8 มี.ค. 2021 เวลา 10:48 • สุขภาพ
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน พบเห็นได้มากมาย หันไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่เครื่องมือจัดฟัน ทั้งแบบโลหะ แบบสีคล้ายฟัน แบบใส คลินิกทันตกรรมมากมายติดป้าย ทำเพจประชาสัมพันธ์ เสนอแพคเกจจัดฟัน จ่ายน้อย ผ่อนนาน หรือบางที่เน้นไฮโซ คิวนัดยากสุดๆ ลามไปถึงจัดฟันเถื่อน จัดฟันแฟชั่น จัดฟันกับใครไม่สำคัญเท่ากับผลการรักษาออกมาดีหรือไม่ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนดี?
จัดฟันกับใครดี ที่แน่ๆ ตัดพวกหมอเถื่อน หมอกระเป๋า จัดฟันแฟชั่นทิ้งไปก่อนเลย ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน คลินิกทันตกรรมที่ถูกกฏหมาย กระทรวงสาธารณสุขรับรองดีกว่าครับ แล้วที่ไหนหละที่เราจะพาตัวเรา ลูกหลาน คนในครอบครัว เข้าไปรับการรักษาได้อย่างสบายใจ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คลินิกใกล้บ้าน หรือเดินทางสะดวกก่อนเลย เพราะจัดฟันใช้เวลานานหลายปี ต่อมาก็หมอที่จะจัดฟันให้เราครับ ในวงการทันตกรรมมีคำเรียกหมอจัดฟันแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ หมอจัดฟันในระบบ และหมอจัดฟันนอกระบบ จะเลือกทำกับใครดี
* หมอสองกลุ่มนี้ต่างกันไหม ?
* จัดฟันบนมาตราฐานเดียวกันไหม?
* มาตราฐานการจัดฟันที่ว่าคืออะไร?
* ใครเป็นผู้กำกับควบคุมมาตราฐานนี้ ?
วันนี้จะมาย่อยให้เข้าใจกันง่ายๆ ครับ
 
หมอจัดฟันในระบบ คือ ทันตแพทย์ที่เรียนจบแล้วไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านทันตกรรมจัดฟัน ในคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยที่ทันตแพทย์สภารับรองหลักสูตรซึ่งมีเรียนสองหลักสูตรคือ
1.ปริญญาโท เน้นด้านการทำวิจัย ไม่เน้นงานคลินิก ใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี หรือนานกว่าถ้างานวิจัยไม่เสร็จ
2.หลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาทันตกรรมจัดฟัน เน้นงานคลินิกเป็นหลัก เรียนกันประมาณ 3 ปี บางคนก็มีช่วงต่อเวลาอีกนิดหน่อย
ทั้งสองกลุ่มนี้จะเรียกตัวเองว่าทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมจัดฟันได้ก็ต่อเมื่อสอบผ่านบอร์ดผู้เชี่ยวชาญ สาขาทันตกรรมจัดฟัน ของ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ภายใต้กำกับของ ทันตแพทยสภา ซึ่งส่วนใหญ่จะสอบผ่านกันครับ แต่ถ้าใครไม่สอบหรือสอบไม่ผ่าน ก็เรียกตนเองว่าหมอเฉพาะทางด้านจัดฟันไม่ได้นะครับ หมอกลุ่มนี้มีน้อยไม่กี่ร้อยคน เพราะแต่ละปีคณะทันตแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับสมัครน้อยไม่กี่คน แต่กลุ่มนี้เป็นหมอกลุ่มหลักที่ให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันจัดมานานก่อนที่ การเรียนการสอนจัดฟันนอกมหาวิทยาลัยจะเป็นที่นิยม
 
หมอจัดฟันนอกระบบ คือ หมอฟันที่จบทันตแพทย์และมีใบประกอบวิชชาชีพทันตกรรม แต่ไม่ได้เรียนจัดฟันในมหาวิทยาลัย หรือไปเรียนมาจากเมืองนอก ที่ทันตแพทยสภาไม่รับรองหลักสูตร มีสารพัดหลักสูตร online offline ในประเทศไทยมีการเปิดสอนจัดฟันให้กับทันตแพทย์นอกมหาวิทยาลัย ที่แรกโดยอาจารย์ที่สอนจัดฟันในมหาวิทยาลัยแถวสยามนั้นแหละครับ( ตอนนี้ยายไปที่อื่นแล้ว) ต้องสอบเข้าเรียนนะครับ มีสอบข้อเขียน สอบดัดลวด สัมภาษณ์ ค่าเรียนไม่ใช่ถูกๆ 7 หลักกันเลยทีเดียว แต่ด้วยการสอบเข้าเรียนต่อจัดฟันในมหาวิทยาลัยรับปีหนึ่งน้อยมาก ไม่กี่สิบคน ทำให้หมอที่ต้องการเรียนจัดฟันเทกันมาที่เอกชน ผ่านไปสักระยะก็มีอดีตอาจารย์สอนจัดฟันในมหาลัยท่านอื่นผันตัวมาเปิดสอนจัดฟันให้ทันตแพทย์ที่ต้องการเรียนกันเพิ่มขึ้น ค่าเรียนถูกลงเหลือ 6-8 แสน จำนวนผู้เรียนก็มากขึ้นตาม คนสอนก็เปิดเพิ่ม จนหลังๆ ทันตแพทย์จัดฟันที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ก็มาเปิดอบรมจัดฟันกันด้วยแม้แต่คอร์สเรียนจากต่างประเทศมาเปิดสอนในไทย ค่าเรียนค่อยๆ ลดลงอีก เรียนน้อยวันลง ไม่ต้องฝึกปฏิบัติในคนไข้จริง ไม่มีสอบเข้า ไม่มีสอบจบ กระแสจัดฟันก็กำลังมาแรง เมื่อตลาดต้องการการจัดฟัน แต่หมอจัดฟันมีน้อย เข้าคลินิกเดือนละ สองสามครั้ง เจ้าของคลินิกหลายคนก็ไปเรียนจัดฟันเอง เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนไข้ที่มากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน แทบทุกคลินิกทันตกรรม รับจัดฟันและมีหมอฟันที่รับจัดฟันอยู่ประจำหลายวันต่อเดือน เมื่อหมอที่รับจัดฟันมากขึ้น ราคาค่าจัดฟันก็ต่ำลง มีโปรโมชั่นมากขึ้น คนไข้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น หมอจัดฟันนอกระบบจะเข้าสอบบอร์ดจัดฟันก็ได้นะครับ แต่มักไม่สอบกันด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การสอบไม่ใช่เรื่องง่าย และหมอกลุ่มนี้ก็มีงานคลินิกที่ต้องดูแลมากมาย และหลายท่านก็เรียนจบเฉพาะทางสาขาอื่นมาแล้ว ที่สำคัญกฏหมายไทยก็อนุญาติให้ทันตแพทย์ทั่วไปจัดฟันได้ แม้ไม่ได้สอบผ่านบอร์ด ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟัน ของราชวิทยาลัยทันตแพทย์และทันตแพทยสภา แม้แต่ในอดีตก็มีหมอที่ศึกษาการจัดฟันด้วยตนเอง ให้บริการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันในเมืองไทยมานานแล้ว ดังนั่นคุณภาพของหมอจัดฟันนอกระบบขึ้นอยู่กับตัวหมอผู้เรียนเป็นหลัก อาจารย์ผู้สอนไม่ได้รับรองคุณภาพ เหมือนสอนให้เริ่มเดินได้ วิ่งได้เบาๆ แต่ถ้าจะเอาวิ่งเร็ว ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมกันเอง ทำให้การอบรมระยะสั้นเพิ่มพิเศษในเรื่องที่น่าสนใจทางการจัดฟัน ก็จัดขึ้นกันบ่อยๆ
มีคำถามว่าแล้วควรจัดฟันกับหมอคนไหนดี หมอจัดฟันในระบบ หรือนอกระบบดี แน่นอนหมอจัดฟันในระบบ ย่อมผ่านการเรียนการสอนที่เข้มข้นตามมาตราฐานมหาวิทยาลัย ส่วนหมอจัดฟันนอกระบบ หากตั้งใจศึกษาหาความรู้จากตำราและแหล่งข้อมูล onlineการฝึกอบรม ความรู้ก็ไล่กันทัน ตรงส่วนนี้ขึ้นกับหมอหละครับว่าจะขวนขวายแค่ไหน ช่วง 10ปีมานี้รักษาทางทันตกรรมจัดฟันมีความก้าวหน้าพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอยู่ตลอดเวลา ระบบจัดฟัน วัสดุ เครื่องมือหรือเทคนิคใหม่ บางอย่างเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปี หมอจัดฟันในระบบที่จบไปนานแล้วก็เพิ่งเห็นพร้อมๆ กับหมอจัดฟันนอกระบบ ดังนั้นในประเด็นความรู้ หากหมั่นศึกษาผมว่าไม่ต่างกัน ในแง่ประสบการณ์การทำงาน หมอที่เพิ่งเรียนจบหรือเพิ่งรับเคสไม่นานยังเห็นเคสไม่มาก มีเคสที่จบในมือไม่มาก ยังไม่ได้ติดตามเคสต่อเนื่องระยะยาว มีทักษะในการทำงานสู้หมอที่มีประสบการณ์สูงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการประเมินเคสให้อยู่ในขอบข่ายความสามารถที่ตัวหมอสามารถให้การรักษาได้ เคสจัดฟันมีง่าย มียาก บางทีดูเผินๆ เหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย บางทีดูว่ายาก แต่กลับเหมือนเส้นผมบังภูเขา หมอที่ดีต้องตรวจวินิจฉัยวางแผนการรักษาอย่างละเอียด รอบครอบ จนมองการรักษาออกเป็นขั้นตอนเลยว่าต้องทำอย่างไรและจบงานแบบไหน เรียกว่า "Begine with the end in mind" ไม่ชัวร์ ก็ไม่ทำ ส่งต่อและตามไปศึกษาเคสจากหมอที่เก่งกว่า อัพเดตตนเองอยู่เสมอ ความรู้น้อยประสบการณ์น้อยก็รับเคสที่ไม่ยาก สำคัญที่หมอๆ จะต้องประเมินตนเองได้ถูกต้องและพยายามพัฒนาความสามารถของตนอยู่เสมอ หมอแบบนี้แหละที่เป็นหมอจัดฟันในดวงใจใครหลายๆคน
ความสำเร็จของการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันคืออะไร คนไข้พอใจ ?หรือหมอพอใจ ? หรือได้ตามมาตราฐานของใคร หากมีมาตราฐานกลางที่จับต้องได้ จะเป็นการควบคุมคุณภาพการรักษาให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นหมอท่านไหนจัดฟันให้ ส่วนหมอที่ทำงานไม่ได้ตามมาตราฐานก็ต้องปรับปรุงตนเอง หรือเลิกจัดฟันไป ประเทศไทยก็มีการควบคุมคุณภาพด้านการให้การรักษาทางทันตกรรมผ่านทางทันตแพทยสภา แต่ก็เหมือนศาลยุติธรรม หากไม่มีการร้องเรียนก็ไม่มีการสืบสวน สอบสวน
มาตราฐานการจัดฟันที่ควรสนใจ
1. การตรวจ และบันทึกข้อมูลคนไข้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เช่นการตรวจสภาพฟัน เหงือก ลิ้น ข้อต่อขากรรไกร การถ่ายรูปนอกช่องปาก และในช่องปากที่ถูกต้อง การพิมพ์ปากและบันทึกการสบฟัน ภาพถ่ายรังสี (Cephalometric และ Panoramic ) หากการทำข้อมูลถูกต้อง จะส่งผลให้การวิเคราะห์ปัญหา และการวางแนวทางแก้ไขเป็นไปอย่างเหมาะสม ถ้าข้อมูลผิด ก็พากันผิดหมด
2. ขั้นตอนการวินิจฉัย วางแผนการรักษา นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าความผิดปกติของคนไข้เกิดจากจุดไหน และจะแก้ไขได้โดยวิธีไหน แก้ง่ายหรือยาก ผลการรักษาที่คาดหมาย ต้องถอนฟันร่วมด้วยไหม หรือ ต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด การประเมินความผิดปกติของเคสคนไข้จัดฟัน ในอเมริกามีการนำการประเมินค่าความผิดปกติของการสบฟันก่อนการจัดฟัน (ABO DI)โดยให้เป็นคะแนน ถ้าคะแนนสูงมาก ก็มีความผิดปกติมาก แต่คะแนนเป็นคะแนนรวม จากความผิดปกติหลายจุด จึงอาจไม่สามารถบอกได้เสมอไปว่าค่าที่มาก จะสัมพันธ์กับผลการรักษาที่ไม่ดี แต่พอจะประเมินได้ว่าถ้าค่าสูง ความผิดปกติมาก การรักษาจะยาก อาจต้องปรึกษาทัตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในไทยยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน แต่มีการแนะนำให้ทำ การวิเคราะห์ข้อมูลความผิดปกติ จากแบบปูนพิมพ์ฟัน ภาพถ่ายใบหน้า ภาพถ่ายภายในช่องปาก และฟิลม์เอกซเรย เพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งก็ช่วยประเมินความยากง่ายของเคสได้ รวมถึง สามารถนำค่าก่อนจัดกับหลังจัดมาเปรียบเทียบกันได้ ก็จะเห็นส่วนต่างๆ ที่วางแผนแก้ไขไว้ ว่าแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด เป็นไปตามแผนการรักษาหรือไม่
3. ขั้นตอนการนำเสนอแผนการรักษาแก่คนไข้ อธิบายถึงปัญหาที่พบ แนวทางการแก้ไข เป้าหมายที่จะแก้ไข ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย บันทึกในแผนการรักษาอย่างชัดเจน
4. การประเมินผลสำเร็จของการรักษา ปกติทั่วไป หลายสิบปีมาแล้วที่ทันตแพทย์ จะพยายามจัดฟันให้ได้ 6 keys of occlusion ของ Lawrence.F.Andrews คือมี
1.การสบฟันแบบ Class l
2.มีมุมเอียงของฟันในแนว Mesio angluation of the crownที่ถูกต้อง 3.ฟันมีการเปิดมุม labi lingual crowm inclination
4.ไม่มีฟันหมุน
5.ฟันชิดกันไม่มีช่องว่างระหว่างซี่ฟัน 6.การเรียงตัวของแนวเส้นโค้งด้านบดเคี้ยวของฟันล่าง (curve of Spee )ไม่เกิน 1.5 mm
Andrews 6 keys of occlusion
ปัจจุบัน American Board of Orthodontics( ABO )มีการประยุกต์ใช้ Objective Grading System (OGS)ในการประเมินผลการรักษาโดยวัดค่าต่างๆ(alignment, marginal ridges, buccolingual inclination, overjet, occlusal relationships, occlusal contacts, root angulation). จากแบบปูนพิมพ์ฟันและภาพเอกซเรย หลังการรักษาเพื่อใช้ประกอบการสอบบอร์ดผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟันของ ABO และมีการประยุกต์ไปใช้วัดผลการรักษาทางทันตกรรมประเทศต่างๆ เช่น ถ้าถูกหักคะแนนน้อยกว่า 20 จะถือว่าผ่าน ถูกหักคะแนน 20-30 แต้มถือว่า ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่พอยอมรับได้ ถูกหักคะแนนมากกว่า 30 แต้ม ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ หากแต่เกณฑ์การผ่านของแต่ละสถาบันก็ใช้ไม่เท่ากัน เพราะทั้งนี้ค่าแต้มที่ถูกหักไปเป็นเพียงตัวบอกว่าแบบปูนและภาพเอกซเรย หลังจัดนั้น มีจุดที่ถูกหักคะแนน หรือมีจุดที่ต่างจากค่ามาตราฐานเท่าใด เคสที่ยากมากอาจไม่สามารถจัดให้ลงสมบูรณ์ 100% ได้ แต่ดีกว่าก่อนจัดมาก ๆแล้ว และคนไข้ก็พอใจทั้งความสวยงามและการใช้งาน อีกทั้ง OGS ไม่มีการประเมินในเรื่องเนื้อเยื่ออ่อนของใบหน้าเช่น รอยยิ้ม ดูเฉพาะฟันและกระดูก จึงใช้เป็นเพียงแนวทางการประเมินเท่านั้น
5. มีการนัดตรวจติดตาม เพื่อประเมินเสถียรภาพของผลการรักษาต่อเนื่อง
การประเมินคุณภาพการจัดฟันดูยุ่งยากมาก บางเรื่องหมอฟันก็ยังถกเถียงทางวิชาการกันโดยไม่ได้ข้อยุติ แล้วคนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่าฟันที่จัดดีแล้ว?
 
ผมขอเสนอให้พิจารณา 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1. มีความสวยงาม ปัจจุบันการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันของคนไข้ไม่ได้มาด้วย ความต้องการแก้ไขให้ฟันใช้งานได้เท่านั้น ยังมีเรื่องความสวยงามด้วย ฟันเรียงตัวสร้างรอยยิ้มที่สวยงาม( smile arch, smile window ) ไม่เหยินหรืองุ้มเกิน การจัดฟันจึงต้องมีความสวยงามตามความต้องการของคนไข้ โดยไม่ขัดกับมาตราฐานทางการแพทย์
2.มีการใช้งานที่ดี บดเคี้ยวอาหารได้ละเอียด เคี้ยวได้ทั้งด้านซ้ายและขวามีเสถียรภาพ ฟันสบสนิทในตำแหน่งที่เหมาะสม มีการกระจายแรงบดเคี้ยวที่สม่ำเสมอ ระยะสบคร่อม (overbit) ระยะสบยื่น (overjet)ของฟันที่เหมาะสม ไม่มีการสบกระแทกของกลุ่มฟันหลังในขณะเคี้ยวเยื้อง ไม่มีการสบสะดุด มีเหงือกและอวัยวะปริทันต์ ที่สมบูรณ์ เหงือกไม่ร่น ไม่แดงช้ำ ข้อต่อขากรรไกร (TMJ)ทำงานได้ตามปกติไม่มีอาการบาดเจ็บ เสียงดัง ก๊อกแก๊กที่ข้อต่อขากรรไกรเวลาอ้าปากหุบปาก หรือการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว พูดร่วมได้ "ว่ายิ้มก็สวย เคี้ยวก็ดี ฟันแข็งแรง เป็นระเบียบ เหงือกไม่ร่น อ้าปากได้กว้าง ไม่ปวด ไม่เจ็บ "
การจัดฟันเป็นการรักษาที่ใช้เวลายาวนาน อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งหมอฟันและคนไข้ กว่าจะเริ่มเห็นผลการรักษาก็ต้องผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ในส่วนของหมอต้องมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาให้คนไข้ มีจรรยาบรรณที่ดีซึ่งสำคัญมาก ไม่ว่าหมอจัดฟันในระบบหรือนอกระบบ ความรู้ ความสามารถสามารถพัฒนาไล่ตามกันทันได้ แต่การรักษามาตราฐาน คุณภาพการรักษา เป็นเรื่องส่วนบุคคลของหมอแต่ละท่านที่ควรต้องรักษาไว้ให้ดี ในส่วนคนไข้นั้น ต้องให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามที่หมอสั่ง มาตามนัดหมาย และหากมีข้อสงสัย ปัญหา ให้รีบแจ้งกับคุณหมอทันที เช่น ฟันโยกมาก ตำแหน่งฟันหน้าดูงุ้มมาก เคี้ยวอาหารไม่ได้ ฟันเบี้ยว ปวดข้อต่อขากรรไกร อ้าปากได้น้อย ซึ่งปกติหากขั้นตอนการรักษาจะมีภาวะแทรกซ้อนใดที่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ คุณหมอจะแจ้งแก่คนไข้ก่อนเสมอ (บอกก่อนรู้จริง บอกที่หลังคือแก้ตัว +ทุกวงการมีทั้งคนดี คนไม่ดี หมอก็เช่นกัน)
 
มาถึงจุดนี้ผมสรุปง่ายๆ ว่าการควบคุมคุณภาพการจัดฟัน มาตราฐานทางวิชาชีพทันตกรรมทั้งหมด ถูกกำกับดูแลโดยทันตแพทยสภา และทันตแพทยสภาจะเข้ามาพิจารณามาตราฐานการรักษาของหมอได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียน ซึ่งผมคิดว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ การควบคุมมาตราฐานผ่านกลไกการยกระดับความรู้ของคนไข้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เช่นเมื่อคนไข้รู้ว่าการจัดฟันที่ดีเป็นแบบไหน หมอก็จะไม่กล้ามั่วทำงานไม่ดี หรือทำแค่ผ่านๆ ไป ถ้าทำไม่ดีคนไข้ก็รู้ เสี่ยงสูงมากที่จะถูกร้องเรียน และต้องรับโทษ ทำให้ตัวหมอเองจะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาพร้อมรักษามาตราฐานไว้ หรือเลิกจัดฟันไปหากไม่อยากรับความเสี่ยง สิ่งนี้จะเกิดกับทั้งหมอจัดฟันในระบบและนอกระบบเป็นระบบควบคุมพร้อมคัดกรอง เมื่อมีหมอจัดฟันที่ได้คุณภาพมากขึ้นการเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันของคนไข้ก็ง่ายขึ้น ทั้งความสะดวกเรื่องเวลา สถานที่ และค่าใช้จ่ายที่ถูกลง งานง่ายทำกับหมอทั่วไป งานยากไปทำกับหมอเฉพาะทางจัดฟัน( การรักษาทางทันตกรรมสาขาอื่นก็เป็นแบบนี้ เช่นฟันถอนฟันปกติ หมอฟันทั่วไปก็ถอนให้ได้ในราคาไม่แพง แต่ถ้าถอนฟันที่ยาก หรือต้องผ่าตัดร่วมด้วย ก็ส่งหมอฟันด้านศัลยศาสตร์ช่องปากที่มีความเชี่ยวชาญกว่า แต่ราคาค่ารักษาก็สูงขึ้น และรอคิวนานกว่า) คุณภาพงานก็จะดีไปเอง คนไข้ก็ได้งานที่ดี เร็ว ราคาเหมาะสม วงการทันตกรรมในบ้านเราก็พัฒนา
8 มีนาคม 2564
Dental digest ย่อยเรื่องฟันให้ท่านเข้าใจง่ายๆ
Occlusal philosophy: investigating the reasons orthodontists have for occlusion preference
The Association of Malocclusion Complexity and Orthodontic Treatment Outcomes
Article  in  The Angle Orthodontist · June 2009
Relationship between Discrepancy Index and the Objective Grading System in Thai board of orthodontics Patients :September 2016 Orthodontic Waves 75(3) DOI: 10.1016/j.odw.2016.08.001
Treatment outcome differences between pass and fail scores and correlation between cephalometric changes and cast-radiograph evaluation of the American Board of Orthodontics: Siew Peng Neoh, Chulaluk Komoltri, and Nita Viwattanatipa
โฆษณา