Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bik Investing
•
ติดตาม
10 มี.ค. 2021 เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมแบบนี้ มีแต่พัง
โดย : ปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล นักวางแผนการเงิน CFP® [Bik Investing]
฿! > คุณเชื่อไหมครับว่า การออมเงินผิดวิธี ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ทางการเงินให้คุณได้ ?
ออมแบบนี้ มีแต่พัง ฿!
การมีวินัยในการเงินเป็นสิ่งที่ดีครับ และการออมก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยทางการเงิน อย่างไรก็ตามปัญหาของการออมอย่างหนึ่ง ที่ผมมักจะพบเจออยู่บ่อยๆ เมื่อมีลูกค้าเข้ามาขอคำปรึกษาในการวางแผนทางการเงินก็คือ
การขาดความเข้าใจในเครื่องมือทางการเงินที่มากพอ ทำให้ เลือกวิธีการออมที่ผิดพลาด จนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคตได้
การออมที่ผิดพลาด เป็นอย่างไร เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังกันครับ
"อยากมีเงินเก็บ แต่ก็เป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่"
นี่คืออุปสรรคในการออมของหลายคนๆ
งั้นทำยังไงดี?
"หาวิธีบังคับตัวเองให้ออมเงินดีกว่า"
นี่คือคำตอบของหลายๆคนสำหรับคำถามเมื่อกี้
แล้วอะไรหละ ที่จะมาบังคับให้เราออมเงินได้ทุกเดือน?
และนี่คือหลายๆวิธีที่หลายคนมักจะเลือกนำมาใช้บังคับตัวเองให้ออมเงินครับ
- ผ่อนบ้าน/คอนโด
- ซื้อประกัน
- ซื้อสลากออมทรัพย์
- ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำ
- ให้บริษัทตัดเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงเต็มเพดาน
ซึ่งทั้ง 5 อย่างนี้ ต่างมีข้อดีในตัวเอง แต่ก็มีข้อเสียที่หากเราไม่เข้าใจมันดี อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคตได้เลยครับ
เราลองมาไล่ดูกันทีนะครับว่า แต่ละอย่างนั้น มีข้อควรระวังอะไรบ้าง
การบังคับให้ตัวเองออม ด้วยการใช้วิธีผ่อนบ้าน/คอนโดนั้น จริงอยู่ที่ว่าบ้านนั้นคือสินทรัพย์ที่อาจจะมองว่าเป็นการลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการผ่อนบ้าน ก็คือ บ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ หากฉุกเฉินต้องการขายบ้านเปลี่ยนเป็นเงินสด อาจจะขายไม่ได้ราคาอย่างที่หวัง หรือต้องใช้เวลานานกว่าจะขายได้ นอกจากนั้น หลายๆคน เมื่อเป็นหนี้ ก็จะมีความรู้สึกว่าต้องการจะปิดหนี้ให้หมดไวไว จึงทำให้รายได้ส่วนใหญ่จะถูกแบ่งมาเป็นค่าผ่อนบ้าน ทำให้ไม่เหลือเงินไปลงทุนอื่นๆ เกิดภาวะ เงินจม เงินส่วนใหญ่กลายเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง เสียโอกาสในการลงทุนที่อาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าและสภาพคล่องสูงกว่าไปครับ
การซื้อประกัน โดยเฉพาะหากเป็นประกันออมทรัพย์ ผู้ออมควรจะทำการศึกษาและคำนวนผลตอบแทนให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ผลตอบแทนของประกันออมทรัพย์ ต่ำลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะหากเริ่มลงทุนไปแล้ว ต้องการจะปิดเล่มก่อนครบสัญญา ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากได้ครับ ในมุมมองของผมเองมองว่า การที่จะตัดสินใจทำประกัน อยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาถึงผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองเป็นอย่างแรก เพราะในส่วนของผลตอบแทนนั้น ยังมีตัวเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งเดี๋ยวผมจะกล่าวต่อไปในบทความหน้าครับ
การซื้อสลากออมทรัพย์ทุกเดือน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งในกลยุทธ์การออมที่อาจจะต้องกลับมาพิจารณาให้ดีเสียก่อน เพราะผลตอบแทนของสลากออมทรัพย์นั้นก็ไม่ได้สูงเหมือนแต่ก่อน และ หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ยังจะต้องใช้เงินจำนวนมากด้วยครับ โดยหากต้องการซื้อสลากออมทรัพย์ที่การันตีถูกรางวัลทุกงวด (เลขท้าย 2 ตัว ) นั้นจะต้องซื้อตั้งแต่ 100 หน่วยขึ้นไปต่อครั้ง (ประมาณ 100,000 บาท) เพื่อเป็นการการันตีถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวในทุกงวดครับ ถึงกระนั้น การได้รับรางวัลเลขท้าย 2 ตัวทุกงวด ก็ช่วยให้ผลตอบแทนจากการซื้อสลากออมทรัพย์นั้นไม่ได้สูงสักเท่าไร โดยจะ อยู่ที่ประมาณ 0.5-1.0% ต่อปีเท่านั้น และหนำซ้ำหากขายคืนก่อนครบกำหนดจะทำให้ไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกด้วย
สำหรับกรณีตัดบัญชีเข้าบัญชีเงินฝากประจำทุกเดือนนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผมไม่ค่อยแนะนำสักเท่าไรครับ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากประจำปัจจุบันนี้ไม่ได้ สูงมากสักเท่าไร นัก เมื่อเทียบกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบพิเศษที่หาได้ทั่วไป หนำซ้ำหากมีความจำเป็น ต้องปิดบัญชีนำเงินออกมาก่อนครบกำหนด ก็อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตั้งใจไว้อีกด้วย
สุดท้าย สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการออม เพราะทุกครั้งที่เราออมเงินใส่เข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ทางนายจ้างก็จะใส่เงินสมทบเข้ามาในจำนวนเท่าๆกันอีกด้วย(เหมือนได้เงินเพิ่มฟรีๆ) เห็นแบบนี้ หลายๆท่านก็อาจจะเลือกยินยอมให้หักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมตรวจสอบด้วยครับว่า เพดานเงินสมทบของนายจ้างนั้นเขาจะสมทบให้สูงสุดได้เท่าไร ผมขอแนะนำว่าเราไม่ควรจะให้ทางนายจ้างหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เกินกว่าเพดาน ที่นายจ้างสมทบครับ เพราะ ต่อให้เราใส่เข้าไปมากเท่าไร นายจ้างก็ไม่สามารถใส่เงินเพิ่มได้แล้วครับ แต่เงินที่เราใส่เข้าไปจะติดเงื่อนไขให้เอาออกมาได้ก็ตอนอายุ 55 ปี และถ้าหากอยากเอาเงินออกมาก่อนอายุ 55 ก็จะต้องนำยอดที่ถอนออกมา ตีเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วยครับ และบางออฟฟิศ การจะนำเงินออกมา ก็ต้องรอวันที่เราออกจากงานด้วยครับ
สรุปแต่ละทางเลือกมีข้อสังเกตดังนี้ครับ
- ผ่อนบ้าน/คอนโด > สภาพคล่องต่ำ ลำบากในการเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุน เงินจม
- ซื้อประกัน > ผลตอบแทนต่ำ และต้องลงทุนระยะยาว หากมีความจำเป็นต้องปิดกรมธรรม์จะทำให้ขาดทุน
- สลากออมทรัพย์ > สภาพคล่องปานกลาง ผลตอบแทนต่ำ และอาจจะไม่ได้ดอกเบี้ยหาก ลงทุนไม่ถึงกำหนด
- หักบัญชีเงินฝากประจำ > สภาพคล่องสูง ผลตอบแทนต่ำ และอาจจะไม่ได้ดอกเบี้ยหาก ลงทุนไม่ถึงกำหนด
- หักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น > สภาพคล่องต่ำ หากนำออกมาก่อนอายุ 55 ต้องยอดเงินที่ถอนออกมาไปเสียภาษี
.
.
ส่วนทางเลือกที่ดีกว่านั้นมีอะไรบ้าง ผมขอยกยอดไปไว้ในบทความหน้านะครับ
< ฿!
ปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล นักวางแผนการเงิน CFP®
[Bik Investing]
ติดตามผลงานผู้เขียน ผ่าน
Facebook ได้ที่
https://www.facebook.com/BikInvesting
Blockdit ได้ที่
https://www.blockdit.com/pages/6035ecc84c8bb70bf03f5093
#BikInvesting #วางแผนการเงิน #การลงทุน #ประกันชีวิต #สลากออมทรัพย์ #ดอกเบี้ยเงินฝาก
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย