12 มี.ค. 2021 เวลา 04:52 • การศึกษา
ชาวเน็ตซาบซึ้งใจ คุณตาวัย 80 ปี หอบเงินเหรียญใส่ตู้บริจาคเงินสมทบช่วยซื้อเตียงให้คนไข้ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร
1
คุณตาบุญลาภ ให้เหตุผลว่าตนตั้งใจจะทำความดีไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ เพราะการทำบุญนั้นเป็นการเสริมบารมี เพิ่มความสุขให้ตัวเอง
1
ภาพการทำความดีของคุณตาบุญลาภชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดาๆ ก็เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ได้ คนที่มีความสุข พร้อมจะเป็นผู้ให้ หรือแบ่งปันนั้นยังคงมีให้เห็นในสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตาม ความสุขจากการเป็นผู้ให้ ผู้ให้เท่านั้นที่รับรู้ได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ให้ ย่อมไม่สามารถสัมผัสความสุข ความปลื้มใจนั้นได้อย่างแท้จริง จนกว่าจะได้เป็นผู้ให้เอง
ครั้งก่อน เอื้อยทินได้แบ่งปันธรรมทานเกี่ยวกับการสร้างทานบารมีที่เป็นอุปบารมี เรื่องคนใจเด็ด ควักดวงตาเป็นทาน มีบางท่านได้อ่านแล้วก็บอกว่า ดูโหดจัง เป็นการให้ทานที่น่าหวาดเสียวเหลือเกิน แต่ก็สนุกดี อยากให้นำเรื่องอื่นมาเล่าให้ฟังอีก
ครั้งนี้ เอื้อยทินจึงนำชาดกมาเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคย แต่ยังคงเป็นเรื่องราวการสร้างบารมีในหมวดทานบารมี ต้องบอกเลยว่าในเส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ทุกชาติล้วนเอาชีวิตเป็นเดิมพันทั้งสิ้น ไม่ว่าพระโพธิสัตว์จะเกิดมาเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ท่านไม่เคยเบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือหยุดยั้งการให้ทานเลย แม้จะต้องสละอวัยวะ เลือดเนื้อ หรือชีวิตท่านก็ให้ได้
การศึกษาชาดก วิถีนักสร้างบารมี หรือพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อให้เราได้เห็นต้นแบบการทำความดี และจะได้เข้าใจเป้าหมายของการเกิดมาสร้างบารมีบนโลกใบนี้ ให้วันเวลาที่ผ่านไปไม่สูญเปล่า หากแต่เพิ่มพูนกำลังใจในการประกอบบุญกุศล หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้เต็มที่ เพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต คือ พระนิพพานของตัวเราเอง
เอื้อยทินชอบฟังเรื่องเล่า หรือนิทานมากๆ ปัจจุบันก็เป็นแฟนรายการเรื่องเล่าชาวบ้านของ "อาจารย์ยอด" ชอบการเล่าเรื่อง ดำเนินเรื่องดี เป็นการเล่าเรื่องด้วยคนคนเดียวแต่ได้อรรถรส นึกภาพตามได้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
สมัยก่อนตอนเป็นเด็กคุณแม่จะมีเรื่องเล่าให้ฟังก่อนนอน กระต่ายบนดวงจันทร์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบฟัง เวลาเดินทางตอนกลางคืน หรือพักค้างที่ท้องนาก็จะชอบนอนมองท้องฟ้า พอถึงวันพระทีไร อดไม่ได้ที่จะแหงนมองพระจันทร์บนท้องฟ้า มองดูกระต่ายว่ายังอยู่ไหม? วันนี้ก็เลยจะมาแบ่งปันธรรมทานตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กำเนิดเป็นกระต่ายได้สละชีวิตให้เป็นทาน เรื่องมีอยู่ว่า
ในพระชาติที่ถือกำเนิดเป็นกระต่าย ครั้งนั้น กระต่ายโพธิสัตว์เป็นเพื่อนกับนาก สุนัขจิ้งจอก และลิง กระต่ายโพธิสัตว์จะคอยตักเตือนพร่ำสอนเพื่อนทั้งสามให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมความดี วันหนึ่ง เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ จึงชวนเพื่อนๆ ให้รักษาอุโบสถศีล และตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคล สัตว์ทั้ง 3 ก็เชื่อฟังกระต่ายโพธิสัตว์
ตอนเช้าตรู่
นากก็ไปยังฝั่งแม่น้ำเพื่อหาอาหาร ได้ปลาตะเพียนแดง 7 ตัว ที่คนนำมาฝังหมกทรายไว้
ส่วนสุนัขจิ้งจอกก็ออกหาอาหาร ได้เนื้อมา 2 ไม้ เหี้ย 2 ตัว นมส้ม 1 หม้อ
ลิงก็ออกไปหาผลไม้ได้มะม่วงสุก น้ำเย็น เตรียมไว้ทำทาน
แต่กระต่ายโพธิสัตว์คิดว่า งา ถั่ว และข้าวสารเราก็ไม่มี เราเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยหญ้า เราไม่อาจให้หญ้าเป็นทานแก่ทักขิไณยบุคคลได้
หากวันนี้มีเนื้อนาบุญมายังที่อยู่ของเรา เราจะยอมสละชีวิต โดยให้เนื้อของเราเป็นทาน
เมื่อกระต่ายโพธิสัตว์คิด ดังนั้น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ (ที่นั่งของท้าวสักกะ) ก็ร้อนขึ้นมา พระอินทร์ทรงตรวจดู รู้ถึงความคิดของกระต่าย จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ จะมาทดสอบดูว่า สัตว์ทั้ง 4 นี้จะทำได้อย่างที่คิดไว้หรือไม่
ลำดับแรก พระอินทร์ได้ไปยังที่อยู่ของนาก ยืนสงบนิ่งอยู่ เมื่อนากถามความประสงค์ว่าต้องการอะไร พราหมณ์ตอบว่า อยากจะได้อาหารสักมื้อหนึ่ง แล้วจะรักษาอุโบสถศีล และบำเพ็ญภาวนา นากมีใจเลื่อมใสจึงให้ปลาตะเพียนแก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์ขอบใจ และบอกว่าจะมารับในภายหลัง
จากนั้นได้เดินทางไปหาสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกเห็นก็ดีใจ และได้ให้เนื้อ 2 ไม้เป็นทาน พราหมณ์บอกว่าจะมารับในภายหลัง
จากนั้นเดินทางไปหาลิง ลิงได้ให้ผลไม้ และน้ำดื่มแก่พราหมณ์ พราหมณ์บอกจะมารับในภายหลัง
สุดท้ายเดินทางไปหากระต่ายพระโพธิสัตว์ เมื่อกระต่ายเห็นพราหมณ์ก็มีความยินดีปรีดาว่า “ความคิดของเราจะสมหวังก็วันนี้ เราจะให้ทานอันประเสริฐที่ใครก็ยากจะให้ได้” จึงบอกให้พราหมณ์ไปหาไม้มาก่อไฟ ตนจะสละชีวิตให้เป็นทาน พราหมณ์เห็นความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของกระต่ายพระโพธิสัตว์ เกิดจิตเลื่อมใส พลางนำไม้มากองทำเป็นฟืน และก่อไฟขึ้น
กระต่ายพระโพธิสัตว์สลัดตัว เพื่อให้สัตว์ที่ติดอยู่ตามขนหลุดออกไป แล้วกระโดดลงไปในกองไฟทันที โดยไม่กลัวความตาย แต่ไฟนั้นไม่ได้ทำอันตรายกระต่ายพระโพธิสัตว์ แม้เพียงปลายเส้นขนก็ไม่ไหม้ไฟแต่อย่างใด กลับมีความฉ่ำเย็นเหมือนกระโดดลงไปในสระน้ำ
แต่ก็ต้องประหลาดใจ เมื่อไฟไม่ไหม้ จึงถามพราหมณ์ว่า “ทำไมไฟนี้จึงไม่ร้อน” พราหมณ์บอกว่า “ท่านพญากระต่าย เราไม่ใช่พราหมณ์ เราคือ ท้าวสักกะ มาที่นี่เพื่อจะทดลองใจท่าน”
