10 มี.ค. 2021 เวลา 08:14 • กีฬา
ปารสูตร
ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (นิพพาน)
[๙๗]
สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง (นิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏะ) ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ? คือ :- ความเห็นชอบ , ความดำริชอบ , การพูดจาชอบ , การทำการงานชอบ , การเลี้ยงชีพชอบ , ความพยายามชอบ , ความระลึกชอบ , ความตั้งใจชอบ ,
ธรรม ๘ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง.
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๙๘]
ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย
แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใด ประพฤติตามในธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
ชนเหล่านั้น ข้ามบ่วงมฤตยู
ซึ่งแสนยากที่จะข้ามไปถึงฝั่งได้
บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสีย
เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว
พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวก
ที่สัตว์ยินดีได้ยาก
บัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองจิต
ชนเหล่าใด อบรมจิตดีแล้วโดยชอบ
ในองค์เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ไม่ถือมั่น
ยินดีแล้วในความสละคืนความถือมั่น
ชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ
มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลกนี้.
จบ สูตรที่ ๔
พุทธวจนปิฎก ๓๓ เล่ม
เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๒๗-๒๘ ข้อที่ ๙๗-๙๘
by ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
bn8185.
สามัญญสูตรที่ ๒
ว่าด้วยสามัญญะและประโยชน์แห่งสามัญญะ [๑๐๒] สาวัตถีนิทาน.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะ และประโยชน์แห่งสามัญญะ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.
[๑๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญะเป็นไฉน ?
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ:- ความเห็นชอบ , ความดำริชอบ , การพูดจาชอบ , การทำการงานชอบ , การเลี้ยงชีพชอบ , ความพยายามชอบ , ความระลึกชอบ , ความตั้งใจชอบ ,
นี้เรียกว่า สามัญญะ.
[๑๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ประโยชน์แห่งสามัญญะเป็นไฉน ?
ความสิ้นราคะ ;
ความสิ้นโทสะ ;
ความสิ้นโมหะ ;
นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งสามัญญะ.
จบ สูตรที่ ๖
พุทธวจนปิฎก ๓๓ เล่ม
เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๒๙ ข้อที่ ๑๐๒-๑๐๔
by ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
bn8185.
โฆษณา