9 มี.ค. 2021 เวลา 08:16 • บ้าน & สวน
รอยต่อบนพื้นถนนมีไว้เพื่ออะไร
รอยต่อของพื้นถนนจะมีหลายประเภท โดยจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆคือ
1. รอยต่อเพื่อการหดตัวของคอนกรีต ( Contraction Joint)
2. รอยต่องานก่อสร้าง (Construction Joint)
3. รอยต่อสำหรับการขยายตัวของคอนกรีต (Expansion Joint)
ซึ่งรอยต่อแต่ละประเภทดังที่กล่าวข้างต้นมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
ในบทความนี้จะขออธิบายถึงรอยแตกร้าวเพื่อการหดตัวของคอนกรีต(Contraction joint)ก่อนเป็นอันดับแรก สำหรับรอยต่อประเภทอื่นๆจะอธิบายในบทความต่อๆไป
Contraction joint ที่เราพบเห็นกันบ่อย ก็คือพบเห็นที่พื้นถนน จะเป็นรอยต่อตามขวาง ที่มีทิศทางตั้งฉากกับทิศทางการจราจร ในงานถนนอาจเรียกว่า Transverse joint
รอยต่อประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ควบคุมรอยแตกร้าวของพื้นถนนทึ่เกิดจากการหดตัวของคอนกรีต
เป็นการบังคับให้รอยแตกร้าวให้มาเกิดขึ้นที่รอยต่อดังกล่าว ไม่ให้รอยแตกร้าวเกิดการแตกร้าวแบบแพร่กระจายไปทั่วอันจะส่งผลให้การรับกำลังของพื้นถนนลดลง
รอยต่อประเภทนี้จะทำโดยการกรีดผิวคอนกรีตให้เป็นร่องลึกก่อนที่คอนกรีตจะแข็งตัวเต็มที่ ทำให้หน้าตัดคอนกรีตบริเวณที่มีการกรีดร่องมีพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่าบริเวณอื่น จึงเป็นผลทำให้รอยแตกร้าวจะมาเกิดบริเวณที่มีพื้นที่หน้าตัดน้อย
เมื่อรอยแตกร้าวมาเกิดที่บริเวณร่องที่ขีดไว้ตามที่กำหนด ก็จะทำให้แผ่นพื้นสูญเสียการถ่ายแรงกันระหว่างรอยต่อ จึงมีเหล็กเสริมเชื่อมรอยต่อนี้ที่เรียกว่า"Dowel bar"เพื่อให้เกิดการถ่ายแรงระหว่างแผ่นพื้นแต่ละแผ่นที่แบ่งขาดกันด้วยรอยต่อ
ความลึกของร่องจะอยู่ที่ 1/4 เท่าของความหนาพื้นคอนกรีต
ความห่างของรอยต่อควรมีระยะห่าง 25-30 เท่าของความหนาพื้น เช่นถ้าพื้นหนา 10 cm ความห่างของรอยต่อประเภท contraction joint ก็ควรอยู่ระหว่าง 2.5-3.0 เมตร
อยากฝากทุกคนไว้ว่า รอยต่อของพื้นคอนกรีตที่วางบนดินมีความสำคัญที่ต้องได้รับการพิจารณากำหนดรอยต่อจากวิศวกรผู้ที่มีความรู้
ในบทความต่อไปจะนำเสนอรอยต่อประเภทอื่นๆที่เหลือให้ได้ติดตามกันต่อไปขอบคุณครับ🙏
โฆษณา