10 มี.ค. 2021 เวลา 07:00 • สุขภาพ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) ภัยเงียบใกล้ตัวกว่าที่คิด
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย จากสถิติของประเทศไทย พบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และ อันดับที่ 5 ในเพศหญิง โดยอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ จะเห็นว่าเป็นหนึ่งในโรคที่มีอุบัติการณ์ที่สูงทีเดียว การตระหนักถึงโรคนี้และวินิจฉัยได้รวดเร็วจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเป็นมะเร็งระยะลุกลาม และแพร่กระจายในทีสุด
การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เชื่อว่า เป็นการพัฒนาต่อมาจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (colonic polyps) และพัฒนาต่อจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด การตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ และตัดออกด้วยวิธีการส่องกล้องจึงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่จะเกิดในอนาคตได้
ปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การรับประทานอาหารไขมันสูง และกากใยต่ำ การรับประทานเนื้อแดงบ่อยๆ แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีโรคมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะญาติสายตรง และมีมากกว่า 2 ลำดับขั้นที่ติดกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคติ่งเนื้อในลำไส้แบบพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีโรคลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease)
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ค่อนข้างหลากหลาย ความรุนแรงอาจมีได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึง อาการลำไส้อุดกั้น ถ่ายไม่ออก หรือ ถ่ายเป็นเลือด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่งและขนาดของก้อน และปัจจัยร่วมอื่นๆ อาการที่พบได้ในโรคนี้ ได้แก่ ถ่ายลำบาก อุจจาระเรียวเล็ก หรือ เป็นเม็ดกระสุน อาจมีถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือ ถ่ายเป็นสีดำ ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย รู้สึกถ่ายไม่สุด เหมือนอยากเบ่งถ่ายตลอดเวลา ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ อาการลำไส้อุดกั้น ไม่ถ่ายไม่ผายลม ท้องอืดบวมโต อาการซีดจากการขาดธาตุเหล็ก อาจมีอาการ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด เป็นลม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด โดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก
แต่อย่างไรก็ดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หากมีอาการ หรืออาการแสดงดังกล่าวข้างต้น บ่งบอกว่าอาจจะมีพยาธิสภาพของโรคค่อนข้างมากแล้ว
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ มีหลายวิธี แต่วิธีที่เป็นมาตรฐาน และให้ข้อมูลสูงสุด คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์สามารถเก็บชิ้นเนื้อจากการส่องกล้อง เพื่อส่งตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ และทำการรักษาขณะส่องกล้อง ได้แก่ การตัดติ่งเนื้อ หรือมะเร็งระยะเริ่มต้น ได้ในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆที่สามารถช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy) เป็นเทคนิคที่ดูผิวลำไส้ใหญ่ได้ดียิ่งขึ้นกว่า CTในช่องท้องธรรมดา โดยสามารถตรวจพบติ่งเนื้อ และก้อนในลำไส้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจตรวจไม่พบแผลที่ลำไส้ที่เรียบแบน หรือ ติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็ก หรือรูปร่างแบน
การตรวจอุจจาระก็เป็นแนวทางหนึ่งในการคัดกรองมะเร็งลำไส้เบื้องต้น เมื่อพบเลือดออกปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการแสดงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ก็จะนำไปสู่การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหามะเร็งต่อไป
การป้องกัน และ การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ออกกำลังกาย ลดความอ้วน ลดอาหารประเภทไขมันสูง และ เพิ่มอาหารประเภทกากใยสูง หมั่นสังเกตการขับถ่าย หากพบว่ามีการขับถ่ายผิดปกติไป เช่น ท้องผูก ถ่ายลำบาก อุจจาระเรียวเล็ก หรือ เป็นเม็ดกระสุน ถ่ายมีเลือดปน ปวดหน่วงที่ก้น รู้สึกถ่ายไม่สุด ท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ ซีด เหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ ได้แก่ มีอายุมากกว่า 50 ปี มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีโรคติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่แบบพันธุกรรมในครอบครัว เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) ให้มาปรึกษาแพทย์ทางเดินอาหาร เพื่อพิจารณาตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธี ขึ้นกับระยะของโรค และ ตำแหน่งของโรค โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น สามารถตัดติ่งเนื้อด้วยการส่องกล้อง หรือ ผ่าตัดลำไส้ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง หลังการผ่าตัด หรือตัดติ่งเนื้อ ต้องมีการติดตามด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นระยะ เพื่อดูการกลับมาของโรค
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม โดยยังไม่มีการกระจายออกไปยังอวัยวะอื่น รักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี ซึ่งการตอบสนองของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย โดยพบว่ามีการกระจายตัวของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น เป้าหมายหลักในการรักษาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ใหญ่อุดกั้น เลือดออกทางเดินอาหาร เป็นต้น และเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การรักษา ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี หรือ ยากลุ่มtargeted therapy
กล่าวโดยสรุป โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยและรุนแรง แต่หากตรวจพบได้เร็วในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายของโรค สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการตัดติ่งเนื้อ หรือ การตัดก้อนด้วยเทคนิคการส่องกล้อง โดยแพทย์ทางเดินอาหาร หรือ การผ่าตัดลำไส้ โดยศัลยแพทย์ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่เข้าได้ หรือ มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัย เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โฆษณา