Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Machine Logic
•
ติดตาม
10 มี.ค. 2021 เวลา 05:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP6: สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ภาค 2
จากบทความที่แล้ว EP5: สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ภาค 1
https://www.blockdit.com/posts/603e6981e942a60bf7d527b9
เราได้คุยไปถึงเรื่อง ผู้รักษาประตูอย่างประกันและเงินสำรอง กองหลังอย่างกองทุนรวมตลาดเงิน(money market fund) และผู้เล่นสองตำแหน่งอย่างตราสารหนี้(bond) ที่เป็นได้ทั้งกองหลัง และกองกลางตัวรับ
สินทรัพย์ลงทุน ในรูปแบบทีมฟุตบอล
วันนี้กลับมาที่แผนภาพทีมฟุตบอลกันต่อ ในบทความที่แล้วเราได้เห็นกองกลางตัวรับอย่างตราสารหนี้ซึ่งให้ผลตอบแทนเราได้เฉลี่ยๆ 3-6% ต่อปี ถือว่าพอสูสี หรือชนะเงินเฟ้ออยู่บ้าง แปลว่าเงินส่วนนี้เริ่มเปลี่ยนชีวิตเราได้ เริ่มทำให้เงินที่เราหามางอกเงยได้เองแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นเราจึงมองสิ่งนี้ว่าเป็นกองกลาง และที่บอกว่าเป็นกองกลางแนวรับก็เพราะว่าตราสารหนี้เองความเสี่ยงแทบจะมีเรื่องใหญ่ๆเรื่องเดียวเลยคือผู้กู้ผิดนัดชำระ หรือไม่สามารถชำระดอกเบี้ยให้เราได้ตามสัญญานั่นเอง
ก่อนที่เราจะมองว่า 3-6% ต่อปีมากหรือน้อย เราก็ต้องมีตัวเทียบกันก่อน ทีนี้ในโลกของการลงทุนนั้นเรามีสิ่งที่เรียกว่า risk free อยู่ แปลความหมายตรงตัวก็คือผลตอบแทนแบบ(แทบจะ)ไร้ความเสี่ยง อะไรบ้างที่แทบจะไร้ความเสี่ยง? ซึ่งในทางทฤษฎีไร้ความเสี่ยง แต่ทางปฏิบัติอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่น้อย ก็เงินฝาก และพันธบัตรรัฐบาลไง เมื่อดูรวมๆแล้วผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเหล่านี้ก็ให้ผลตอบแทนในช่วง 1-3% ดังนั้นเราก็เลยยึดถือเลขนี้เป็นเลขเปรียบเทียบ ตัวเลขที่เฉียดๆ 3% มาจากพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 10 ปีนะครับ คือก็ถือกันยาวหน่อย แต่ถ้าไม่รับความเสี่ยงด้านเวลาที่ถือยาวๆด้วยก็มีตั๋วเงินคลัง อายุ 3 เดือน ผลตอบแทนก็น้อยกว่าการถือยาว ซึ่งจะอยู่ราวๆ 0.4% (ตัวเลขที่เห็นช่วงปี 2563-2564 นี้)
วิธีคิดคือถ้าเราไม่เสี่ยงมากเราก็จะได้ผลตอบแทน 1-3% ต่อปี ซึ่งมันคือการลงทุนที่ “ผลตอบแทนต่ำและความเสี่ยงตำ” และเริ่มเรียกสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่านี้ว่า “สินทรัพย์เสี่ยง” ซึ่งหมายถึงกองกลาง และกองหน้า นั่นเอง
หุ้นกับตราสารหนี้ต่างกันยังไง จำง่ายๆเลยว่า ตราสารหนี้คือเราเป็น “เจ้าหนี้” ส่วนหุ้นคือเราเป็น “เจ้าของ” แล้วก็ชื่อจริงๆของหุ้นคือ “ตราสารทุน” นะครับ
ตราสารหนี้ และตราสารทุน
ไม่ต่างอะไรกับการทำกิจการเป็นของตัวเอง ความเสี่ยงรอบด้าน เราเข้าไปซื้อหุ้นก็เท่ากับว่าเราลงขันไปกับเจ้าของบริษัท ถ้าผู้บริหารบริษัททำผลงานได้ดี เราในฐานะเจ้าของร่วมก็จะได้กำไรจากกิจการที่เราร่วมลงทุนไปด้วย
แล้วกำไรหุ้นเกิดมาจากอะไร? หลักๆมี 2 อย่างที่เราจะได้เงินจากการซื้อขายหุ้นคือ
1. ส่วนต่างราคาหุ้น เช่นวันนี้ลงทุนในกิจการโรงแรม หุ้นราคา 20 บาท ผ่านไป 1 ปีราคาขึ้นไป 35 บาท เราก็จะได้กำไรส่วนนี้ 15 บาท
2. ถ้าเราไม่กะจะซื้อๆขายๆหุ้น เราอยากร่วมทุนไปกับกิจการนั้นๆ เราก็จะได้ปันผลจากกิจการ ไม่ต่างจากการทำกิจการเอง แต่ดีกว่าตรงที่มีคนทำงานให้เราเป็นหลายร้อย หลายพันคน ถ้าเลือกกิจการได้ดี
ในตลาดหุ้นก็มีทั้งคนที่ซื้อๆขายๆแล้วรวยกับคนที่ถือลงทุนแล้วรวย มีทั้งสองแบบ จะเลือกเป็นแบบไหนตามสะดวกได้เลย
เงินปันผลหุ้นเกิดจากอะไร? ลองนึกภาพตามครับ สมมติเราเปิดร้านหมูกระทะ สมมติวันนึงลงทุนค่าของ และค่าแรงพนักงานซัก 5,000 บาท วันนี้ยอดขาย 12,000 บาท เท่ากับเรากำไร 7,000 บาท คิดง่ายๆก่อนเนอะครับ ยังไม่หักค่าเสื่อม หักภาษีอะไรทั้งนั้น สมมติบริษัทหมูกระทะนี้บอกว่ามีนโยบายปันผล 50% ของกำไรสุทธิ ก็แปลว่าเค้าจะปันผลออกมา 3,500 บาท แล้วทีนี้ใครมีหุ้นมากก็ได้ส่วนแบ่งมาก ใครมีหุ้นน้อยก็ได้ส่วนแบ่งน้อยตามลำดับกันไป แค่นั้นเองการลงทุนในหุ้นแบบเจ้าของก็มีวิธีคิดไม่ต่างจากทำกิจการเอง
