Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
unfocused
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2021 เวลา 10:32 • บันเทิง
การดูเกม :: อีกหนึ่งความบันเทิงของยุคสมัย!
ในยุคนี้นอกจากการดูภาพยนตร์หรือซีรี่ส์แล้ว
การดูเกมถือว่าเป็นตัวเลือกความบันเทิงอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้
แม้หลายคนจะคิดว่าการเล่นเกมด้วยตัวเองต่างหาก
ที่ทำให้เราได้รับความสนุกสูงสุด
เกม Life is Strange ภาพจาก https://www.facebook.com/DONTNOD.Entertainment/?ref=page_internal
แต่ก็ชัดเจนว่าวงการของการดูเกมนั้นเข้าแล้วออกยาก
แถมยังเติบโตต่อเนื่องและเป็นที่นิยมอยู่ตลอด
ดูได้จากจำนวนช่องทางและจำนวนผู้ติดตามของเกมเมอร์ทั้งหลาย
ที่มาสตรีมเกมหรือมาลงคลิปให้ดูกัน
อย่างเช่น YouTube หรือ Twitch หรือแม้แต่บน Fecbook
จุดประสงค์ของการดูเกมนั้นก็มีหลากหลาย
เช่นเดียวกับจุดประสงค์ของการเผยแพร่วิดีโอคอนเทนต์การเล่นเกม
เราอาจเคยได้ยินคำศัพท์ต่างๆ อย่าง
Walkthrough Playthrough Gameplay หรือ Let’s play
ซึ่งคำเหล่านี้ก็อธิบายถึงลักษณะการเผยแพร่คอนเทนต์เกมที่แตกต่างกันนิดหน่อย
ขออธิบายตามความเข้าใจของอึ่งแล้วกันนะคะ
• Walkthrough เป็นวิดีโอที่มีจุดประสงค์เพื่อแนะนำหรือสอนการเล่นเกมบางส่วน
(ไม่ใช่ทั้งเกม) เช่น ส่วนที่ยากๆ ทำอย่างไรถึงจะผ่านด่าน
หรือทำอย่างไรให้ได้รับ achievement ในเกมได้
• Playthrough เป็นวิดีโอที่แสดงการเล่นเกมตั้งแต่ต้นจนจบ
อาจมีเสียงพูดของผู้เล่นระหว่างเล่นเกม หรือมีแค่เฉพาะเสียงในเกมก็ได้
แต่มักจะไม่โชว์หน้าตาผู้เล่น
• Gameplay เป็นวิดีโอที่แสดงรูปแบบการเล่น/การบังคับของตัวเกม
(ไม่โชว์พวก cutscene)
• Let’s play จะคล้ายๆ playthrough แต่จะโชว์หน้าหรือเสียงของผู้เล่นในระหว่าง
เล่นเกมไปด้วย และอาจไม่ต้องให้ดูทั้งเกม แต่จะเป็นวิดีโอที่ผ่านการตัดต่อ
เอาส่วนที่ไม่สำคัญหรือยืดเยื้อในตัวเกมออกไปแล้ว
แน่นอนว่าคนที่เสพการดูเกมก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการว่าจะดูเพื่ออะไร
ถ้าเป็นคนที่เล่นเกมด้วยก็อาจดูให้เห็นแนวทางการเล่นแบบอื่นๆ
เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองก็ได้
หรือถ้าเป็นคนไม่เล่นเกมก็คงดูเพื่อความบันเทิงล้วนๆ
ซึ่งในด้านของความบันเทิงนั้นก็มาจากหลายปัจจัย เช่น
🎮 ลักษณะของเกม - เราทราบกันดีว่าเกมนั้นมีหลากหลายรูปแบบ
เราสามารถเลือกดูได้ตามความพอใจเลย ไม่ว่าจะเป็นเกมสร้างเมือง เกมพัซเซิล
หรือที่โดนใจหลายคนมากๆ ก็คงจะเป็นเกมเนื้อเรื่อง
ซึ่งในเกมเนื้อเรื่องก็เรียกได้ว่ามีรายละเอียดและเนื้อเรื่องน่าติดตาม
ให้แง่คิดหรือการตีความที่ลึกซึ้งไม่แพ้ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์เลย
แถมถ้าได้ดู playthrough ความยาวของเกมเนื้อเรื่องก็จะอยู่ที่ 3-8 ชั่วโมง
ดูกันแบบจุใจสุดๆ ยิ่งถ้าเป็นเกมที่มีตอนจบหลายๆ แบบ เราก็ยังไปหาดูตอนจบ
แบบอื่นๆ ต่อได้อีก ไม่ต้องหลับต้องนอนเลยค่ะ
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Detroit:_Become_Human
🎮 กราฟิกของเกมที่พัฒนาขึ้น - การดูเกมที่กราฟิกสวยๆ นั้นให้อรรถรสมาก
และกราฟิกของเกมก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณภาพของเนื้อเรื่อง เกมเพลย์
และภาพนั้นไปพร้อมๆ กัน จากเมื่อก่อนที่เกมมีเนื้อเรื่องเข้มข้นแต่ภาพไม่สวย
การดูเกมก็อาจได้อรรถรสไม่เท่าในปัจจุบัน
🎮 เกมเมอร์ที่โดนใจ - การมีเกมเมอร์มากมายที่ลงคลิปหรือไลฟ์สดการเล่นเกม
ในยุคนี้ทำให้คนดูเกมมีทางเลือกมากตามไปด้วย เกมเมอร์ที่เล่นเกมได้โดนใจเรา
หรือมีแนวคิด มีไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกับเราก็ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับการดูเกมของ
คนนั้นและทำให้การดูเกมสนุกมากขึ้นไปอีก คลายเหงาไปเลย
เกมเมอร์แต่ละคนที่สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองและเอ็นเตอร์เทนคนดูได้ดี
ก็จะได้รับความนิยมและการสนับสนุนด้วย
เกม Tell Me Why ที่ตัวเอกเป็นพี่น้องฝาแฝดและมีพลังพิเศษเชื่อมถึงกัน ภาพจาก https://www.facebook.com/DONTNOD.Entertainment/?ref=page_internal
🎮 ดูเกมแล้วได้ประโยชน์ - หลายคนดูเกมไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว
แต่เพื่อฝึกภาษาด้วย (เช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์และซีรี่ส์นั่นเองค่ะ)
ซึ่งในเกมจะสามารถเลือกภาษาได้ตามความต้องการ
และด้วยเกมมีเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย
เราก็จะได้ศัพท์ที่ใช้ใน field นั้นๆ ไปด้วย
🎮 การพูดคุยกับหมู่คณะ - บ่อยครั้งที่เกมจบคนไม่จบค่ะ เมื่อเราดูเกมใดๆ ก็ตาม
และมีเพื่อนที่ดูเกมนั้นเหมือนกัน ก็จะมีการมานั่งคุยนั่งตีความตามมุมมองของตนเอง และเกิดการแลกเปลี่ยน เกมเนื้อเรื่องหลายๆ เกมถูกนำมาอภิปรายกันอย่างจริงจัง
และทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิตได้เลยนะ
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Little_Nightmares_II
นอกจากนี้การดูเกมนั้นเกี่ยวพันกับสมองในส่วนที่เรียกว่า mirror neuron system ด้วยนะ
เจ้า mirror neurons นั้นถูกค้นพบในช่วงทศวรรษ 1990s
โดยนักประสาทวิทยากลุ่มหนึ่งใน University of Parma ประเทศอิตาลี
ซึ่งพวกเขาติดตั้งตัวจับสัญญาณคลื่นสมองไว้กับน้องลิงเพื่อหาว่าประสาทส่วนไหน
ใน premotor cortex กันนะที่จะถูกกระตุ้นเวลาหยิบจับสิ่งของ
เรื่องเล่ายอดฮิตคือตอนที่พวกเขากำลังกินถั่วลิสง
สมองของลิงที่เห็นเหตุการณ์ก็ถูกกระตุ้นทั้งที่ตัวมันไม่ได้กินถั่วด้วยเลย
ประสาทส่วนนั้นจึงถูกเรียกว่า mirror neurons
ต่อมาอีกหลายปีก็มีงานวิจัยเรื่อง mirror neurons ในมนุษย์และพบว่า
ตอนมนุษย์หยิบจับสิ่งของ ประสาทส่วนหนึ่งจะถูกกระตุ้น
เมื่อมองผู้อื่นหยิบจับสิ่งของ ประสาทอีกส่วนจะถูกกระตุ้น
แต่ก็มีประสาทส่วนหนึ่งที่ถูกกระตุ้นเมื่อมนุษย์หยิบสิ่งของเองและมองผู้อื่นทำ
และนั่นใกล้เคียงกับเจ้า mirror neurons นี่แหละ
เจ้า mirror neurons ถูกนำมาใช้อธิบายภาวะสมองของเราเวลาดูเกมกีฬาด้วย
การที่เรามีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เราดูหรือการที่ประสาทส่วนนี้ถูกกระตุ้นมากหรือน้อยก็ยังมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง
ทั้งประสบการณ์ การมองเห็นหรือได้ยินเกมการแข่งขันที่ชัดเจน เป็นต้น
ซึ่งคนที่ดูกีฬาใกล้ๆ หรือลงไปเล่นเองก็จะเกิดการกระตุ้นมากกว่า
การดูเกมก็อาจให้ผลคล้ายๆ กับการดูกีฬาที่เราอินไปกับการเล่นหรือเนื้อเรื่อง
ในเกมนั่นเอง
โดยส่วนตัวแล้วอึ่งคิดว่าการเล่นเกมและการดูเกมก็สนุกทั้งคู่
แต่อาจจะต่างกันนิดหน่อย เพราะตอนที่เล่นเกมเราอินกว่าและกดดันมากกว่า
ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงนะคะ
ส่วนการดูเกมจะรู้สึกเหมือนดูภาพยนตร์
อาจจะลุ้นตามจนตัวโก่ง แต่ก็ไม่กดดันเท่าเล่นเองอยู่ดี
ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดีเหมือนกันที่เราได้ผ่อนคลายกว่า
เกม Among Us ที่แสนจะฮอตฮิตในตอนนี้ (แมปใหม่เมื่อไหร่จะมานะ)
เกมแนวเนื้อเรื่องที่สนุกๆ และอยากจะแนะนำมีเยอะมากเลยนะ
จริงๆ อยากเขียนรีวิวเกมสักซีรี่ส์นึงเหมือนกัน
เอาไว้เป็นโครงการในอนาคตแล้วกันค่ะ
สุดท้ายนี้เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเล่นเกมหรือดูเกมก็ตาม
อย่าหักโหมเกินไป (เทกแคร์นะ)
ส่วนคนที่รักเกมและอยากลองให้เกมเป็นช่องทางในการหารายได้
ก็เริ่มเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้นะ
ขอบคุณทุกคนที่แวะเวียนมาอ่านนะคะ
แล้วเจอกันค่ะ
🤟🏽
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
https://theconversation.com/crucible-the-science-behind-why-watching-others-playing-video-games-has-become-so-popular-139190
https://nautil.us/issue/59/connections/why-some-sports-fans-have-more-fun
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย