16 มี.ค. 2021 เวลา 12:30 • สิ่งแวดล้อม
นักวิทยาศาสตร์สำรวจพบสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งสามารถเรืองแสงได้
นั่นก็คือ ปลาฉลาม
ปลาฉลามเรืองแสง (ภาพ : Jérôme Mallefet)
ถ้า "หิ่งห้อย" เป็นสัตว์เรืองแสงได้ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด
"ปลาฉลาม" ก็น่าจะเป็นสัตว์ที่คงไม่มีใครคิดว่ามันจะเรืองแสงได้มากที่สุดเช่นกัน
1
แต่ธรรมชาติมักจะมีอะไรให้เราประหลาดใจได้อยู่เสมอ ดังเช่นปลาฉลามน้ำลึก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลาฉลามไคต์ฟิน (kitefin shark), ปลาฉลามโคมไฟท้องดำ (blackbelly lanternshark) และปลาฉลามโคมไฟถิ่นใต้ (southern lanternshark) ซึ่งสามารถเรืองแสงออกมาได้แม้ว่ามันจะอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้มหาสมุทร
1
นักวิทยาศาสตร์พบปลาฉลามเรืองแสง 3 สายพันธุ์นี้ขณะทำการสำรวจปลาที่บริเวณนอกชายฝั่งของเกาะใต้ (South Island) ของประเทศนิวซีแลนด์เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดยพวกมันเป็นปลาฉลามน้ำลึกที่อาศัยอยู่ลึกลงไปจากผิวน้ำประมาณ 200-1,000 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่แสงแดดแทบจะส่องผ่านลงไปไม่ถึง
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเรืองแสงนี้น่าจะช่วยให้ปลาฉลามน้ำลึกเหล่านี้หลบซ่อนตัวจากศัตรูผู้ล่าที่จะเข้ามาทำร้ายมันได้
นอกจากนี้ ปลาฉลามไคต์ฟินที่มีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 1.8 เมตร ซึ่งถือเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเรืองแสงได้ ยังน่าจะใช้การเรืองแสงแบบนี้เพื่อช่วยค้นหาและล่าเหยื่อในความมืดด้วย
แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยกันอย่างละเอียดต่อไป
การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต (Bioluminescence) เป็นกลไกตามธรรมชาติที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะใช้ประโยชน์จากการเรืองแสงนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นใช้เพื่อข่มขู่ศัตรู ล่าเหยื่อ หรือแม้แต่ดึงดูดคู่ผสมพันธุ์ของมัน
นอกจากปลาฉลามแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดที่สามารถเรืองแสงได้ เช่น ดอกไม้ทะเล และก็ยังมีสัตว์บก รวมทั้งสิ่งมีชีวิตพวกเชื้อราบางชนิดที่ใช้การเรืองแสงเพื่อช่วยในการดำรงชีวิต
การเรืองแสงเป็นกลไกที่ธรรมชาติมอบให้กับสิ่งมีชีวิตบางชนิด เพื่อให้พวกมันใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติรอบตัวเรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา