คนอังกฤษยกย่องเซอร์เอ็ดเวิร์ด โค้ก (ซึ่งเดิมทีออกเสียงว่า คุก) ว่าเป็นเหมือนรากฐานแห่งระบบกฎหมายอังกฤษ งานสำคัญของเขาคือ Pettition of Right ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานกฎหมายสำคัญหนึ่งในสาม เทียบเท่ากับกฎบัตร Magna Carta หรือ Bill of Rights 1689 กันเลยทีเดียว
โค้กเกิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1552 คือเมื่อเกือบๆ ห้าร้อยปีที่แล้ว เป็นยุคที่ไทยมีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพม่ามีพระเจ้าบุเรงนองครองแผ่นดินอยู่ โค้กเกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูง ร่ำเรียนจากทรินิตี้คอลเลจแห่งเคมบริดจ์ แล้วก็มาศึกษากฎหมายต่อเนื่อง จนในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง ในปี 1594 เมื่ออายุได้ 42 ปี โค้กก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุดหรือ Attorney General for England and Wales
ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า อังกฤษยุคนั้นมีความขัดแย้งทางศาสนาสูงมาก โดยเฉพาะระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ เพราะอังกฤษประกาศแยกตัวออกจากศาสนจักรคาทอลิกในสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด (ซึ่งต้องการจะหย่าร้างกับพระมเหสีอันเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการของคาทอลิก) แล้วตั้ง Church of England ซึ่งถือว่าเป็นโปรเตสแตนท์นิกายหนึ่งขึ้นมา
หลายคนวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า นั่นส่งผลให้ต่อมาโค้กได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Justice of the Common Pleas เรียกได้ว่าเป็นประธานศาลสูงสุด ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งของอังกฤษยุคนั้น แต่บางกระแสก็บอกว่าคนที่เป็นอัยการสูงสุดจะได้รับตำแหน่งนี้โดยปริยายอยู่แล้ว
ที่จริงแล้ว ระบบกฎหมายของอังกฤษยุคโน้น (ที่จริงก็รวมมาถึงยุคนี้ด้วย) มีความสลับซับซ้อนสูงมาก หลายตำแหน่งงานก็ทำงานซ้ำซ้อนกัน ทั้งยังขันแข่งกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่ง Chief Justice หรือประธานศาลสูงสุดในอังกฤษยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายตำแหน่ง แต่ที่สำคัญๆ นอกจาก Chief Justice of the Common Pleas แล้ว ยังมี Chief Justice of the King’s Bench อีก ถ้าจะเปรียบไป ศาลที่เป็น Common Pleas ก็คือศาลของประชาชนคนธรรมดา คือเป็นเรื่องราวของมนุษย์เดินดินที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์ ใครทะเลาะกับใคร ใครโกงเงินใคร ใครฆ่าคนตาย ก็มาขึ้นศาลนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นศาลที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ศาลที่เป็น The King’s Bench นั้น เดิมทีเป็นศาลที่ต้องติดตามกษัตริย์เวลาออกเดินทางไปไหนต่อไหน แต่ต่อมาก็รวมเข้ากับศาลสูง (High Court of Justice) และจากยุคแรกๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เท่านั้น ก็เพิ่มหน้าที่เข้ามามากมาย แม้โดยหลักการจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของกษัตริย์ แต่เมื่อถึงยุคร่วมสมัยกับโค้ก หลายคนพบว่าศาลของ The King’s Bench มีอำนาจทำงานเพิ่มขึ้นมาถึงสิบเท่าเมื่อนับจากศตวรรษที่แล้ว นั่นทำให้ศาล Common Pleas ต้องระแวงระวังไม่น้อย
เมื่อโค้กได้เป็นประธานศาลสูงสุดของ Common Pleas แล้ว เขาเริ่มหันมาโจมตีองค์กรที่ก่อนหน้าเคยสนับสนุน องค์กรหนึ่งที่เขาโจมตีก็คือ Court of High Commission ซึ่งเป็นศาลที่ทำงานเกี่ยวกับคณะสงฆ์ แต่ศาลนี้แต่งตั้งโดยกษัตริย์ และในยุคนั้นถือว่ามีอำนาจแทบไร้ขีดจำกัด เพราะเหมือนรวมเอาอำนาจทางศาสนาเข้ากับสถาบันกษัตริย์ด้วย หลายเรื่องที่ศาลนี้ทำก่อให้เกิดการถกเถียงขนานใหญ่ โดยเฉพาะการตัดสินคดีเกี่ยวกับศาสนา ว่าใครอยู่ในรีตในรอยหรือใครเป็นคนนอกรีตบ้าง (เรียกว่าเป็น Non-Conformist) ทำให้โค้กหันมาร่วมแรงร่วมใจกับรัฐสภาในการต่อสู้ต่อรองกับอำนาจของศาลนี้
1
หลักการของโค้กก็คือ ถ้าหากว่าใครคนหนึ่งมีความคิดหรือความเห็นของตัวเองที่ขัดแย้งกับรัฐ แต่เป็นความคิดหรือความเห็นแบบลับๆ ไม่ได้แสดงออกให้คนอื่นรู้ - ก็ไม่ควรถูกพิพากษาว่าเป็นคนผิด แต่กับศาลศาสนานั้น เพียงระแวงสงสัยก็อาจตัดสินให้คุณให้โทษได้แล้ว โดยมีคดีความหนึ่ง เรียกว่า Fuller’s Case ที่ศาล High Commission กล่าวหานิโคลัส ฟุลเลอร์ ว่านอกรีต เขาก่นด่าศาล จึงโดนข้อหาหมิ่นศาล และถูกจำคุก ทำให้โค้กต้องเข้ามาเป็นตัวกลาง ทว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา นั่นทำให้โค้กต้องลุกขึ้นมาร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อพยายามจำกัดอำนาจของศาล High Commission โดยเสนอว่า ศาลศาสนาก็ควรดูแลแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรปล่อยให้กฎหมายของฆราวาสดูแลไปเอง