8 มี.ค. 2021 เวลา 04:50 • สุขภาพ
คำแนะนำหลักสำหรับประชาชนในการดูแลตนเองเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ๆ มีหมอกควัน
 
1. 🔍ติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่หรือใกล้เคียงที่สุดเป็นระยะ ๆ โดยเลือกดัชนีที่
สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงเวลาชั่วโมงล่าสุดเป็นสำคัญ หรือใช้เครื่องวัดค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 แบบพกพา
2.🚪🪟ปิดประตูหน้าต่างเพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคารและใช้เครื่องฟอกอากาศประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ถึง 99.7%
📌ข้อควรระวัง ห้องที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน หากปิดห้องสนิทจนระบบอากาศภายในและภายนอกไม่สามารถถ่ายเทกันได้ อาจทำให้รู้สึกมีอาการอึดอัด ปวดหรือมึนศีรษะ อ่อนล้า ควรเปิดพัดลมระบายอากาศออกร่วมด้วย หรือหากไม่มีพัดลมระบายอากาศออก อาจเปิดแง้มห้องเพื่อช่วยในการระบายอากาศเป็นระยะ ๆ และควรมีเครื่องตรวจวัดฝุ่นละเอียดPM2.5แบบพกพาเพื่อวัดประสิทธิภาพของการฟอกอากาศภายในห้อง
3. 😷ควรสวมหน้ากากชนิด N95 เมื่ออยู่นอกอาคาร หรืออยู่ในอาคารที่ไม่มีระบบหรือเครื่องฟอกอากาศ เพราะสามารถกรองมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แต่ต้องสวมให้ถูกวิธี โดยเลือกขนาดที่ใส่ได้กระชับกับรูปจมูกและใบหน้า หากเริ่มอึดอัดหรือเหนื่อย ให้ถอดออกเพียงชั่วครู่ก็จะรู้สึกสบายขึ้นแล้วรีบสวมใหม่ทันที การใส่หน้ากาก N95 ที่มีวาล์วระบายลมหายใจออกจะทำให้อึดอัดน้อยลง และใส่ได้นานขึ้น และไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
4. ☀️🚫หลีกเลี่ยงหรืองดการทำงาน การออกกำลังกายนอกอาคาร หรือในอาคารที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ โดยเฉพาะการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักและต่อเนื่องนานๆ เพราะทำให้สูดมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 เข้าปอดและร่างกายได้มากกว่าปกติหลายเท่า อาจทำให้โรคที่ซ่อนเร้น เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ โรคภูมิแพ้โพรงจมูก และหอบหืดเกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้
5. 🏢หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ แม้จะมีระบบปรับอุณหภูมิอากาศให้รู้สึกเย็นสบาย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ เนื่องจากภายในอาคารเหล่านี้หากดูด้วยสายตามักไม่เห็นความพร่ามัวของอากาศในอาคารและจะไม่ได้กลิ่นเผาไหม้ หากจำเป็นต้องอยู่ในอาคารดังกล่าว ควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดและควรสวมหน้ากาก N95 และทำตามคำแนะนำข้อ 3
6. 🩺 ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรังเช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะได้รับผลกระทบเร็วกว่าคนปกติ จึงไม่ควรขาดนัด ขาดยาที่แพทย์ให้ใช้ควบคุมโรค และควรหมั่นสังเกตอาการโรคกำเริบ หากมีอาการกำเริบควรใช้ยาหรือรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์ได้แนะนำ และไปพบแพทย์โดยเร็วหากอาการไม่ทุเลา
7. 🩺 ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือแข็งแรง ถ้ามีอาการผิดปกติที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น แน่นอก เจ็บอกหรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่ เหมือนมีของหนักกดทับ เหนื่อยหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน มองไม่เห็นฉับพลัน มีอาการไอแบบระคายเป็นชุด ไอมีเสียงดังหวีด มีไข้และหอบเหนื่อยควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉินทันที
8. 👁สวมแว่นตาขนาดใหญ่เพื่อป้องกันดวงตาจากมลพิษ ใช้น้ำเกลือมาตรฐานล้างตาหรือใช้น้ำตาเทียม
หยอดตาหากรู้สึกระคายเคือง
9. 👃🏻💦ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเมื่อมีอาการคัดแน่นจมูก หรือมีมูกเมือกในโพรงจมูก เพื่อล้างมูกเมือกและฝุ่นหยาบ ลดอาการคัดจมูก หรือกลั้วคอเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่การใช้น้ำเกลือล้างจมูกไม่สามารถล้างฝุ่นละเอียดออกจากเยื่อบุโพรงจมูกได้ เพราะฝุ่นละเอียดเหล่านี้จะซึมซับเข้าในผนังเยื่อบุและเส้นเลือดฝอยทันทีที่สูดเข้าไป
10. 🚭❌🔥ไม่เป็นผู้ก่อมลพิษเองหรือเลี่ยงการก่อมลพิษเท่าที่จำเป็น รวมทั้งไม่ก่อมลพิษในอาคาร ได้แก่ ไม่กวาดในอาคาร ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือใช้ผ้าเปียกชื้นเช็ดถู ไม่สูบบุหรี่ ไม่จุดเตาหุงต้ม ไม่ก่อสร้างต่อเติมหรือทาสีอาคาร ไม่ก่อมลพิษนอกอาคาร ได้แก่ ไม่เผาทุกชนิดในที่โล่ง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถโดยไม่จำเป็น
ที่มา : ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
#PM2.5
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMUในมือคุณ
โฆษณา