ตัดภาพมาที่การลงทุนจะพอนึกออกแล้วว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ง่ายเลย ความเสี่ยงเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการเลือกหุ้นที่จะลงทุนก็เหมือนกัน “มันไม่ง่ายอยู่แล้ว” เพราะเหมือนเราไปสนามแข่งม้าแล้วประเมินว่าม้าตัวไหน performance ดีกว่า เราก็จะเลือกเดิมพันกับม้าตัวนั้น ถึงแม้ทุกอย่างที่เราเลือกมาจะสมเหตุสมผล เราก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าม้าตัวนั้นจะชนะจริงไหม เพราะระหว่างการแข่ง ม้าตัวนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นและทำให้แพ้ก็เป็นได้ การเลือกม้าก็เหมือนการเลือกทีมบริหาร ถึงแม้ทีมบริหารจะเทพขนาดไหน อาจจะเจอความไม่แน่นอนไม่ทางธรุกิจ การเมือง เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน หรือเกิดโควิดเหมือนอย่างในปัจจุบัน ความเสี่ยงเหล่านี้ก็อาจมีผลทำให้หุ้นที่เราเลือกลงทุนไม่ได้ดีเหมือนที่ประเมินไว้ในตอนแรกได้
เราคาดหวังผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยได้เท่าไหร่? 8-12% ต่อปีเป็นค่าเฉลี่ยกลางๆ แปลว่าถ้าทำได้มากกว่านี้ถือว่าเทพครับ ได้น้อยกว่านี้อาจพิจารณาว่าเราควรลงทุนเอง หรือซื้อกองทุนแล้วให้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นให้เราดีกว่ากัน
ตำแหน่งสุดท้ายในทีมฟุตบอลก็คือ กองหน้า พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “เสี่ยงสูง ผลตอบแทน(อาจจะ)สูง” สินทรัพย์เหล่านี้เสี่ยงขึ้นไปอีก และบางอย่างก็มีความผันผวนที่สูง เช่น ทองคำ, น้ำมัน, คริปโต, กระเป๋าแบรนเนม, รถ super car, อสังหา, แม้กระทั่งไปลงทุนใน startup เค้ามีชื่อเรียกอยู่นะครับ เค้าเรียกกันว่า สินทรัพย์ทางเลือก(Alternative Asset) ถ้าหากผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์เหล่านี้ และมีระบบการตัดสินใจลงทุนที่ดีก็จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้นไปอีก แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นไปอีก แทบจะไม่ต้องกล่าวกันเลยว่า ทองคำเสี่ยงยังไง เดี่ยวขึ้นเดี๋ยวลง น้ำมันก็อิงกับสถานการณ์โลก เราเคยเติมน้ำมันที่สิบกว่าบาท และยุคนึงที่น้ำมันเคยไปถึงหลักร้อย ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดเหล่านี้ก็มีโอกาสทำกำไรกับมันได้เยอะ แต่หากไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เรียกว่าเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง เห็นคนอื่นได้เยอะก็เลยแห่กันเข้าไปซื้อบ้างก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเดิมอีก
สรุปเนื้อหาวันนี้เราได้รู้จักกับสินทรัพย์ที่เป็นตัวแทนของผลตอบแทน(แทบจะ)ไร้ความเสี่ยงก็คือ พันธบัตรรัฐบาล เพราะรัฐบาลน่าจะเป็นคนสุดท้ายในประเทศที่เบี้ยวหนี้เรา แต่ก็ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศนะครับ ต่อมารู้ว่าผลตอบแทนมากน้อยเทียบกับเจ้า risk free ถ้าเราเสี่ยงมาอีกนิดเป็น “เจ้าหนี้” ก็อาจจะคาดหวังได้ 3-6% ต่อปี ถ้าเราเสี่ยงขึ้นมาอีกขั้นเป็น “เจ้าของ” ก็อาจจะคาดหวังได้ 8-12% ต่อปี และถ้าเราเป็น risk taker(ผู้รับความเสี่ยง)ขึ้นมากสุด เราก็ไปเลือกลงทุนใน “สินทรัพย์ทางเลือก” ได้
กองหน้า(striker)
จะเห็นว่าการพิจารณว่าสินทรัพย์ตัวไหนเป็นกองหน้าก็ง่ายนิดเดียว เพราะในสนามฟุตบอล กองหน้ามักจะโดนเตะตัดขา โดนทีนึงก็พุ่งล้มแล้ว ในโลกการลงทุนก็เหมือนกัน กองหน้านั้นบอบบาง ขาดทุนง่าย แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นมากพอ
เอาหละครับทั้ง 2 episode นี้ก็น่าจะทำให้รู้จักผู้เล่นทุกตำแหน่ง ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่พอคาดหวังได้บ้างแล้ว ไว้ตอนหน้าเรามาลองดูว่าเราจะวางตำแหน่งไหนอย่างไรกันต่อครับ
“May the Wealth be with You”
— Machine Logic —
https://www.facebook.com/machinelogics
2 บันทึก
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย