8 มี.ค. 2021 เวลา 06:36 • ประวัติศาสตร์
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2424 ในรัชสมัยขององค์พระบาทพระจุลจอมเกล้า ที่อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม เป็นบุตรชายคนเล็กของครูปี่พาทย์ชื่อสิน และนางยิ้ม
นายศรคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์เมื่ออายุ 11 ปี ตีระนาด "ไหวจัด" (ภาษาทางดนตรีโดยเฉพาะระนาดเอก หมายถึง การตีรัวได้เร็วมาก) มาตั้งแต่เด็ก โดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาปี่พาทย์ให้จนกระทั่งมีชื่อเสียงไปทั่วลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
ครั้งหนึ่ง มีการประชันวงในวันคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดาพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี นายศรได้แสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอกเพลงกราว ว่ากันว่ายากมาก กินเวลาถึง 1 ชั่วโมง นายศรบรรเลงได้อย่างดียิ่ง เป็นที่พอพระทัยของเจ้านายที่เสด็จมาในงานนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ซึ่งเป็นนักดนตรีฝีพระหัตถ์เยี่ยมถึงกับประทานรางวัล
ใน พ.ศ.2442 มีโอกาสแสดงฝีมือถวาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จวังบูรพา” จนเป็นที่พอพระทัย สมเด็จวังบูรพาจึงทรงขอตัวนายศรจากครูสิน ทรงประทานตำแหน่ง “จางวางมหาดเล็ก” และประทานนามสกุล “ศิลปบรรเลง” ซึ่งแปลว่า "ความรู้แห่งเสียงดนตรี" ให้อีกด้วย
เมื่ออายุครบบวช สมเด็จวังบูรพายังทรงจัดการอุปสมบทให้จางวางศร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นสึกออกมาก็ทรงจัดให้แต่งงานกับนางสาวโชติ หุราพันธ์ มีบุตร4 คนคือ ชิ้น, บรรเลง, ประสิทธิ์ และชัชวาล ภรรยาคนที่สองชื่อนางสาวฟู หุราพันธ์ มีบุตร 4 คน คือภัลลิกา, ขวัญชัย, สมชาย และสนั่น ศิลปบรรเลง
จางวางศรได้ติดตามสมเด็จวังบูรพาไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย ได้นำเพลงของชวามาปรับปรุงเป็นไทยหลายเพลง เช่น เพลงบูเซนซอก เพลงยะวา และนำเครื่องดนตรีเขย่ากระบอกไม้ไผ่ของชวามาปรับปรุงใช้ในเมืองไทย คือ อังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 6 จางวางศร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2468 และได้รับผิดชอบควมคุมวงดนตรีที่วังลดาวัลย์ หรือ วังบางคอแหลม ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ครั้งนี้ท่านประดิษฐ์ทางเพลงขึ้นใหม่เช่น เพลงแขกลพบุรีทางวังบางคอแหลม เพลงเชิดจีนทางวังบางคอแหลม เป็นต้น
พ.ศ.2472 ได้รับพระราชทานเหรียญตราดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา และได้รับพระราชทานตราเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ในพ.ศ 2473 ตามลำดับ และรับตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวง เงินเดือน 150 บาท
1
ในปี พ.ศ.2473-2475 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดให้มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลโดยมีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) รับผิดชอบงานบันทึกโน้ต หลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นผู้บอกทางเพลง ตลอดจนร่วมทำงานดังกล่าวกับครูดนตรีอีกหลายท่าน
จากนั้นท่านได้ตั้งสำนักดนตรีของที่บ้านบาตร ท่านมีลูกศิษย์มากมาย นักดนตรีไทยรุ่นต่อๆ มาได้นำวิธีการของหลวงประดิษฐ์ไพเราะมาเป็นแบบฉบับ นับว่าท่านเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีไทยสูงสุดท่านหนึ่ง
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ป่วยด้วยโรคลำไส้และโรคหัวใจ ท่านถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบท่ามกลางบุตรภรรยา และนายแพทย์ เมื่อเวลา 19.45 น. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2497 สิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน
ในโอกาส 100 ปี ชาตกาล พุทธศักราช 2524 และระลึกถึงคุณความดีต่อวงการดนตรีไทย
จึงได้จัดพิมพ์ดวงตราไปรษณียากร ชุด ครบ 100 ปี หลวงประดิษฐ์ไพเราะ
วันแรกจำหน่าย 26 สิงหาคม 2524
พิมพ์ที่ Harrison & Sons (High Wycombe) Ltd., England
แสตมป์ชุดครบ 100 ปี หลวงประดิษฐ์ไพเราะ
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
1.25 บาท 4,000,000 ดวง 20 บาท 5 บาท
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา