Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
RAISE
•
ติดตาม
11 มี.ค. 2021 เวลา 10:16 • การเมือง
📍คนกับป่าที่บางกลอย ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างที่เขาว่าจริงหรือ?
แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและรัฐสมัยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ พื้นที่ป่าหลายแห่งในโลกมีชนพื้นเมืองเข้ามาอยู่อาศัยมาก่อนสิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติสมัยจะเกิดขึ้นก่อนเสียอีก หลายพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’ นั้นก็เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่มาก่อนเช่นกัน พวกเขาใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่เพาะปลูกเพื่อหาเลี้ยงชีพมาก่อนที่ความเป็นรัฐสมัยใหม่จะเข้ามาครอบครองพื้นที่
ในสหรัฐอเมริกา อุทยานแห่งชาติ Yellowstone อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสหรัฐฯ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) ที่เดินเป็นพื้นที่ของชนพื้นเมืองอเมริกันที่อยู่อาศัยมาก่อนที่ผู้รุกรานอย่างชาวยุโรปจะเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา ผู้มาใหม่ได้รุกรานชนพื้นเมืองเดิมให้ออกจากพื้นที่และไล่ล่าชาวพื้นเมืองด้วยเหตุผลของการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยในปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ.1886) กระทรวงกิจการภายในของสหรัฐฯ ได้ใช้กำลังทางการทหารจัดการกับชนพื้นเมือง โดยอ้างว่าชาวพื้นเมืองได้รุกล้ำเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Yellowstone จนกระทั่งในปีพ.ศ.2437 (ค.ศ.1894) มีการออกกฎหมายห้ามการล่าทุกประเภท รวมถึงการไล่ล่าชาวพื้นเมืองอเมริกันออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน (ค.ศ.1894)
.
แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติสมัยใหม่ในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยปีพ.ศ. 2504 ที่ระบุว่าที่ดินที่กำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานั้น ต้องไม่เป็นที่ดินของบุคคลใดที่ครอบครองด้วยกฎหมาย ซึ่งนั้นหมายความ กฎหมายจากรัฐบาลทหารในช่วงนั้น บอกให้ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานนั้นต้องออกจากพื้นที่ไปโดยปริยาย
.
พื้นที่กลุ่มป่า ‘แก่งกระจาน’ ที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2524 นั้น ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึง ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและมีตัวตนในแผนที่ทางการทหารมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2455 ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ
.
มรดกของยุคสงครามเย็น ทำให้ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกับป่านั้น ต้อง
แยกจากกันด้วยแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติของรัฐไทย ชาวบ้านจาก ‘ใจแผ่นดิน’ ต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ที่รัฐจัดสรรให้ในพื้นที่ที่เรียกว่าหมู่บ้าน ‘บางกลอย’ ละทิ้งวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงจากถิ่นฐานเดิมในใจแผ่นดิน แม้ว่าวิถีของของพวกเขาจะเป็นการพึ่งพาอาศัยและรักษาป่าไว้เพื่อความอยู่รอดก็ตาม
📍::วิถีชีวิตของผู้พึ่งพาและรักษาป่า::
ข้อมูลจากศูนย์มานุษยสิรินธรระบุว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบวนเกษตรรูปแบบหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพให้กับระบบนิเวศตลอดมา เพราะการทำไร่หมุนเวียนช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชและแหล่งอาหาร รวมทั้งช่วยลดทอนภาวะโลกร้อน
ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีการทำไร่หมุนเวียน โดยทำเกษตรในพื้นที่หนึ่งและมีระยะเก็บเกี่ยวใน 1 ปี และจะปล่อยให้ธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวฟื้นฟูกลับมาเป็นเวลา 7 ปีจนมีสภาพคล้ายป่า
การเลือกพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนแรกของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะใช้พื้นที่ที่ป่ามีอายุประมาณ 7-10 ปี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับพอดี และไม่เป็นการตัดต้นไม้ใหญ่ และจะใช้พื้นที่สำหรับการทำเกษตรโดยปลูกข้าวเป็นหลัก เพื่อมีไว้ให้พอกินในครอบครัว รวมถึงปลูกพืชพันธุ์ท้องถิ่นชนิดอื่นๆ กว่า 100 สายพันธุ์ ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศและธรรมชาติ
หลายคนอาจมีภาพจำว่าการทำไร่หมุนเวียนนั้น เป็นการทำไร่เลื่อนลอยที่ทำลายพื้นที่ป่า แต่การทำเกษตรทั้งสองอย่างนั้นต่างกัน เพราะการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การบุกเบิกป่าใหม่ไปเรื่อยๆ แต่ชาวกะเหรี่ยงจะหมุนเวียนกลับมาใช้พื้นที่เดิมในทุกๆ 7 ปี และการไม่ใช้พื้นที่ซ้ำอยู่กับที่นี้จะช่วยให้ป่ามีช่วงพักฟื้นหลังการทำไร่ และป่าที่กำลังกลับมาเติบโตในระยะนี้จะมีการดูดซับคาร์บอน เพื่อเอามาใช้ในการสร้างใบและต้นใหม่ในอัตราที่มากกว่าป่าธรรมชาติ
มาถึงตรงนี้ วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบอกกับเราได้ว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ด้วยวิถีที่เคารพป่าและปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความพยายามให้ชาวบ้านอพยพออกมาจากถิ่นฐานเดิมในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ด้วยการอ้างเหตุของการอนุรักษ์ธรรมชาติและการตัดไม้ทำลายป่าของชาวกะเหรี่ยง
📍::มรดกโลกที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน::
9 มี.ค.ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลด้อมกล่าวถึงปัญหาเรื่องบางกลอยว่า เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเพียงความไม่พอใจของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“ปัญหาบางกลอยไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคน แต่เป็นพี่น้องประชาชนกลุ่มหนึ่งยังไม่พึงพอใจที่รัฐบาลเยียวยา ทั้งที่ดินทำกิน สาธารณูปโภค ระบบน้ำ ระบบเกษตร ยังจะใช้วิธีการเจรจา โดยมั่นใจว่าภายในว่าปีนี้จะแก้บางกลอยได้สำเร็จ”
ที่ผ่านมาชาวบ้านในบ้านบางกลอยถูกเจ้าหน้าที่ไล่รื้อและบังคับให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ที่บรรพบุรุษอยู่อาศัยมานานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะมีประกาศให้พื้นที่บ้านบางกลอยเป็นอุทยานแห่งชาติในปีพ.ศ. 2524 นอกจากนี้ในพื้นที่แก่งกระจานยังมีคดีการหายตัวปริศนาของบิลลี่ พอละจี นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินเกิด แม้ว่าในปี 2562 มีการพบศพของบิลลี่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่ง
กระจาน แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็ยังไม่สามารถปิดคดีได้ว่าใครเป็นผู้ฆ่าบิลลี่
หนึ่งในแนวทางการพิจารณาการรับรองเป็นมรดกโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุถึง สถานที่ที่เป็นมรดกโลกนั้นนอกจากมีคุณสมบัติของสถานที่ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์แล้ว ยังต้องคำนึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนพื้นเมืองหรือชาติพันธุ์ และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
“คนพื้นเมืองคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีสิทธิ์ ในการระบุ เสนอชื่อ จัดการและดำเนินการปกป้องมรดกโลกรวมถึงการนำเสนอมรดกโลก ที่สอดคล้องกับกระบวนการสิทธิมนุษยชน” คือใจความหนึ่งของแนวทางพิจารณาพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก
เป็นเวลากว่า 10 ปีนับจากปี 2553 ที่รัฐบาลไทยพยายามเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้ยูเนสโกรับรองเป็นมรดกโลกด้านพันธุ์พืชและสัตว์ป่า แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ โดยที่ประชุมได้ตีตกการเสนอชื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถึง 3 ครั้ง โดยในการยื่นเสนอครั้งที่สองเมื่อปี 2560 ในที่ประชุมก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่ของป่ากลุ่มป่าในไทยและเมียนมา การลดขนาดพื้นที่ รวมถึงสิทธิมนุษยชนของคนในท้องที่ ประเทศสมาชิกอย่างออสเตรเลียและนอร์เวย์ ชี้ว่า พื้นที่ดังกล่าวยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ดังกล่าว
ยุทธการตะนาวศรี ที่มีการเผาที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เมื่อปี 2554 และกรณีจับกุมชาวบ้าน 22 คน ภายใต้ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สามารถสะท้อนได้ว่ารัฐยังไม่เข้าใจหรือมองข้ามสิทธิมนุษยชน และเลือกทางออกที่มีคนถูกริดรอนสิทธิแทนการพยายามหาทางออกร่วมกันโดยยังมองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
📍::มองเห็นและเข้าใจ คนก็อยู่ร่วมป่าได้::
พื้นที่ป่าแก่งกระจานไม่ใช่พื้นที่เดียวที่มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้นก็เผยให้เห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ เมื่อมีความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันทั้งจากรัฐและประชาชน
หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในป่า ของตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นบ้านของประชากรที่ที่ส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เกือบ 4,000 คน โดยชาวบ้านยังคงดำเนินชีวิตโดยทำไร่หมุนเวียนตามวิถีของกะเหรี่ยง แม้จะมีการประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นมรดกโลกก็ตาม
ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้าใจวิถีกะเหรี่ยงของชาวบ้าน มองว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายป่าและมีการจับกุมชาวบ้าน แต่ภายหลังที่มีการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงขึ้นใน 4 พื้นที่นำร่อง ใน 1) บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2) บ้านมอวาคี อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ 3) บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และ 4) ต.ไล่โว้ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ก็เกิดการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น ทำให้เกิดข้อตกลงขอบเขตการใช้พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
“ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นและพึ่งพาซึ่งกันและกัน”
ข้อความส่วนหนึ่งจากแนวทางการพิจารณาของยูเนสโกสะท้อนได้ว่ารัฐไทยยังควรมองเห็นความสำคัญของความเชื่อมโยงของธรรมชาติและวัฒนธรรม และมองให้เห็นถึงคนในทุกพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะพยายามให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกหรือไม่ก็ตาม
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย