11 มี.ค. 2021 เวลา 10:30 • ไลฟ์สไตล์
แกะแนวความคิดจากบทเรียนชีวิตของ Jordan Belfort
แกะแนวความคิดจากบทเรียนชีวิตของ Jordan Belfort
“Sell me this pen”
เป็นวลีทองของ Jordan Belfort (จอร์แดน เบลฟอร์ท) หนึ่งในโบรกเกอร์แห่ง Wall Street ที่ดังไปทั่วโลก ถึงขนาดที่มีการหยิบเอาชีวิตของเขามาทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2013 เรื่อง “The Wolf of Wall Street” ชื่อไทยคือ “คนจะรวย ช่วยไม่ได้” ที่นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio สร้างรายได้ไปกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนั่นเป็นที่มาที่ทำให้ Jordan Belfort กลายมาเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจในปัจจุบัน
เขาเป็นสุดยอดนักขายตั้งแต่เด็กที่ส่งตัวเองเรียนได้จากการสังเกตปัญหาของผู้คนแล้วสร้างบริการที่แก้ปัญหานั้นอย่างตรงจุด แม้ว่าจะเรียนจบในคณะทางชีววิทยาแต่ด้วยความคลั่งไคล้ในการขาย ทำให้เบลฟอร์ทเข้าไปเป็นหนึ่งในคนขายเนื้อที่ประสบความสำเร็จจนออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง แม้สุดท้ายจะโดนลูกน้องโกงจนล้มละลายแต่ประสบการณ์ครั้งนี้ก็ช่วยให้เขาสามารถต่อยอดมาเป็น 1 ใน Broker ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดใน Wall Street
วันนี้เราเลยอยากชวนคุณมาร่วมกันแกะแนวความคิดน่าสนใจของเบลฟอร์ทว่าทำอย่างไร จึงกลับมาประสบความสำเร็จได้แม้จะต้องล้มละลายและติดคุก
เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวยิว
9 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 จอร์แดน เบลฟอร์ท เกิดในย่าน Queens ของ New York ครอบครัวของเขาอาศัยในอพาร์ทเมนต์ขนาดย่อม ทั้งพ่อและแม่ที่มีเชื้อสายยิวทำงานเป็นนักบัญชี ในขณะที่เขาเรียนจบคณะชีววิทยา
ครั้งหนึ่ง สมัครเข้าไปเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ แล้วตัดสินใจลาออกตั้งแต่วันแรกที่ไปเรียนเพราะคำพูดของคณบดีที่ว่า “ยุคทองของทันตแพทย์ได้ผ่านไปแล้ว ถ้าคุณมาเข้ามาเพราะต้องการทำเงินให้ได้มาก ๆ นั่นแสดงว่ามาผิดที่แล้ว”
ทักษะการขาย ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
สมัยมัธยมเบลฟอร์ทฉายแววนักขายจากการสังเกตเห็นปัญหาของคนที่อาบแดดตามชายหาด เขาหุ้นกับเพื่อนแบกกระติกโฟมเดินขายไอศกรีม แค่ช่วงปิดเทอมนั้นทั้งคู่ทำเงินได้ราว 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับเด็กมัธยม
ถึงจะเรียนจบจากคณะชีวิวิทยาแต่เพราะความรักในงานขาย ทำให้เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นเซลล์แมนขายอาหารทะเลและเนื้อสัตว์ในช่วง ต้น ๆ เบลฟอร์ทประสบความสำเร็จจากการตระเวนขายเนื้อสัตว์ตามบ้านจนลาออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง มีลูกจ้างมากมายและขายเนื้อกับปลาได้กว่า 2,300 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ แต่เพราะการขยายธุรกิจที่เร็วเกินไปจนดูแลไม่ทั่วถึงทำให้เบลฟอร์ทถูกลูกน้องโกงและล้มละลายตอนอายุ 25 ปี
จุดสูงสุดของชีวิต
เบลฟอร์ทก่อตั้ง Stratton Oakmont ในปี ค.ศ. 1989 ช่วงต้นบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นเล็ก ๆ ที่ราคาไม่แพงจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในวงการได้สำเร็จในช่วงทศวรรษ 1990s ได้รับผิดชอบการออก IPOs หรือขายหุ้นบริษัทให้ประชาชนเป็นครั้งแรกกว่า 35 บริษัท
ถึง Stratton Oakmont จะดูเหมือนบริษัทที่ดำเนินงานได้ดี แต่จริง ๆ แล้วเป็นบริษัทที่หลอกขายหุ้นบริษัทเล็ก ๆ หรือ Penny Stock ให้กับนักลงทุนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวในราคาสูงกว่ามูลค่าจริงของมัน ในช่วงรุ่งเรืองที่สุดของบริษัทมีพนักงานกว่า 1,000 คน ที่ดูแลการลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
กับดักของความสำเร็จและชีวิตที่พลิกผัน
จากความสำเร็จมากมายในชีวิตที่มีทั้งเงินทอง ชีวิตที่หรูหรา สปอร์ตคาร์ และบ้านหลังใหญ่ เขาหันมาใช้ยาเสพติดและการพนัน นั่นเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ชีวิตเริ่มแย่ลงและภรรยาคนแรก Denise Lombardo ก็ตัดสินใจขอหย่า ครั้งหนึ่งเบลฟอร์ทให้สัมภาษณ์กับ Goalcast ในชื่อตอน My life bottomed out. ว่า “เขาต้องสูญเสียเงิน อิสรภาพ และถึงขนาดที่ต้องห่างจากลูก ๆ เลยด้วยซ้ำ”
จุดพลิกผันใหญ่ที่สุดก็คือ สมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งชาติที่ติดตามดูพฤติกรรมผิดกฎหมายของ Stratton Oakmont มาตลอด ได้เข้าไปปิดบริษัทในปี ค.ศ. 1996 จากนั้นในปี ค.ศ. 1999 ทั้งเขาและเพื่อนคือ Danny Porush ถูกฟ้องในข้อหาฟอกเงินและฉ้อโกงทรัพย์ ที่ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับราว 110 ล้านเหรียญสหรัฐและต้องจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จนกว่าจะใช้หนี้หมด
เบลฟอร์ทถูกตัดสินให้จำคุกนานถึง 4 ปี แต่ก็เหมือนกับนักโทษคนอื่น ๆ ที่มาจาก Wall Street นั่นแหละ เขาถูกขังเดี่ยวราว 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่ในค่ายทำงานที่มีทั้ง สนามเทนนิส ห้องสมุด และกิจกรรมออกกำลังกาย ในระหว่างถูกคุมขังเบลฟอร์ทได้พบกับ Tommy Chong ผู้แนะนำให้เขาเริ่มเขียนประวัติชีวิต จนกลายเป็นหนังสือ “The Wolf of Wall Street” นั่นเอง
3 แนวคิดที่ Jordan Belfort ใช้เพื่อกลับมาประสบความสำเร็จ
เมื่อคนหนึ่งประสบความสำเร็จจนถึงจุดสูงที่สุด แต่กลับต้องตกต่ำจนไม่เหลืออะไร นี่คือ 3 แนวคิดที่ Belfort ใช้จึงกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งในฐานะของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่โด่งดังไปทั่วโลก
1. ต้องเห็นอนาคตของตัวเอง เพราะมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามุ่งไปข้างหน้า
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดถึงอนาคต มันจะเป็นพลังที่ช่วยผลักให้เราลุกออกจากเตียงในตอนเช้าเพื่อจะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าทุก ๆ วันที่เคยผ่านมา เบลฟอร์ทบอกว่ามีคนมากมายที่มีเป้าหมาย แต่คนประสบความสำเร็จเท่านั้นที่มองเห็นภาพตัวเองในอนาคตชัดเจน ด้วยการเห็นภาพว่าอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี จะมีชีวิตอย่างไร ก็เขียนสิ่งนั้นลงไปในกระดาษแล้วทำมันให้เป็นจริงขึ้นมา
2. ต้องมีแผนการสำหรับเรื่องต่าง ๆ เสมอ
เหตุผลที่ต้องมีแผนการก็เพื่อจะทำให้สิ่งที่เห็นในอนาคตเป็นจริงขึ้นมาได้ คนส่วนใหญ่พลาดเรื่องนี้เพราะมองไม่เห็นความสำคัญของแผนการและคิดว่าเป็นแค่สิ่งที่ไม่จำเป็น
อย่างที่เล่าไปแล้วว่าเขาเดินขายของให้กับนักท่องเที่ยวที่นอนอาบแดดบนชายหาด ที่ไม่อยากเดินไปครึ่งไมล์เพื่อซื้อน้ำขวดเดียว หรือไอศกรีมแค่แท่งเดียว เบลฟอร์ทรู้จากเหตุการณ์นี้ว่าแผนการสำคัญอย่างมาก เพราะเพื่อนของเขา 4 คนจะหยุดขายไอศกรีมตั้งแต่หมดลังแรก แต่มีเพื่อนแค่คนเดียวที่มาขายกับเขาจนหมด 4 ลัง นั่นทำให้รู้ว่าแผนการหรือกลยุทธ์นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เราทำเป้าหมายจนเป็นจริงได้
3. ทำมาตรฐานให้มีศักยภาพเทียบเท่าวิสัยทัศน์
ในขณะที่บางคนมีความฝันตัวหนาปึ้ก ฟังดูดีมีพลัง แถมยังยิ่งใหญ่ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วเขากลับทำได้แค่เพียงมาตรฐานธรรมดาที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ขนาดนั้นได้ เหมือนกับการเปรียบเทียบว่าเป็น “Champagne vision and beer standards”
สิ่งที่เบลฟอร์ทต้องทำอยู่เสมอคือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เขาคิดว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตัวเราอยู่ใน “ระดับ” ไหน เพราะแต่ละคนตื่นนอนต่างเวลากัน ทำงานชั่วโมงไม่เท่ากัน และก็ส่งผลให้รายได้ที่ได้ไม่เท่ากันด้วยนั่นเอง
อ่านบทความอื่น ๆ ของ JobThai คลิกเลย 👉 https://blog.jobthai.com
โฆษณา