12 มี.ค. 2021 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
รู้จัก JMT บริษัทบริหารหนี้ ที่กำลังโตแรง
1
ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เราก็มักเห็นลูกหนี้
ไม่สามารถชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ได้ตามกำหนด
ส่วนหนี้ที่เกินเวลาชำระตามกำหนดนั้น
ก็จะกลายเป็นหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพ
หรือที่เรียกกันว่า Non-Performing Loans (NPLs)
4
เมื่อ NPLs ในระบบเพิ่มขึ้น
มันก็จะมีธุรกิจหนึ่งที่มีโอกาสเติบโตจากเรื่องนี้
นั่นก็คือ ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียและติดตามทวงหนี้
ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย
ก็คือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT
ซึ่งเป็นบริษัททวงหนี้ ที่เกิดมาจาก กลุ่ม เจ มาร์ท (JMART)
เจ้าของร้านขายมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรารู้จักกัน
1
แล้วธุรกิจรับซื้อหนี้เสียและติดตามทวงหนี้
ของ JMT เติบโตดีแค่ไหน ในช่วงที่ผ่านมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่บอกไปแล้วว่า JMT เกิดขึ้นโดยกลุ่ม JMART
ที่แต่เดิมนั้นเริ่มต้นทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ต่าง ๆ
ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
Cr. MobileOcta
ต่อมาทางกลุ่ม JMART ก็เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่
การให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ ฟ้องสืบทรัพย์ และบังคับคดี
จนในปี 2549 ทางกลุ่มจึงได้ก่อตั้ง บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ขึ้นมาเพื่อดูแลธุรกิจในด้านนี้โดยเฉพาะ และได้จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทย ในปี 2555
1
โดยธุรกิจของ JMT แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ ในส่วนที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ โดย JMT จะได้รับค่าบริการติดตามหนี้เป็นร้อยละของมูลค่าหนี้ ที่บริษัทสามารถติดตามให้ลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้
2. ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ เป็นการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในราคาลด แล้วมาบริหาร และติดตามเรียกเก็บหนี้
3. ธุรกิจนายหน้าประกันภัย เป็นนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ โดยรับค่าตอบแทนในรูปของคอมมิชชันจากค่าเบี้ยประกันภัย
4. ธุรกิจประกันภัย ทั้งประกันรถยนต์และประกันอื่น ๆ
โดยจากรายงานประจำปี 2562 ของบริษัท
กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด 2 อันดับแรกก็คือ
1
- ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ สัดส่วนรายได้ 76.5%
- ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ สัดส่วนรายได้ 14.3%
จะเห็นว่าธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ
และธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้
มีรายได้รวมกัน เป็นสัดส่วนที่มากกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมดของ JMT
หมายความว่า หากปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น
ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ JMT
มีโอกาสเข้าไปรับซื้อหนี้ แล้วมาบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น
ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมานั้น
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า
ปริมาณสินเชื่อ ที่กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ประมาณ 513,865 ล้านบาท
โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากประมาณ 469,526 ล้านบาท ในช่วงสิ้นไตรมาส 4 ของปี 2562
1
Cr. Prachachat
ซึ่งปริมาณนี้ ทำให้ NPLs ต่อ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบนั้นอยู่ที่ประมาณ 3%
โดยสาเหตุสำคัญมาจาก การแพร่ระบาดของโควิด 19
และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา
1
แม้การเพิ่มขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
แต่นี่กลับเป็นโอกาสให้บริษัททวงถามและบริหารหนี้อย่าง JMT สามารถทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา JMT ก็ได้เข้าไปซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเป็นมูลค่ารวม 32,561 ล้านบาท มาบริหาร
ทีนี้ลองมาดู ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา
ของ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT
ปี 2561 รายได้ 1,886 ล้านบาท กำไร 506 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,551 ล้านบาท กำไร 681 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,207 ล้านบาท กำไร 1,047 ล้านบาท
1
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้เติบโต 70% ขณะที่กำไรเติบโต 107% โดยกำไรปีล่าสุดเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา
และปัจจุบัน JMT มีมูลค่าบริษัทประมาณ 45,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปสำหรับธุรกิจนี้คือ
บริษัทจะสามารถบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไปซื้อมา ได้ดีแค่ไหน
1
เพราะจริงอยู่ที่ว่า การตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้เสียเพิ่มมากขึ้น และถูกมองว่าเป็นโอกาสให้แก่บริษัทที่รับซื้อหนี้มาบริหารต่อ
แต่เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ก็จะตามมาด้วย ความเสี่ยงที่ลูกหนี้บางรายอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เหมือนเดิม และนำไปสู่การที่บริษัทต้องตั้งสำรองหนี้สูญสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัทให้ต่ำลงได้
1
Cr. Khaosod
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า JMT จะทำได้ดีแค่ไหน ในอนาคต..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JMT คือ JMART ซึ่งก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น
และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 31,400 ล้านบาท
โดย JMART ถือหุ้น JMT อยู่ 512.6 ล้านหุ้น
หรือ 52.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ JMT ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,800 ล้านบาท
หมายความว่ามูลค่าหุ้น JMT ที่ JMART ถืออยู่ในตอนนี้
คิดเป็น 76% ของมูลค่าบริษัทตัวเอง เลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)
-แบบ 56-1 ปี 2562, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) https://www.set.or.th/dat/news/202102/21022965.pdf
โฆษณา