กระต่ายจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ถึงแม้ชาวสวรรค์หรือชาวโลกทั้งหมด จะมาทดลองข้าพเจ้าด้วยการห้ามให้ทาน ข้าพเจ้าก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความตั้งใจในการให้ทาน จะยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้ใจที่พร่องเต็มเปี่ยมบริบูรณ์”
ท้าวสักกะเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง จึงตรัสว่า “ท่านบัณฑิต ท่านเป็นผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม ขอให้คุณธรรมของท่าน จงปรากฏอยู่ตลอดกาลนานเถิด” จึงนำภูเขามาจารึกรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการสร้างปรมัตถบารมีของกระต่ายโพธิสัตว์ และเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนใจให้ชาวโลกอย่าได้ละเลยการให้ทาน เป็นภาพจำให้เราได้เร่งสร้างมหาทานบารมี ดุจเดียวกับพระโพธิสัตว์ในกาลก่อน
ประชุมชาดก
นากในกาลนั้น คือ พระอานนท์
สุนัขจิ้งจอก คือ พระโมคคัลลานะ
ลิง คือ พระสารีบุตร
ท้าวสักกะ คือ พระอนุรุทธะ
พญากระต่าย คือ พระพุทธเจ้า
อ้างอิง สสปัณฑิตชาดก ขุ.ชา (ไทย) 27/ 316/ 169 มจร.)
สสปัณฑิตชาดก (ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์)
การจะไปพระนิพพานได้นั้น เราจะต้องมีบุญบารมีมากพอ ทานกุศลที่เราได้ทำไว้ดีแล้วนั้น จะเป็นเสบียงในการเดินทางไปสู่พระนิพพาน ทำให้เราได้รับความสะดวกสบาย ตลอดเส้นทางการสร้างบารมี เพราะทานกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลนั้นเป็นไม่มี
ทานที่เราได้ให้แก่สัตว์เดรัจฉานมื้อหนึ่งยังมีอานิสงส์ไปถึง 100 ชาติ คือ เมื่อเราเวียนว่ายตายเกิดตลอด 100 ชาติ เราจะไม่รู้จักคำว่าอดอยากยากจน จะมีแต่ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ
แม้เราทำบุญกับคนที่ทุศีล (คนไม่มีศีล) ให้ข้าวกินอิ่มมื้อหนึ่ง ยังส่งผลดีไปถึง 1,000 ชาติ และถ้ายิ่งทำบุญกับผู้มีศีล คือ ตั้งแต่ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 บุญก็มากขึ้นไปตามลำดับ
เราโชคดีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ทำให้ได้มีโอกาสสั่งสมบุญกับเนื้อนาบุญ แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตโควิดก็ตาม หากคิดจะให้ทานครั้งใด พึงระลึกว่าวัตถุที่ควรให้มี 10 อย่าง
ได้แก่ อาหาร, น้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ, มาลัยและดอกไม้, ของหอม (ธูปเทียน), เครื่องลูบไล้ (สบู่), ที่นอน, ที่อยู่อาศัย, และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ 10 อย่างนี้มีผลอานิสงส์มาก เพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ ด้วยจิตใจที่ดีงาม
สรุปได้ว่า "ทานมัย" คือ บุญที่เกิดจากการให้ เป็นสังคหวัตถุ นับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกัน และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ให้เพื่อสละออกโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ส่งผลให้เกิดความใส สว่าง สะอาดของจิตใจตามมานั่นเอง
เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
โฆษณา