9 มี.ค. 2021 เวลา 13:59 • ความคิดเห็น
วัฒนธรรมที่แตกต่าง กับ Level ของ "การคุมคามทางเพศ" (Sexual Harassment) และ "การทารุณกรรมทางด้านจิตใจ" (Emotional Abuse)
หากเราทำงานอยู่ในองค์กรที่มาจากประเทศที่มีวัฒนธรรมในการกดขี่ผู้หญิง หรือมองว่าการ flirt เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่การรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือผู้บริหารระดับสูง แต่เป็นการจัดการตัวเอง หาทางเอาตัวรอดในระหว่างอยู่ที่นั่น หรือเอาตัวเองออกมาจากองค์กรนั้นให้เร็วที่สุด
สืบเนื่องจากวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน International Women's Day หรือ วันสตรีสากล ซึ่งจุดเริ่มต้นของวันสตรีสากลนี้ มาจากการรวมตัวของแรงงานผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานเย็บผ้า เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมจากนายจ้าง เพราะความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าแรงและสวัสดิการ อีกทั้งการทำงานหนักและยาวนานในโรงงาน ซึ่งเราคิดว่าในปัจจุบัน ปัญหาความเท่าเทียมนี้ได้รับการแก้ไขไปมากอยู่พอสมควรในหลายประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถกำหนดและบัญญัติได้ด้วยกฎหมายแรงงานและการขับเคลื่อนนโยบายจากทางภาครัฐและเอกชน
1
แต่วันนี้ สิ่งที่เราอยากจะเขียน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจับต้องยาก นั่นคือเรื่องของ การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และ การข่มเหงทารุณกรรมทางด้านจิตใจ (Emotional Abuse หรือ Mental Abuse) ที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ที่ถึงแม้ทุกบริษัทจะมีการตั้งกฎเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เราเจออยู่ ถือว่าเป็นการถูกคุมคาม หรือถูกข่มเหงรึยัง เพราะมันมีเรื่องของวัฒนธรรม และรากเหง้าของบุคคลในองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง เช่น
สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน Photo credit: joellecharming.com
ในองค์กรอินเดีย การที่หัวหน้าคอยพยายามหาทางอยู่กับผู้ใต้บังคับบัญชาสองต่อสอง สอบถามเรื่องส่วนตัวหรือยุ่งเรื่องส่วนตัวมากเกินไป โทรติดต่อ ส่งข้อความนอกเวลางาน เช่น ช่วงดึกๆของวันธรรมดา หรือแม่แต่เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ข้อความหรือบทสนทนาทางโทรศัพท์ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงานแต่เป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาเริ่มรู้ตัวและเว้นระยะห่าง ผู้บังคับบัญชาก็ออกอาการคุกคาม โดยใช้ความเป็นหัวหน้าบังคับให้ต้องไปเจอทุกอาทิตย์ โทรหาทุกวัน เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาขัดขืน ก็จะต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง เริ่มออกคำสั่งแบบไม่สมเหตุสมผล และโทรศัพท์ทั้งในและนอกเวลางานแต่ไม่ได้คุยเรื่องงาน แต่เป็นการต่อว่าเรื่องความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำตัวห่างเหิน เป็นต้น
ถ้าเป็นวัฒนธรรมตะวันตก หรือแม้แต่วัฒนธรรมไทยเอง ก็คงมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นการคุมคามและทารุณกรรมทางด้านจิตใจแล้ว แต่สำหรับวัฒนธรรมอินเดีย เขามองว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่ได้มีการถึงเนื้อถึงตัว หรือมีการข่มขืนจริงๆ เขาก็ไม่ถือว่าเรื่องแบบนี้เข้าข่าย Sexual Harassment แต่อย่างใด ส่วนเรื่อง Emotional Abuse ก็ไม่เข้าข่ายเช่นกัน เนื่องจากเขามีวัฒนธรรมทางด้านชนชั้น และเชื่อมั่นว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ถึงแม้จะเป็นคนอินเดียรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนรุ่นเก่า แต่เท่าที่เห็น ถ้าคนๆนั้นไม่เคยได้ออกไปใช้ชีวิต ไปเรียน หรือไปทำงานที่นอกประเทศอินเดียสัก 2-3 ปีอย่างน้อย ก็จะมีความเชื่อเหล่านี้อยู่ในใจลึกๆที่แสดงออกมาทางการกระทำและคำพูดอยู่ดี
1
พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็ควรปฏิบัติด้วยความเท่าเทียม
ถ้าหากเราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ สิ่งที่เราควรทำ คือ
1
- ตั้งสติ และยอมรับให้ได้เร็วที่สุดว่าสิ่งที่เราเจอ ไม่ใช่เรื่องปกติ
- พยายามเลี่ยงในการอยู่สองต่อสองกับผู้บังคับบัญชา
- คุยแต่เฉพาะแต่เรื่องงาน และงดตอบข้อความหรือรับโทรศัพท์นอกเหนือเวลางานหากเรื่องนั้นไม่ใช่งานด่วนจริงๆ
- ไม่มีประโยชน์ที่จะรายงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพราะจะยิ่งทำให้คุณถูกคุกคามหนักกว่าเดิม หรือคนที่ต้องโดนให้ออก อาจจะเป็นคุณเอง
- ไม่มีประโยชน์ที่จะรายงานผู้บริหารระดับสูงกว่านั้น หากเป็นคนที่มาจากวัฒนธรรมเดียวกัน เพราะเขามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ และเป็นคุณที่คิดมากไปเอง
- หากคุณคิดว่า คุณรับมือได้กับสถานการณ์เหล่านี้ โดยไม่เก็บเอามาคิดมาก ก็ถือว่าคุณเก่งมาก แต่หากเรื่องเหล่านี้รบกวนจิตใจคุณตลอดเวลา แนะนำว่าให้หางานใหม่เถอะ หรือถ้ามีรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือนประจำ ก็ลาออกซะ แล้วค่อยๆหางานใหม่หรือเร่ิมทำธุรกิจส่วนตัว เพราะคุณไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาเสียสุขภาพจิตกับกรทำงานที่ไม่ได้ทำให้ตัวคุณเองรวย!
คำแนะนำเหล่านี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไง คอมเมนต์กันมาได้ค่ะ หรือใครที่เคยหรือกำลังเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ มาแชร์กันได้นะคะ จะได้เอาไว้เป็นแนวทางสำหรับคนอื่นๆด้วยค่ะ :)
พบกันใหม่โพสต์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ :D
โฆษณา