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานมหาศาล ในรูปของกระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นไปด้านบน ซึ่งจะทำให้เกิด "ฝนอิเล็กตรอน" หรืออนุภาคอิสระประจุลบจำนวนมาก พากันตกกลับลงสู่บรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์อีกครั้งเหมือนสายฝน
แผนภาพโครงสร้างของเฮอริเคนอวกาศ ชี้ให้เห็นแนวเส้นแรงแม่เหล็กโลกที่เชื่อมต่อกันใหม่ (แถบสีเขียว) รวมทั้งกระแสของประจุไฟฟ้าที่พุ่งขึ้น (ลูกศรสีแดง) และ "ฝนอิเล็กตรอน" ที่ตกกลับลงมา (ลูกศรสีน้ำเงิน)
ทีมผู้วิจัยยังใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์สามมิติ ตรวจสอบถึงสาเหตุการเกิดเฮอริเคนอวกาศ ซึ่งทำให้พบว่าแม้ในช่วงที่ลมสุริยะค่อนข้างสงบนิ่ง "สภาพอากาศแปรปรวน" หรือการรบกวนต่อสนามแม่เหล็กโลกก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการที่ปลอดลมสุริยะทำให้เส้นแรงแม่เหล็กของโลกและดวงอาทิตย์มีการปรับตัวเชื่อมต่อกันใหม่ จึงเป็นที่มาของพายุหมุนพลาสมาขนาดใหญ่ที่ก่อตัวในห้วงอวกาศได้
เฮอริเคนอวกาศที่ตรวจพบในครั้งนี้ คงอยู่ได้นานถึง 8 ชั่วโมงก่อนจะสลายตัวไป โดยศาสตราจารย์ ไมค์ ล็อกวูด ผู้ร่วมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเรดดิงของสหราชอาณาจักรบอกว่า "ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่า พายุพลาสมาที่รุนแรงในห้วงอวกาศนอกโลกมีอยู่จริงหรือไม่ แต่วันนี้เราได้พบข้อพิสูจน์ที่แสนจะเหลือเชื่อแล้ว ทั้งยังคาดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถพบได้ทั่วไปในจักรวาลและที่ดวงดาวอื่น ๆ นอกเหนือจากโลกด้วย"
โฆษณา