6 มี.ค. 2021 เวลา 12:01 • ความคิดเห็น
ต้อนรับเดือนแห่งสตรีสากล 2021 Cult เจอ Mob Podcast ได้จัด Clubhouse ในประเด็น “Trans women ≠ ผู้หญิง จริงหรือ?” เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
.
วันนี้พวกเราขอนำเสนอ 4 ประเด็นสำคัญจากแขกรับเชิญรายการของเราทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ เอสม่อน กัญญ์วรา แก้วจีน มิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส 2018 และ เพชร ธราเทพ ทวีผล นิสิตผู้สนใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และแขกรับเชิญพิเศษอีก 2 ท่าน ได้แก่ คุณบุญรอด เจ้าของเพจบุญรอด เนล ปีเตอร์ จิระอนันต์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิทยาลัยนางงาม community แฟนนางงาม ที่เปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ในทุก ๆ ประเด็นสังคม และ มังกร บรรณสรณ์ บุญสู นักเรียนไทยในฮังการี
ว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นผู้หญิง”
“เพราะว่าใจฉันเป็นผู้หญิง ฉันจึงเป็นผู้หญิง”
ต้องเป็นแบบไหนจึงจะนับว่าเป็นผู้หญิง ต้องใส่ชุดเดรส เดินบนรองเท้าส้นสูง แต่งหน้าทำผมทาเล็บ และมีอวัยวะเพศหญิง ต้องมีองค์ประกอบที่ดูเป็นผู้หญิงเท่าไรจึงจะพอ?
แท้จริงแล้ว ความเป็นหญิงไม่ได้วัดกันที่ปริมาณของลักษณะของความเป็นหญิงที่สังคมหล่อหลอมเรามา องค์ประกอบเหล่านี้ไม่จำเป็นเลยสำหรับการกำหนดว่าเราคือผู้หญิง เพราะบุคคลใดก็ตามที่นิยาม ยอมรับตัวเอง หรือต้องการเรียกตัวเองว่าผู้หญิง คือผู้หญิง
Trans Women ≠ Women จริงหรือไม่
Trans women คนใดก็ตามที่มีสำนึกคิดว่าเป็นผู้หญิง เธอคือผู้หญิง
ปัญหาหลักที่ trans women กำลังเผชิญคือกฎหมายไทย ปัจจุบันพวกเธอไม่สามารถใช้คำนำหน้านามว่า นางสาว หรือ นาง ได้ ไม่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ซึ่งสร้างความลำบากมากมาย เช่นต้องกังวลว่าอาจโดนกักตัวในสนามบินเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอกกับคำนำหน้าในพาสปอร์ตไม่ตรงกัน เสี่ยงโดนคุกคามทางเพศเพราะไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “หญิงแท้” ปัญหานี้จะแก้ไขได้หากอคติทางเพศถูกลบออกไป และภาคสังคมต้องเปิดใจ รับฟัง และยอมรับว่าพวกเธอก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง
Transgender กับการถูกเหมารวม (stereotype) ผ่านสื่อ
พื้นที่ของกะเทยบนสื่อคือถ้าไม่สวยก็ต้องตลก แต่ปัจจุบันเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่เริ่มทลายกรอบเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีในอนาคตที่การ stereotype ความเป็นเพศอาจจะลดน้อยลง
สื่อกระแสหลักควรให้พื้นที่และนำเสนอในแง่ความเป็นปกติธรรมดาของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น เพื่อที่สังคมจะได้มองคนเป็นคนปกติเหมือนกัน ซึ่งจะมีผลต่อหลาย ๆ เรื่องในสังคม เช่น อคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่ทำให้พวกเขาเจอปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงการผลักดันกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ ด้วย
Transphobia / Homophobia
การที่คนยังไม่เปิดใจทำให้สังคมไม่ขับเคลื่อน
สื่อกระแสหลักมีส่วนในการตอกย้ำแนวคิด Transphobia/Homophobia เห็นได้จากพาดหัวข่าวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ มักจะพ่วงด้วยคำที่มีอคติเชิงลบ อาทิ กะเทย สาวทอม แปลก พิสดาร ฯลฯ ซึ่งอาจตรงกับคุณค่าข่าวที่เน้นเร้าอารมณ์หรือความพิสดาร แต่การที่สื่อนำคำเหล่านี้มาใช้ หมายความว่าเขาเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากอคติทางเพศ
อคติทางเพศในบางกรณีอาจเกิดจากโครงสร้างของประเทศที่ยังคงมีความเคร่งครัดในศาสนามาก เช่น ประเทศฮังการี หรือ อาจมาจากการน้อมรับแนวคิด Binary (แนวคิดที่ว่าคนเราประกอบด้วยเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น) อย่างรุนแรงจนกลายเป็น Transphobia/Homophobia
ติดตามพอดแคสต์บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจจาก Cult เจอ Mob Podcast ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน
#CultเจอMobSS2
#CultเจอMobPodcast
#ClubhouseTH
#InternationalWomensDay
โฆษณา